คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้ที่ใช้สิทธิเลิกสัญญาได้นั้นจะต้องเป็นผู้มีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติของกฎหมาย มิใช่ว่าจะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ตามอำเภอใจ เมื่อพิจารณาสัญญาจะคืนที่ดินแล้ว ไม่มีข้อความตอนใดเลยที่ระบุข้อตกลงระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยว่าให้จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้หากธนาคารปฏิเสธไม่อนุมัติวงเงินให้จำเลยตามที่จำเลยอ้าง จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา
สัญญาจะคืนที่ดินระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ตกลงให้จำเลยจะต้องโอนคืนที่ดิน 5 ไร่ เข้าบริษัทที่จะทำการสร้างโรงเรียน ส. เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้คู่สัญญาต้องระบุกำหนดตัวบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ว่าเป็นตัวบุคคลหรือนิติบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจงในขณะทำสัญญา เพียงแต่ให้สิทธิบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์มีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้ ตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น การที่โจทก์ที่ 1 และจำเลยตกลงให้จำเลยจะต้องโอนคืนที่ดินเข้าบริษัทที่จะทำการสร้างโรงเรียน ส. มีผลบังคับได้ เมื่อต่อมาบริษัท ส. โจทก์ที่ 2 ได้ดำเนินการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด และได้ทำหนังสือแจ้งให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนที่ดินคืนให้โจทก์ที่ 2 ตามสัญญาเป็นการแสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินตามสัญญาจะคืนที่ดิน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยดำเนินการแบ่งแยกที่ดินและจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยได้ดำเนินการแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 11335 ตำบลปากแพรก อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ตามรูปแปลนในโฉนดสีแดง จำนวน 6 ไร่ ให้แก่โจทก์ที่ 1 และจำนวนที่ดิน 5 ไร่ ตามรูปแปลนโฉนดสีดำให้แก่โจทก์ที่ 2 ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า วันที่ 23 สิงหาคม 2532 โจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาจะคืนที่ดินกับจำเลย และในวันเดียวกันนั้นโจทก์ที่ 1 ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 11335 ตำบลปากแพรก อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ให้แก่จำเลยตามสำเนาโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ที่ 2 ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท โจทก์ทั้งสองได้ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะคืนที่ดินหรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องนี้ว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาจะคืนที่ดินได้เนื่องจากสัญญาดังกล่าวไม่มีผลบังคับเพราะไม่ได้จด ทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ขัดต่อบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 526 และตกเป็นโมฆะ แต่ในชั้นฎีกาจำเลยกลับฎีกาในประเด็นดังกล่าวว่า สัญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมมีเงื่อนไขบังคับก่อน ย่อมเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 183 และสัญญาดังกล่าวมีเงื่อนไขจะเป็นผลต่อเมื่อจำเลยได้รับอนุมัติวงเงินจากธนาคารและได้ทำการจัดสรรที่ดินเสร็จแล้วเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่สามารถจัดสรรที่ดินได้ การกระทำตามข้อตกลงจึงไม่สามารถปฏิบัติได้ จำเลยจึงไม่มีหน้าที่โอนที่ดินคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น เป็นข้อที่จำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า สัญญาจะคืนที่ดินมีข้อตกลงจะสำเร็จผลเมื่อจำเลยได้รับอนุมัติวงเงินจากธนาคารและได้แบ่งแยกจัดสรรที่ดินโครงการสร้างหมู่บ้านสำเร็จแล้ว เมื่อธนาคารปฏิเสธไม่อนุมัติวงเงินให้จำเลย จำเลยจึงไม่สามารถจัดสรรที่ดินได้ จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและได้บอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ที่ 1 แล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 วรรคแรก บัญญัติว่า ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ใช้สิทธิเลิกสัญญาได้นั้นจะต้องเป็นผู้มีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติของกฎหมาย มิใช่ว่าจะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ตามอำเภอใจ เมี่อพิจารณาสัญญาจะคืนที่ดินแล้ว ไม่มีข้อความตอนใดเลยที่ระบุข้อตกลงระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยว่าให้จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้หากธนาคารปฏิเสธไม่อนุมัติวงเงินให้จำเลยตามที่จำเลยอ้าง จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินตามสัญญาจะคืนที่ดินได้หรือไม่ เห็นว่า สัญญาจะคืนที่ดินระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ตกลงให้จำเลยจะต้องโอนคืนที่ดิน 5 ไร่ เข้าบริษัทที่จะทำการสร้างโรงเรียนสิทธิศึกษา เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้คู่สัญญาต้องระบุกำหนดตัวบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ว่าเป็นตัวบุคคลหรือนิติบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจงในขณะทำสัญญา เพียงแต่ให้สิทธิบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์มีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้ตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น การที่โจทก์ที่ 1 และจำเลยตกลงให้จำเลยจะต้องโอนคืนที่ดินเข้าบริษัทที่จะทำการสร้างโรงเรียนสิทธิศึกษามีผลบังคับได้เมื่อต่อมาบริษัทสิทธิศึกษา จำกัด โจทก์ที่ 2 ได้ดำเนินการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด และได้ทำหนังสือแจ้งให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนที่ดินคืนให้โจทก์ที่ 2 ตามสัญญา เป็นการแสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินตามสัญญาจะคืนที่ดิน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share