คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 916/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งสี่คนละ 1 ส่วน คิดเป็นเงิน 240,000 บาท แม้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน ที่ดินที่โจทก์ทั้งสี่แต่ละคนฟ้องขอแบ่งจึงมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีการะหว่างจำเลยและโจทก์ทั้งสี่แต่ละคนไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามจำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเนื่องจากจำเลยร่วมกับ ห. เข้าครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทมาตั้งแต่แรกและต่อมา ห. ได้ยกที่ดินพิพาทในส่วนของ ห. ให้แก่จำเลยแล้วก็ดี จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนจนได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้วก็ดี และแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นก็ตามแต่จำเลยก็ได้แสดงเจตนาเปลี่ยนแปลงการยึดถือที่ดินพิพาทเป็นการยึดถือเพื่อตนแล้วก็ดี เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี นับแต่ ห. ถึงแก่ความตายเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่วินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่ ห. ถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และนางประยงค์มารดา โจทก์ที่ 4 เป็นบุตรนางแจ๋ว กับนายเหล็ง นายเหล็งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 7 หมู่ที่ 1 ตำบลโพธิ์เหนือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 2 งาน 50 ตารางวา นายเหล็งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2521 ที่ดินดังกล่าวตกเป็นมรดกแก่โจทก์ที่ 1 ถึง ที่ 3 นางประยงค์และจำเลยคนละหนึ่งส่วน โจทก์ที่ 1 ถึง ที่ 3 และนางประยงค์ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าว จำเลยไม่เคยยุ่งเกี่ยว จนกระทั่งประมาณ 8 ถึง 9 ปี ที่ผ่านไปจำเลยขอปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินรวมเนื้อที่ประมาณ 40 ถึง 50 ตารางวา ต่อมาโจทก์ที่ 1 ถึง ที่ 3 และนางประยงค์ขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว แต่จำเลยคัดค้านอ้างว่ามีส่วนในที่ดิน โจทก์ทั้งสี่จึงฟ้องขับไล่จำเลย ขณะนั้นนางประยงค์ถึงแก่ความตายแล้ว ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสี่ถอนฟ้องเนื่องจากเห็นว่าจำเลยเป็นทายาทคนหนึ่งด้วย และไปขอรังวัดใหม่เพื่อกันส่วนที่ดินที่จำเลยครอบครองให้แก่จำเลย แต่จำเลยคัดค้านการรังวัดและบุกรุกเข้าไปถางที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสี่ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2542 ขอให้ศาลพิพากษาห้ามจำเลยคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสี่เนื้อที่สี่ในห้าส่วน จำนวน 2 งาน และให้ความยินยอมในการรังวัดออกโฉนด หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา การแบ่งต้วทรัพย์ หากตกลงกันไม่ได้ให้ประมูลราคาระหว่างคู่ความหรือขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า เดิมนายเหล็งและจำเลยร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท หลังจากนายเหล็งตาย จำเลยรับมรดกและเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเองทั้งแปลงแต่เพียงผู้เดียวมาจนถึงปัจจุปันเป็นเวลากว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง โจทก์ที่ 1 ถึง ที่ 3 และนายประยงค์ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งสี่เคยฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนี้แล้วถอนฟ้อง แต่จำเลยคัดค้าน ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากโจทก์ไม่ชำระค่าขึ้นศาล ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1004/2541 ของศาลชั้นต้นคดีนี้จึงฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีเกินกว่าหนึ่งปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 7 หมู่ที่ 1 ตำบลบางโพธิ์เหนือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ร่วมกับจำเลย โดยมีสิทธิคนละ 1 ส่วน ห้ามจำเลยคัดค้านการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวของโจทก์ทั้งสี่ ให้จำเลยแบ่งที่ดินแก่โจทก์ทั้งสี่โดยให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับคนละหนึ่งส่วนในห้าส่วน วิธีการแบ่งแยกให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งสี่คนละ 1 ส่วน รวม 4 ส่วน ใน 5 ส่วน คิดเป็นเงิน 240,000 บาท แม้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน เมื่อที่ดินพิพาท 4 ส่วน ที่โจทก์ทั้งสี่ตีราคาเป็นทุนทรัพย์รวมกันมานั้นมีราคา 240,000 บาท ที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์ทั้งสี่แต่ละคนฟ้องขอแบ่งจึงมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีการะหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งสี่แต่ละคนก็ต้องแยกจากกันเช่นกัน เมื่อราคาทรัพย์หรือทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีการะหว่างจำเลยและโจทก์ทั้งสี่แต่ละคนไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามจำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเนื่องจากจำเลยร่วมกับนายเหล็งเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่แรกและต่อมานายเหล็งได้ยกที่ดินพิพาทในส่วนของนายเหล็งให้แก่จำเลยแล้วก็ดี จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนจนได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้วก็ดี และแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นก็ตาม แต่จำเลยก็ได้แสดงเจตนาเปลี่ยนแปลงการยึดถือที่ดินพิพาทเป็นการยึดถือเพื่อตนแล้วก็ดี เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่วินิจฉัยว่านายเหล็งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาททั้งแปลง โดยนายเหล็งไม่ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลใดก่อนที่จะถึงแก่ความตาย เมื่อนายเหล็งถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกแก่โจทก์ที่ 1 ถึง ที่ 3 นางประยงค์โดยมีโจทก์ที่ 4 เป็นทายาทรับมรดกแทนที่ และจำเลย ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี นับแต่นายเหล็งถึงแก่ความตายนั้น เห็นว่าฎีกาของจำเลยในประเด็นดังกล่าวเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่วินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่นายเหล็งถึงแก่ความตายฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน ฎีกาของจำเลยในประเด็นดังกล่าวจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลยง

Share