คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 และบริษัท ล. เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากกัน โดยจำเลยที่ 3 ประกอบธุรกิจรับขนคนโดยสาร ส่วนบริษัท ล. ประกอบธุรกิจรับขนของ แต่ที่ว่างสำหรับรรทุกของใต้ท้องเครื่องบินโดยสารของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ได้ขายพื้นที่ดังกล่าวแก่บริษัท ล. เพื่อไปบริการรับขนสินค้าในนามตนเอง เมื่อจำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้บริษัท ล. ขนส่งสินค้าดังกล่าวและบริษัท ล. ได้ดำเนินการส่งสินค้าดังกล่าวมากับเครื่องบินของจำเลยที่ 3 โดยใช้พื้นที่บรรทุกใต้ท้องเครื่องบินโดยสารที่จำเลยที่ 3 ขายให้ดังกล่าวขนสินค้า ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้องกับสินค้าที่ถูกขนส่งนั้น โดยเป็นผู้มีหน้าที่ในการนำสินค้าจากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งและได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติของตน เช่นนี้ต้องถือว่าการส่งสินค้าครั้งนี้ จำเลยที่ 3 เป็นผู้ร่วมขนส่งด้วยทอดหนึ่ง โดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในการสูญหายของสินค้าดังกล่าวด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 618

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทคลับ 21 (ประเทศไทย) จำกัด ได้สั่งซื้อสินค้าจำพวกเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายของสตรี เครื่องประดับ และเครื่องหนังจำนวน 5 กล่อง รวมเป็นเงิน 20,227 ดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แฟชั่นเทรดดิ้ง เอส. เอ. จำกัด ซึ่งอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐอิตาลี และผู้ซื้อสินค้าได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าดังกล่าวจากประเทศสาธารณรัฐอิตาลีมายังประเทศไทย จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 รับมอบสินค้าจากผู้ขายแล้วดำเนินการขนส่งที่ท่าอากาศยายต้นทางแทน และจำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งอีกทอดหนึ่ง ในการขนส่งสินค้าดังกล่าว ผู้ซื้อสินค้าได้เอาประกันภัยสินค้าในระหว่างขนส่งไว้แก่โจทก์ในวงเงินประกันภับ 25,229.85 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยที่ 3 ได้รับมอบสินค้าจำนวน 5 กล่องครบถ้วน และสินค้าอยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่มีร่องรอยของกล่องฉีกขาดหรือเทปกาวผิดปกติ ต่อมาเมื่อเครื่องบินของจำเลยที่ 3 ขนส่งสินค้ามาถึงท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้จัดการขนถ่ายสินค้าไปจัดเก็บไว้ในคลังสินค้าที่ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพ และจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้ผู้เอาประกันภัยไปติดต่อดำเนินการขอรับสินค้า เมื่อผู้เอาประกันภัยไปรับสินค้าปรากฏว่าสินค้ามีเพียง 4 กล่อง และมีร่องรอยฉีกขาดสินค้าสูญหายไป 44 ชิ้น กับกล่องบรรจุสินค้าขาดหายไป 1 กล่อง คิดเป็นเงิน 236,784 บาท ผู้เอาประกันภัยจึงเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวนดังกล่าวให้ผู้เอาประกันภัยแล้วเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2546 โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสาม โดยโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2546 เป็นต้นไป คิดถึงวันฟ้องได้เป็นเงิน 7,638.72 บาท รวมกับเงินต้นเป็นเงิน 244,422.72 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 244,422.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 236,784 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้อง จำเลยที่ 3 ไม่ได้ออกใบรับขนทางอากาศ โจทก์ไม่มีหลักฐานการสำรวจการสูญหายของสินค้าที่ชัดเจนแน่นอนและน่าเชื่อถือ การสูญหายของสินค้าที่โจทก์อ้างจึงไม่มีอยู่จริง หรือการสูญหายของสินค้าเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นหรือเกิดจากความผิดของผู้ส่ง ตัวแทนของผู้ส่ง ผู้รับตราส่งหรือตัวแทนของผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด ทั้งความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมสิ้นสุดลงเมื่อผู้รับตราส่งได้รับเอาสินค้าไว้โดยไม่อิดเอื้อนและได้ชำระค่าระวางแก่ผู้ขนส่งแล้ว และเป็นการสูญหายที่เห็นได้แต่สภาพนอก แต่ผู้รับตราส่งหรือตัวแทนมิได้บอกกล่าวการสูญหายแก่ผู้ขนส่งในเวลาส่งมอบ ความรับผิดของผู้ขนส่งหากมีอยู่จริงก็ถือว่าได้สิ้นสุดลงแล้วและสินค้าได้ถูกขนถ่ายเก็บไว้ในคลังสินค้าของการบินไทย สินค้าจึงไม่ได้อยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งอีกต่อไป และสิทธิเรียกร้องประเภทนี้ โจทก์จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันส่งมอบ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ หากจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดจำเลยที่ 3 ก็รับผิดไม่เกิน 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม ตามเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดในใบรับขนทางอากาศที่ผู้ขายหรือผู้ส่งสินค้าได้ตกลงกับผู้ขนส่ง สินค้าที่สูญหายมีน้ำหนัก 23.6 กิโลกรัม หากจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดก็รับผิดไม่เกิน 472 ดอลลาร์สหรัฐ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 236,784 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นตามที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า บริษัทคลับ 21 (ประเทศไทย) จำกัด ได้สั่งซื้อสินค้าจำพวกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสตรี เครื่องประดับและเครื่องหนัง จำนวน 5 กล่อง รวมเป็นเงิน 20,227 ดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แฟชั่นเทรดดิ้ง เอส. เอ. จำกัด ซึ่งอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐอิตาลีตามสำเนาใบกำกับสินค้า และผู้ซื้อสินค้าได้เอาประกันภัยสินค้าในระหว่างการขนส่งไว้แก่โจทก์ในวงเงินประกันภัย 25,229.85 ดอลลาร์สหรัฐ ตามสำเนากรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิดและหนังสือรับรองการประกันภับทางทะเล สำหรับการขนส่งสินค้าดังกล่าวจากประเทศสาธารณรัฐอิตาลีมายังประเทศไทย ผู้ซื้อสินค้าได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการโดยจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับสินค้าจากผู้ขายแล้วดำเนินการขนส่งที่ท่าอากาศยานต้นทางแทน จำเลยที่ 2 ได้รับสินค้าจากผู้ขายจำนวน 5 กล่อง ถูกต้องครบถ้วนและกล่องสินค้าอยู่ในสภาพปกติไม่มีร่องรอยความเสียหาย จำเลยที่ 2 ได้ออกใบรับขนทางอากาศให้ไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการให้ขนส่งสินค้าดังกล่าวมาโดยเครื่องบินเที่ยวบินที่ LH 8440 ต่อมาเมื่อเครื่องบินเที่ยวบินดังกล่าว มาถึงท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพ ทางสายการบินดังกล่าวได้ขนถ่ายสินค้ามาจัดเก็บไว้ในคลังสินค้าของบริษัทไทย แอร์พอร์ตส์ กราวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด และจำเลยที่ 1 ได้แจ้งการมาถึงของสินค้าให้ผู้เอาประกันภัยทราบเพื่อให้ไปติดต่อขอรับสินค้า จากนั้นผู้เอาประกันภัยได้มอบหมายให้ตัวแทนไปขอรับสินค้า ปรากฏว่าสินค้ามีเพียง 4 กล่อง ขาดหายไป 1 กล่อง ทั้งกล่องสินค้าดังกล่าวมีสภาพผิดปกติคือมีร่องรอยฉีกขาดเหมือนมีการกรีดหรือแกะกล่องมาก่อนแล้วปิดเทปกาวใหม่อีกชั้นหนึ่งมีสินค้าสูญหายไป 1 กล่อง กับ 44 ชิ้น ตามสำเนารายงานความเสียหายของสินค้าสำเนาใบส่งของและภาพถ่าย คิดค่าสินไหมทดแทนได้เป็นเงิน 236,784 บาท ผู้เอาประกันภัยได้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจากโจทก์ โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2546 ตามใบสำคัญจ่ายและใบรับช่วงสิทธิ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 เพียงประการเดียวว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าดังกล่าวอีกทอดหนึ่งหรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 อ้างว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้ร่วมขนส่งสินค้าดังกล่าว แต่บริษัทลุฟท์ฮันซ่า คาร์โก้ เอจี จำกัด เป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 3 และบริษัทลุฟท์ฮันซ่า คาร์โก้ เอจี จำกัด เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากกัน และจำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้บริษัทลุฟท์ฮันซ่า คาร์โก้ เอจี จำกัด เป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวตามสำเนาใบรับขนทางอากาศ แต่ในข้อนี้โจทก์มีนางสาวปาริฉัตรซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสินไหมทดแทนของโจทก์เป็นพยานยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นและเบิกความประกอบว่า จำเลยที่ 3 ได้ร่วมขนส่งสินค้าดังกล่าวด้วยโดยสินค้าได้ขนส่งมากับเครื่องบินของจำเลยที่ 3 ล้วนระบุว่าสินค้าขนส่งมาโดยเที่ยวบินที่ LH 8440 ซึ่งเป็นสายการบินของจำเลยที่ 3 นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายอมรซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกสินค้าขาข้าวของบริษัทไทย แอร์พอร์ตส์ กราวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด พยานโจทก์เบิกความสนับสนุนว่า จำเลยที่ 3 แต่งตั้งให้บริษัทพยานเป็นตัวแทนในการรับมอบสินค้า จำเลยที่ 3 ใช้อักษรย่อว่า LH และสินค้าพิพาทขนมาโดยเที่ยวบินที่ LH 8440 ของจำเลยที่ 3 โดยตามเอกสารล้วนระบุเที่ยวบินที่ LH 8440 ซึ่งเป็นเที่ยวบินของจำเลยที่ 3 เพียงแต่พยานปากนี้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านว่า พยานไม่ทราบว่าสินค้าพิพาทมากับเครื่องบินของจำเลยที่ 3 ด้วยวิธีใด ส่วนจำเลยที่ 3 ก็นำสืบยอมรับว่าจำเลยที่ 3 และบริษัทลุฟท์ฮันซ่า คาร์โก้ เอจี จำกัด เป็นบริษัทในกลุ่มเครือเดียวกัน แม้ประกอบธุรกิจแตกต่างกันโดยจำเลยที่ 3 ประกอบธุรกิจรับขนคนโดยสาร ส่วนบริษัทลุฟท์ฮันซ่า คาร์โก้ เอจี จำกัด ประกอบธุรกิจรับขนของแต่ที่ว่างสำหรับบรรทุกของใต้ท้องเครื่องบินโดยสารของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ได้ขายพื้นที่ดังกล่าวให้แก่บริษัทลุฟท์ฮันซ่า คาร์โก้ เอจี จำกัด เพื่อไปบริการรับขนสินค้าในนามของตนเอง และจำเลยที่ 3 ยังนำสืบได้ความว่า นอกจากจะใช้เครื่องบินของตนให้บริการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะแล้ว บริษัทลุฟท์ฮันซ่า คาร์โก้ เอจี จำกัด ยังนำเอาพื้นที่บรรทุกของใต้ท้องเครื่องบินโดยสารของจำเลยที่ 3 ไปให้บริการรับขนสินค้าเพิ่มเติมในกิจการของตนด้วย ทั้งนายเดวิด โคเนอร์ เคียรี่ ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทลุฟท์ฮันซ่า คาร์โก้ เอจี จำกัด พยานจำเลยที่ 3 ก็เบิกความว่า ในกรณีที่บริษัทลุฟท์ฮันซ่า คาร์โก้ เอจี จำกัด ขนสินค้ามากับเครื่องบินของจำเลยที่ 3 บริษัทลุฟท์ฮันซ่า คาร์โก้ เอจี จำกัด ก็จะเป็นผู้ออกใบรับขนทางอากาศ ประกอบกับจำเลยที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งให้ชัดแจ้งว่าสินค้าถูกขนมาโดยเครื่องบินขนส่งสินค้าของบริษัทลุฟท์ฮันซ่า คาร์โก้ เอจี จำกัด โดยเฉพาะตามที่นายเดวิด โคเนอร์ เคียรี่ พยานจำเลยที่ 3 ให้ถ้อยคำ ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้บริษัทลุฟท์ฮันซ่า คาร์โก้ เอจี จำกัด ขนส่งสินค้าดังกล่าวตามใบรับขนทางอากาศและบริษัทลุฟท์ฮันซ่า คาร์โก้ เอจี จำกัด ได้ดำเนินการส่งสินค้าดังกล่าวมากับเครื่องบินของจำเลยที่ 3 โดยใช้พื้นที่บรรทุกของใต้ท้องเครื่องบินโดยสารที่จำเลยที่ 3 ขายให้ดังกล่าวขนสินค้า ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 3 เข้าเกี่ยวข้องกับสินค้าที่ถูกขนส่งนั้นโดยเป็นผู้มีหน้าที่ในการนำสินค้าจากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งและได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติของตน เช่นนี้ต้องถือว่าการส่งสินค้าครั้งนี้ จำเลยที่ 3 เป็นผู้ร่วมขนส่งด้วยทอดหนึ่ง โดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดจำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในการสูญหายของสินค้าดังกล่าวด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share