คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6054/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ธนาคาร น. เป็นผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงิน การที่ ธนาคาร น. ลงลายมือชื่อรับรองในตั๋วแลกเงินจึงเป็นผู้รับรองตาม ป.พ.พ. มาตรา 927 ต้องผูกพันในอันจะจ่ายเงินจำนวนที่รับรองตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตนตามมาตรา 937 ธนาคาร น. ย่อมอยู่ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน จำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่ในฐานะที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนธนาคาร น. ตามมาตรา 967 วรรคสาม ดังนั้น เมื่อธนาคาร น. ได้จ่ายเงินให้บริษัท ต. ซึ่งเป็นผู้รับเงินไปแล้ว ธนาคาร น. จึงหามีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายได้ไม่ เมื่อไม่มีสิทธิไล่เบี้ยแล้วก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องที่จะโอนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองจะสละประเด็นพิพาทข้อนี้ไปแล้ว แต่จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2538 ถึงเดือนมิถุนายน 2540 จำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินจำนวน 92 ฉบับ โดยสั่งให้จ่ายเงินแก่บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และจำเลยที่ 1 ได้นำไปให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาอุบลราชธานี รับรองธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาอุบลราชธานี ได้ลงลายมือชื่อรับรองตั๋วแลกเงินทั้ง 92 ฉบับ เมื่อตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับถึงกำหนด ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ชำระเงินให้แก่ผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินไป ต่อมาธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามตั๋วแลกเงินทั้ง 92 ฉบับ ให้แก่โจทก์ โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ชำระเงินแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 15,277,603.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีของต้นเงิน 8,882,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการขอให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) รับรองตั๋วแลกเงินทั้ง 92 ฉบับ เมื่อธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้จ่ายเงินตามคำรับรองไปแล้วก็ต้องไปใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต จำกัด (มหาชน) หาอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง คำฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายเรื่องดอกเบี้ยที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสองให้ชัดเจน จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ตั๋วแลกเงินถึงกำหนดใช้เงิน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 15,277,603.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 8,882,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเพียงประการเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ ข้อเท็จจริงจากสำนวนได้ความว่า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2538 ถึงเดือนมิถุนายน 2540 จำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินจำนวน 92 ฉบับ โดยตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้สั่งให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินให้แก่บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้ที่ด้านหน้าของตั๋วแลกเงินดังกล่าว เมื่อตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับถึงกำหนด บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำตั๋วแลกเงินไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินทั้ง 92 ฉบับแล้ว เห็นว่า ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงิน การที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ลงลายมือชื่อรับรองในตั๋วแลกเงินจึงเป็นผู้รับรองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 927 ต้องผูกพันในอันจะจ่ายเงินจำนวนที่รับรองตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตนตามมาตรา 937 ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ย่อมอยู่ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน จำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่ในฐานะที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 967 วรรคสาม ดังนั้น เมื่อธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้จ่ายเงินให้บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเงินไปแล้ว ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) จึงหามีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายได้ไม่ เมื่อไม่มีสิทธิไล่เบี้ยแล้วก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องที่จะโอนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองจะสละประเด็นพิพาทข้อนี้ไปแล้ว แต่จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share