คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1723/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บ้านพิพาทอยู่ในที่ดินที่ ท. จดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ให้ ด. บุตรจำเลยโดยมิได้ระบุว่ายกให้แต่ที่ดินมิได้ยกบ้านพิพาทให้ด้วย ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงมีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 แม้จำเลยจะมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านพิพาทในฐานะเจ้าบ้านก็มิใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทตามกฎหมาย การที่โจทก์ให้จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทส่วนที่รุกล้ำออกไปแต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตาม โจทก์จึงฟ้องจำเลยไม่ได้ เนื่องจากจำเลยมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาท แม้จำเลยจะอยู่ในบ้านพิพาทด้วยก็ถือว่าอยู่ในฐานะบริวารของ ด. จำเลยไม่ได้เป็นผู้โต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และจำเลยก็ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 14178 เนื้อที่ประมาณ 2 งาน 89 ตารางวา จำเลยเป็นผู้ครอบครองบ้านเลขที่ 19 ซอยลาดพร้าว 22 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งปลูกในที่ดินของนางสาวดลชนก และมีบางส่วนของบ้านหลังดังกล่าวได้ปลูกรุกล้ำเข้ามาในที่ดินทางทิศตะวันออกของที่ดินโจทก์บางส่วน มีความกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร ยาวประมาณ 345 เซนติเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 1 ตารางวา เดิมบ้านหลังดังกล่าวได้ปลูกสร้างโดยได้รับความยินยอมจากเจ้าของเดิม ต่อมาเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาวดลชนกบุตรของจำเลย โจทก์ได้บอกให้จำเลยรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ จำเลยตกลงรื้อถอนแล้วแต่ไม่ยอมรื้อถอน โจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนและจำเลยได้รับแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 19 ซอยลาดพร้าว 22 แขวงลาดพร้าว เขตจุตจักร กรุงเทพมหานคร ส่วนที่รุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ 14178 ตำบลลาดยาว อำเภอจตุจักร กรุงเพทมหานคร ขอคิดค่าเสียหาย 100,000 บาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 14178 และโฉนดเลขที่ 1132 เป็นที่ดินโฉนดเดียวกัน มีการแบ่งโฉนดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 จำเลยได้ปลูกโรงเรือนมาก่อนเกินกว่า 10 ปี ก่อนมีการแบ่งโฉนด โจทก์ได้ที่ดินจากบิดาโจทก์โดยการยกให้ จึงมีสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของเดิมที่มีอยู่กับจำเลย จำเลยปลูกบ้านเลขที่ตามฟ้องรุกล้ำเข้าไปที่ดินของโจทก์โดยจำเลยใช้สิทธิก่อนที่จะมีการแบ่งแยกโฉนด จำเลยไม่เคยตกลงที่จะรื้อถอนส่วนของโรงเรือนในส่วนที่รุกล้ำ โจทก์และบิดาโจทก์ทราบดี โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเพราะการปลูกบ้านต้องมีช่องว่างตามกฎหมาย ไม่ทำให้สภาพบ้านโจทก์เปลี่ยนไป ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ไปจดทะเบียนภาระจำยอมในส่วนที่บ้านเลขที่ 19 ซอยลาดพร้าว 22 แขวงลาดยาว เขตจุตจักร กรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉลดเลขที่ 14178 ตำบลลาดยาว อำเภอจตุจักร กรุงเทพมหานคร หากโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนภาระจำยอม จำเลยขอถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนโจทก์ และให้โจทก์เป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า กรณีจำเลยมิใช่เป็นการปลูกบ้านในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริต จึงไม่อาจอ้างสิทธิตามกฎหมายได้ ขอในยกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ ให้โจทก์ไปจดทะเบียนภาระจำยอม ในส่วนที่บ้านเลขที่ 19 ซอยลาดพร้าว 22 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 14178 ตำบลลาดยาว อำเภอจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยให้จำเลยเป็นฝ่ายชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียน หากโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า นายเทวีบิดาโจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนางสมพรภริยาจำเลย นางสาวดลชนกเป็นบุตรจำเลยกับนางสมพร เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 14178 ตำบลลาดยาว (บางซื่อฝั่งเหนือ) อำเภอจตุจักร (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 2 งาน 89 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 เป็นของนายทวี บิดาโจทก์ ซึ่งซื้อมาจากบุคคลอื่นก่อนปี 2500 หลังจากนั้นนายทวีรื้อบ้านทรงไทยซึ่งเป็นของบิดามารดานายทวีมาปลูกในที่ดินแปลงนี้คือ บ้านพิพาทเลขที่ 18 ซอยลาดพร้าว 22 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยบิดามารดานายทวีและนางสมพรเข้าอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ ต่อมาเมื่อนางสมพรสมรสกับจำเลย จำเลยก็เข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้ด้วยและมีชื่อในทะเบียนในฐานะเจ้าบ้านตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.2 หลังจากนั้นในปี 2538 นายทวีได้แบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวออกเป็น 2 แปลง โดยแปลงซึ่งแยกออกไปคือที่ดินโฉนดเลขที่ 1132 ตำบลลาดยาว อำเภอจตุจักร กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 งาน 1 ตารางวา นายทวีจดทะเบียนยกให้นางสาวดลชนกบุตรจำเลยตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ส่วนที่ดินแปลงเดิมคือที่ดินโฉนดเลขที่ 141178 นายทวีจดทะเบียนยกให้โจทก์ในปี 2539 ปรากฏว่าบ้านพิพาทเลขที่ 19 ซึ่งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1132 ของนาวสาวดลชนกมีบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 14178 ของโจทก์ มีความกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร ยาวประมาณ 345 เซนติเมตรคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 1 ตารางวา ที่โจทก์ฎีกาของให้บังคับจำเลยรื้อบ้านพิพาทในส่วนที่รุกล้ำเข้าไปที่ดินโจทก์นั้น เห็นว่า เดิมนายทวีบิดาโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินทั้งตามที่ดินโฉนดเลขที่ 14178 ของโจทก์และที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1132 ของนางสาวดลชนก บุตรสาวจำเลยและบ้านพิพาทในที่ดินของนางสาวดลชนก นายทวีบิดาโจทก์ก็เป็นผู้ปลูกลงในที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างถาวร เป็นส่วนควบของที่ดินนายทวีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทด้วยเมื่อบ้านพิพาทอยู่ในที่ดินที่นายทวีจดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ให้นางสาวดลชนกบุตรจำเลยโดยมิได้ระบุว่ายกให้แต่ที่ดินมิได้ยกบ้านพิพาทให้ด้วย นางสาวดลชนกซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงมีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 แม้จำเลยจะมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านพิพาทในฐานะเจ้าบ้านก็มิใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทตามกฎหมายแต่อย่างใด การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทส่วนที่รุกล้ำออกไป แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามโจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้นั้นจึงไม่อาจกระทำได้เนื่องจากจำเลยมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาท แม้จำเลยจะอยู่ในบ้านพิพาทด้วยก็ถือว่าอยู่ในฐานะบริวารของนางสาวดลชนกซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาท โจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทซึ่งเป็นของผู้อื่นได้ จำเลยไม่ได้เป็นผู้โต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และจำเลยก็ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชนะคดีตามฟ้องแย้งมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์อีก”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งจำเลยเสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องและฟ้องแย้งชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share