คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 874/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ย่อมต้องแสดงออกโดยผู้แทนของโจทก์คือกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง ส่วน ส. ตำแหน่งพนักงานซ่อมบำรุงเครือข่ายและ พ. ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายซ่อมข่ายสายฉุกเฉินนั้นเป็นเพียงพนักงานของโจทก์ แม้จะฟังว่าบุคคลทั้งสองได้รับทราบเหตุละเมิดและ พ. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งซ่อมได้ดำเนินการจ้างบริษัท บ. เข้าซ่อมแซมจนแล้วเสร็จ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำในฐานะที่เป็นตัวแทนของบริษัทโจทก์และรับรู้ว่าบริษัทโจทก์ถูกบริษัทจำเลยกระทำละเมิดตั้งแต่วันเกิดเหตุ คือวันที่ 15 มิถุนายน 2540 แต่ ส. และ พ. ก็มีอำนาจเฉพาะในกรอบอำนาจหน้าที่ของตนเท่านั้นและไม่มีอำนาจที่จะฟ้องคดีแก่จำเลยในกรณีที่จำเลยไม่ชำระค่าซ่อมแซมให้แก่โจทก์จึงไม่อาจถือได้ว่า ส. และ พ. เป็นผู้แทนของบริษัทโจทก์ในการรับรู้เรื่องอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง ด้วย ดังนั้น อายุความ 1 ปี จึงเริ่มนับแต่กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน มิใช่นับแต่ ส. หรือ พ. รู้ เมื่อกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ผู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 10 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด โจทก์มอบอำนาจให้นายศรีศักดิ์เป็นผู้ดำเนินคดีแทน จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยรับเหมาจากกรุงเทพมหานคร ในการดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงขยายถนนอักษะ จากถนนพุทธมณฑลสาย 3 ถึงถนนพุทธมณฑลสาย 4 ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2539 ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2541 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2540 พนักงานของโจทก์ตรวจสอบพบว่าพนักงานของจำเลยใช้รถขุดดินและเจาะถนนโดยประมาทเลินเล่อถูกสายโทรศัพท์ของโจทก์เสียหาย 2 จุด จุดที่ 1 ที่แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ทำให้ท่อร้อยสายโทรศัพท์และสายเคเบิลโทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์ขาดได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 40,617.35 บาท จุดที่ 2 ที่บริเวณหน้าหมู่บ้านกฤษดานคร 18 ทำให้สายเคเบิลโทรศัพท์จำนวน 300 คู่สาย ตู้คอดิน จุดพักสายโทรศัพท์เลขที่ 6 หัวต่อฉีกขาด ทำให้น้ำเข้าหัวต่อได้รับความเสียหาย เป็นเงินจำนวน 336,820.83 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 377,438.18 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 28,307.86 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 405,476 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 377,438.18 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโดยบรรยายฟ้องว่าเหตุจุดที่ 1 ที่แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ไม่บรรยายว่าอยู่ที่จุดใดของถนน เพราะถนนพุทธมณฑลสาย 3 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตตลิ่งชันมีความยาวหลายกิโลเมตร ทำให้จำเลยไม่เข้าใจข้อกล่าวหาและไม่เข้าใจข้อกล่าวหาและไม่สามารถสู้คดีได้ถูกต้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ไม่มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโทรคมนาคม ขณะฟ้องโจทก์เปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการไปแล้ว ผู้มอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่กรรมการที่มีอำนาจ ตราประทับในหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่ตราประทับของโจทก์ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่ได้มอบอำนาจให้ฟ้องจำเลย และปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง 20 คู่สาย ส่วนตู้คอดิน จุดพักสายโทรศัพท์เลขที่ 6 และหัวต่อไม่ได้รับความเสียหาย น้ำไม่ได้ไหลเข้าหัวต่อ นอกจากนี้ในการวางท่อร้อยสายโทรศัพท์และสายเคเบิลในจุดที่ 2 โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรฐานในการวางท่อร้อยสายขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้วางต่ำกว่าพื้นดินไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร อันเป็นความประมาทและผิดพลาดของโจทก์เอง โจทก์เรียกค่าเสียหายเกินความจริง โจทก์เสียหายไม่เกิน 10,000 บาท เหตุละเมิดจุดที่ 1 เกิดวันที่ 9 พฤษภาคม 2540 จุดที่ 2 เกิดวันที่ 15 มิถุนายน 2540 โจทก์ทราบเหตุละเมิดตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ ไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 10,384 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 336,820.83 บาท ให้โจทก์อีกจำนวนหนึ่งพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดมีกรรมการซึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์คือ นายอาชว์หรือนายวัลลภหรือนายสุภกิจคนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อร่วมกับนายมินหรือนายวีรวัฒน์หรือนายชัชวาลหรือนายศุภชัยอีกคนหนึ่ง และประทับตราสำคัญของบริษัทให้มีผลผูกพันโจทก์ เหตุละเมิดคดีนี้เกิดจากการกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ใช้รถขุดพื้นผิวถนนถูกสายโทรศัพท์สายเคเบิลโทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์ของโจทก์ขาดและเสียหายจำนวน 2 จุด จุดที่ 1 ที่บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 3 ท่อร้อยสายโทรศัพท์และสายเคเบิลขาดได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 40,617.35 บาท ตามใบแจ้งหนี้ จุดที่ 2 ที่บริเวณหน้าหมู่บ้านกฤษดานคร 18 สายเคเบิลโทรศัพท์ จำนวน 300 คู่สายขาด ตู้คอดิน ตู้สื่อสัญญาณและหัวต่อแตกหักน้ำเข้าได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 336,820.83 บาท ตามใบแจ้งหนี้ บริษัทประยูรวิทย์ จำกัด ตามที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจเป็นบริษัทเดียวกับบริษัทประยูร์วิศว์การช่าง จำกัด ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับความเสียหายตามใบแจ้งหนี้ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า “ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล” และมาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันละเมิด” โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ย่อมต้องแสดงออกโดยผู้แทนของโจทก์คือ กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์ตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองดังกล่าว ส่วนนายสิทธิโชคตำแหน่งพนักงานซ่อมบำรุงเครือข่ายและนายพงษ์สิทธิ์ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายซ่อมข่ายสายฉุกเฉินนั้นเป็นเพียงพนักงานของโจทก์ แม้จะฟังว่าบุคคลทั้งสองได้รับทราบเหตุละเมิดและนายพงษ์สิทธิ์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งซ่อมได้ดำเนินการจ้างบริษัทล๊อกซเล่ย์ ฮิตาชิ เคเบิ้ล เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด เข้าซ่อมแซมจนแล้วเสร็จ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำในฐานะที่เป็นตัวแทนของบริษัทโจทก์และรับรู้ว่าบริษัทโจทก์ถูกบริษัทจำเลยกระทำละเมิดตั้งแต่วันเกิดเหตุคือวันที่ 15 มิถุนายน 2540 ตามที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่นายสิทธิโชคและนายพงษ์สิทธิ์ก็มีอำนาจเฉพาะในกรอบอำนาจหน้าที่ของตนเท่านั้นและไม่มีอำนาจที่จะฟ้องคดีแก่จำเลยในกรณีที่จำเลยไม่ชำระค่าซ่อมแซมให้แก่โจทก์ได้ จึงไม่อาจถือได้ว่านายสิทธิโชคและนายพงษ์สิทธิ์เป็นผู้แทนของบริษัทโจทก์ในการรับรู้เรื่องอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 448 วรรคหนึ่งด้วย ดังนั้นอายุความ 1 ปี จึงเริ่มนับแต่กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ดังกล่าวรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน มิใช่นับแต่นายสิทธิโชคหรือนายพงษ์สิทธิ์รู้ และจากการนำสืบของโจทก์ได้ความว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2541 โจทก์โดยนายอาชว์และนายวีรวัฒน์กรรมการผู้มีอำนาจของโจกท์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายศรีศักดิ์ฟ้องและดำเนินคดีนี้แก่จำเลยตามหนังสือมอบอำนาจ โดยจำเลยมิได้นำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างให้รับฟังได้ว่ากรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ได้รู้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ก่อนหน้านี้แต่อย่างใดจึงต้องฟังว่า กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 10 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ฟ้องโจทก์ในส่วนใบแจ้งหนี้จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share