คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้คดีจะเกิดขึ้นในเขตจังหวัดสตูลและผู้ร้องซึ่งเป็นอิสลามศาสนิกเริ่มต้นคดีอย่างไม่มีข้อพิพาท โดยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของ ท. ผู้ตายซึ่งเป็นอิสลามศาสนิกก็ตาม แต่เมื่อมีการคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ก็มีผลให้คดีกลายเป็นคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) โดยผู้ร้องและผู้คัดค้านมีฐานะเป็นคู่ความ เมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งมีฐานะเสมือนจำเลยมิใช่อิสลามศาสนิก จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 3 ของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลฯ ถือไม่ได้ว่าเป็นคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกของอิสลามศาสนิกในเขตจังหวัดสตูล ต้องใช้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 6 บังคับแก่คดี

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอว่า ผู้ร้องและนายทวีผู้ตายเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดสตูล จึงต้องใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายกับนางมาเนียะบิดาและมารดาของผู้ร้องได้ประกอบพิธีสมรส (นิกะห์) ถูกต้องตามหลักกฎหมายอิสลามเมื่อปี 2492 มีบุตรด้วยกันรวม 7 คน นอกจากนี้ผู้ตายได้ประกอบพิธีสมรส (นิกะห์) ตามหลักกฎหมายอิสลามกับนางสะเดียะซึ่งเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง มีบุตรด้วยกัน 5 คน รวมผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ด้วย ผู้ตายเป็นบุตรของนายหมาดเร๊ะกับนางฉาวซึ่งทั้งสองได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ส่วนนางมาเนียะมารดาของผู้ร้องก็ได้ถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตายเช่นกัน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2548 ผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยโรคเลือดออกในทางเดินอาหาร ก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ยกทรัพย์มรดกให้แก่นางสะเดียะ และนางมาเนียะซึ่งบุคคลทั้งสองเป็นภริยาของผู้ตาย จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิในมรดกภาคฟัรดู ไม่มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรม เป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมายอิสลามข้อกำหนดดังกล่าวจึงเป็นอันไร้ผล นอกจากนี้ในพินัยกรรมมีข้อกำหนดระบุให้ผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก แต่เนื่องจากก่อนวันทำพินัยกรรมฉบับดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 1 ได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธจนถึงปัจจุบัน จึงไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก และขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามหลักกฎหมายอิสลาม ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมแต่เพียงผู้เดียว ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือที่ดินตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมและทรัพย์สินอื่น ๆ เนื่องจากการจัดการทรัพย์มรดกมีเหตุขัดข้อง โดยต้องตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อนขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านทำนองเดียวกันว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายกับนายสะเดียะเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2422 ผู้คัดค้านที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับนายไมตรีซึ่งนับถือศาสนาพุทธ ผู้คัดค้านที่ 1 จึงได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธด้วย และได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุล ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ยกทรัพย์มรดกให้แก่นางสะเดียะและนางมาเนียะ แต่นางมาเนียะถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ทำให้ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของนางมาเนียะตามข้อกำหนดในพินัยกรรมย่อมตกไปเป็นของทายาทโดยธรรม และผู้ตายได้กำหนดให้ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิจัดการมรดกโดยพินัยกรรม คดีนี้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นคู่ความที่นับถือศาสนาพุทธ จึงต้องใช้บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 จะใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกมิได้ ขอให้ยกคำร้องและตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่เคยรับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 2 เป็นไม่รับคำร้องคัดค้าน เนื่องจากผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีส่วนได้เสียในประเด็นแห่งคดี และให้งดสืบพยานของผู้คัดค้านที่ 1 เนื่องจากคู่ความขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น โดยเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องและคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1
ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่านายทวีผู้ตายและผู้ร้องเป็นอิสลามศาสนิกและมีภูมิลำเนาในเขตจังหวัดสตูล ผู้คัดค้านที่ 1 เคยเป็นอิสลามศาสนิกและเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธก่อนที่นายทวีเจ้ามรดกทำพินัยกรรมแต่งตั้งให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของนายทวีผู้ตาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่า คดีนี้ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 หรือไม่ เห็นว่า แม้คดีจะเกิดขึ้นในเขตจังหวัดสตูลและผู้ร้องซึ่งเป็นอิสลามศาสนิกเริ่มต้นคดีอย่างไม่มีข้อพิพาท โดยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนายทวีผู้ตายซึ่งเป็นอิสลามศาสนิกก็ตาม แต่เมื่อมีการคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ก็มีผลให้คดีกลายเป็นคดีมีข้อพิพาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188 (4) โดยผู้ร้องและผู้คัดค้านมีฐานะเป็นคู่ความ เมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งมีฐานะเสมือนจำเลยมิใช่อิสลามศาสนิก จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 ถือไม่ได้ว่าเป็นคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกของอิสลามศาสนิกในเขตจังหวัดสตูล ต้องใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 บังคับแก่คดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share