คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7995/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี อันเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดแต่อย่างใด แม้จำเลยจะนำสืบในชั้นพิจารณาทำนองเดียวกับที่จำเลยฎีกามา ต่อสู้ว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี อันเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด ก็เป็นข้อเท็จจริงนอกประเด็นคำให้การซึ่งจำเลยไม่มีสิทธินำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ แม้ปัญหานี้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลสามารถหยิบขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นข้อกฎหมายที่เกิดจากข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏไม่เกี่ยวกับที่คู่ความจะต้องนำสืบแล้วศาลจึงหยิบยกมาวินิจฉัยเป็นข้อกฎหมายไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1) และถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องจำนวน 153,452,054.79 บาท กับให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน จำนวน 150,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอบังคับให้โจทก์ต่อสัญญากู้ให้แก่จำเลยอีก 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2540 ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2541
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 127,500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระต้นเงินคืนโจทก์ 150,000,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามคำพิพากษาคืนโจทก์ให้ครบถ้วน ให้นำทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ หากได้เงินจากการขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ เฉพาะดอกเบี้ยนับถัดจากวันที่ 8 พฤษภาคม 2540 ถึงวันฟ้อง (2 กรกฎาคม 2540) ต้องไม่เกิน 3,452,054.79 บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์เป็นจำนวน 150,000,000 บาท ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี กำหนดชำระภายในวันที่ 8 พฤษภาคม 2540 หากผิดนัดให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาเงินกู้ และวันเดียวกันกับที่จำเลยทำสัญญากู้ จำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 668, 671, 1629 และ 1630 ตำบลคลองสิบสอง (คลองสิบสาม) พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวที่มีอยู่ในขณะนั้นหรือที่มีในอนาคตแก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า ถ้าบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่ขาดให้โจทก์จนครบตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้รับเงินในวันทำสัญญาเพียงจำนวน 127,500,000 บาท หรือไม่ โจทก์มีนายสายชน ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เบิกความยืนยันว่า จำเลยได้รับเงินจำนวน 150,000,000 บาท ครบถ้วนตามสัญญาแล้วตามใบรับเงินกู้ ส่วนจำเลยมีนายนิพนธ์ เบิกความว่า จำเลยกู้เงินโจทก์เป็นจำนวนเงิน 150,000,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี หักดอกเบี้ยล่วงหน้าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเวลา 12 เดือน คิดเป็นเงิน 22,500,000 บาท สำหรับดอกเบี้ยที่เหลืออีกอัตราร้อยละ 9 ต่อปีนั้น จำเลยจ่ายเป็นรายเดือนโดยออกเป็นเช็ค 12 ฉบับ ฉบับละ 1,125,000 บาท สำหรับเงินจำนวน 22,500,000 บาท ได้มีการทำเป็นหลักฐานว่าจำเลยได้ฝากเงินจำนวนดังกล่าวแก่นางเกศิณี เพื่อนำไปชำระดอกเบี้ยเงินกู้ให้โจทก์เป็นรายเดือนตามหนังสือสัญญารับฝากเงินเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้ และนางเกศิณีพยานจำเลยเบิกความสนับสนุนว่า พยานเป็นผู้พาจำเลยไปหาโจทก์ โจทก์เคยพูดว่าการกู้เงินจะต้องมีการหักดอกเบี้ยไว้ก่อน การที่พยานลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญารับฝากเงินเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้นั้น เป็นเพราะทนายจำเลยให้พยานลงชื่อในฐานะผู้รับฝากเงินจำนวน 22,500,000 บาท เพื่อทนายจำเลยจะแสดงต่อจำเลยว่าโจทก์ได้รับเงินค่าดอกเบี้ยไปแล้ว พยานไม่เคยได้รับเงินจำนวนนี้เลย เห็นว่า แม้หนังสือสัญญารับฝากเงินเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้จะเป็นการทำขึ้นระหว่างจำเลยกับนางเกศินี แต่หนังสือสัญญาฉบับดังกล่าวข้อ 2 ตอนท้ายระบุว่า อนึ่ง เงิน 22,500,000 บาท ดังกล่าวนี้ ผู้รับจำนองคุณหญิงชนัตถ์ ได้หักเก็บไว้เพื่อมอบให้ผู้รับฝากเรียบร้อยแล้วในวันจดทะเบียนจำนอง ซึ่งนายสายชนผู้รับมอบอำนาจโจทก์ก็เบิกความว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสายชนไปรับจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลย และได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือสัญญารับฝากเงินเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย แสดงว่าโจทก์หักดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวข้างต้นไว้ล่วงหน้าแล้ว ปัญหาว่าดอกเบี้ยที่หักล่วงหน้าเป็นการคิดจากอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ จำเลยฎีกาส่วนนี้ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี โดยคิดดอกเบี้ยเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเงิน 22,500,000 บาท ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 9 ต่อปี โจทก์ให้จำเลยจ่ายเป็นเช็คล่วงหน้าเป็นรายเดือน เดือนละ 1,125,000 บาท จำนวน 12 ฉบับ นั้น ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี อันเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดแต่อย่างใด แม้จำเลยจะนำสืบในชั้นพิจารณาทำนองเดียวกับที่จำเลยฎีกามา ก็เป็นข้อเท็จจริงนอกประเด็นคำให้การ ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธินำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ แม้ปัญหานี้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลสามารถหยิบขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นข้อกฎหมายที่เกิดจากข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏไม่เกี่ยวกับที่คู่ความจะต้องนำสืบแล้ว ศาลจึงหยิบยกมาวินิจฉัยเป็นข้อกฎหมายไม่ได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (1) และถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำฟ้องและคำให้การจำเลยว่า โจทก์ไม่ได้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด เมื่อจำเลยยอมให้โจทก์หักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าได้และดอกเบี้ยที่หักไว้ก็ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ข้อตกลงนี้จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงมีผลบังคับได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับเงินกู้จำนวน 150,000,000 บาท ครบถ้วนตามสัญญากู้แล้ว เพียงแต่มีการหักดอกเบี้ยล่วงหน้าไว้ 22,500,000 บาท ตามที่จำเลยตกลงให้โจทก์หักไว้ได้ ซึ่งมีผลบังคับได้ดังที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ทำให้เหลือเงินจำนวน 127,500,000 บาท เท่านั้น กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินกู้เพียง 127,500,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้ ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องแย้งในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ยังมิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องแย้งในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงสั่งให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161

Share