คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 492/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตอนแรกจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่า จำเลยทั้งสองตกลงว่าจะชำระเงินให้โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันวางบิล แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 ขอผ่อนผันเป็นชำระเงินภายใน 90 วัน โดยจำเลยทั้งสองยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ซึ่งโจทก์ก็ตกลงด้วย แต่ปรากฏว่าเมื่อโจทก์วางบิลเรียกเก็บเงิน จำเลยทั้งสองไม่ชำระโดยมียอดหนี้ค่าขนส่งสินค้ารวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าเสียหายตามที่ตกลงกันไว้เดือนละ 20,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,402,302.29 บาท และจำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาท 4 ฉบับ ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน แล้วโจทก์ขอเลื่อนไปสืบพยานต่อในนัดหน้า แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันนัดจำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมแล้วให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดจริงตามฟ้องโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า ค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท เป็นเบี้ยปรับก็ดี เป็นเรื่องที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะสูงเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หรือ 15 ต่อปี หนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับ จึงรวมเอาหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายไว้ด้วยก็ดี ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนและขัดกับข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ในระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (ที่ถูก มาตรา 4 (1) (2) (3) (4)) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 20,000 บาท รวม 4 กระทง เป็นเงิน 80,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 4 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 16 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 40,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาเมืองพัทยา จำนวน 4 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 22 ตุลาคม 2542 สั่งจ่ายเงินจำนวน 300,000 บาท ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2542 สั่งจ่ายเงินจำนวน 500,000 บาท ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2542 สั่งจ่ายเงินจำนวน 400,000 บาท และ ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 7 มกราคม 2543 สั่งจ่ายเงินจำนวน 202,302.29 บาท มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าระวางขนส่งและค่าธรรมเนียมศุลกากร ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินการขนส่งสินค้าและส่งของไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายต่อมาเมื่อเช็คทั้ง 4 ฉบับ ถึงกำหนด โจกท์นำเช็คทั้ง 4 ฉบับ ไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้ง 4 ฉบับ โดยให้เหตุผลอย่างเดียวกันว่า “เงินในบัญชีไม่พอจ่าย” ตอนแรกจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โจทก์นำนางสาวสุนีผู้รับมอบอำนาจโจทก์เข้าเบิกความเป็นพยานตอบคำซักถามของทนายโจทก์เพียงบางส่วนได้ความว่า เมื่อระหว่างเดือนกันยายน 2541 ถึงเดือนพฤษภาคม 2542 จำเลยทั้งสองตกลงให้โจทก์ขนส่งสินค้าของจำเลยทั้งสองไปต่างประเทศทั้งทางอากาศและทางเรือจำนวน 120 เที่ยว โจทก์มีหน้าที่จองระวางเรือและระวางทางอากาศโดยทดรองจ่ายไปก่อนรวมทั้งดำเนินการทางศุลกากรแล้วจึงวางบิลเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองตกลงว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่วางบิล แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 ขอผ่อนผันเป็นชำระเงินภายใน 90 วัน โดยจำเลยทั้งสองยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ซึ่งโจทก์ก็ตกลงด้วย แต่ปรากฏว่าเมื่อโจทก์วางบิลเรียกเก็บเงิน จำเลยทั้งสองไม่ชำระจนกระทั่งปลายเดือนสิงหาคม 2542 มีการตกลงสรุปยอดหนี้กันโดยมียอดหนี้ค่าขนส่งสินค้ารวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าเสียหายตามที่ตกลงกันไว้เดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันวางบิลถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2542 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,402,302.29 บาท และจำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาท 4 ฉบับ ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์แต่ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน แล้วโจทก์ขอเลื่อนไปสืบพยานต่อในนัดหน้า แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันนัดจำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมแล้วให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดจริงตามฟ้องโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท เป็นเบี้ยปรับก็ดี เป็นเรื่องที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะสูงเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หรือ 15 ต่อปี หนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับ จึงรวมเอาหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายไว้ด้วยก็ดี ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนและขัดกับข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพจึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share