คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2934/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 บัญญัติให้ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ เมื่อฟ้องเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐไม่ได้ ย่อมฟ้องเรียกค่าเสียหายในผลแห่งละเมิดจากทายาทของเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2542 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา นายปรีชาได้กระทำละเมิด โดยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ร-5614 กรุงเทพมหานคร ด้วยความประมาทชนกับรถยนต์ของโจทก์ หมายเลขทะเบียนตรากงจักร 18598 ซึ่งมีสิบเอกเชนเป็นพลขับ เป็นเหตุให้รถของโจทก์เสียหายทั้งคัน คิดเป็นเงิน 299,600 บาท และคนขับรถทั้งสองฝ่ายถึงแก่ความตายพนักงานสอบสวนลงความเห็นว่า อุบัติเหตุเกิดจากความประมาทของนายปรีชา จำเลยที่ 1 ในฐานะภริยา จำเลยที่ 2 ในฐานะบุตร ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกของนายปรีชาจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 329,560 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 299,600 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ขณะเกิดเหตุนายปรีชารับราชการกรมทางหลวง ตำแหน่งนายช่างโยธา 6 ประจำแขวงการทางปราจีนบุรีได้ออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจตราเส้นทางตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาของกรมทางหลวง โจทก์ต้องฟ้องกรมทางหลวง ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 239,680 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่ 14 มกราคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดเกินกว่ากองมรดกของนายปรีชาที่ตกแก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงจากที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2542 สิบเอกเชนขับรถยนต์ของโจทก์หมายเลขทะเบียนตรากงจักร 18598 ไปตามถนนสุวินทวงศ์จากอำเภอเมืองปราจีนบุรีไปยังอำเภอศรีมโหสถขับอยู่ทางฝั่งทิศตะวันออกของถนน มีพันเอกภานุพงศ์นั่งอยู่ด้านข้าง ส่วนนายปรีชาขับรถยนต์ของแขวงการทางปราจีนบุรี หมายเลขทะเบียน 4ร-5614 กรุงเทพมหานคร ขับอยู่ในถนนสายเดียวกัน จากอำเภอศรีมโหสถไปยังอำเภอเมืองปราจีนบุรีทางฝั่งทิศตะวันตกของถนน เวลาประมาณ 9 นาฬิกา เมื่อขับมาถึงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 150-151 รถยนต์ทั้งสองคันเกิดชนกันขึ้นเป็นเหตุให้คนขับทั้งสองฝ่ายและพันเอกภานุพงศ์ถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ รถยนต์ของทั้งสองฝ่ายได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของนายปรีชา จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายปรีชา
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของนายปรีชาต้องชดใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับรถยนต์ชนกันให้แก่โจทก์หรือไม่ เนื่องจากมีพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคแรก บัญญัติว่า หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ จึงเห็นสมควรวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ต้องห้ามตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ ได้ความจากพันตำรวจตรีปรีชาญและพันตำรวจโทวรการว่า รถยนต์ที่นายปรีชาขับและเกิดเหตุชนกันนั้นเป็นของแขวงการทางปราจีนบุรี กรมทางหลวง เนื่องจากนายปรีชาตายในที่เกิดเหตุจึงสั่งไม่ฟ้องนายปรีชา นางสุภาวดีพยานจำเลยทั้งสองเบิกความว่า พยานรับราชการอยู่ที่แขวงการทางปราจีนบุรี เป็นกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีรถยนต์ชนกันคดีนี้ ได้สรุปสำนวนการสอบสวนว่า นายปรีชาได้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปปฏิบัติราชการตรวจสะพานตามอำนาจหน้าที่ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่แขวงการทางปราจีนบุรี นายประสมพยานจำเลยทั้งสองอีกปากหนึ่งเบิกความว่า พยานรับราชการเป็นนายช่างแขวงการทางปราจีนบุรี นายปรีชาที่ประสบอุบัติเหตุเป็นนายช่างโยธา 6 แขวงการทางปราจีนบุรี รองอธิบดีกรมทางหลวงมีหนังสือรายงานเหตุการณ์ต่อปลัดกระทรวงการคลังว่า นายปรีชาขับรถยนต์ของทางราชการไปตรวจงานก่อสร้างสะพานหลวงหมายเลข 3070 หลังจากตรวจแล้วได้ขับรถยนต์มุ่งหน้าไปทางอำเภอเมืองปราจีนบุรี เพื่อตรวจงานซ่อมผิวทางสายบ้านสร้าง แต่เกิดเหตุชนกันที่จุดเกิดเหตุ ตามรายงานเอกสารหมาย ป.ล.2 ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ฝ่ายจำเลยทั้งสองนำสืบประกอบกับรถยนต์ที่นายปรีชาขับเป็นรถยนต์ของทางราชการแขวงการทางปราจีนบุรี ฟังได้ว่า นายปรีชาเป็นข้าราชการสังกัดแขวงการทางปราจีนบุรี กรมทางหลวง จึงเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ เมื่อโจทก์ฟ้องเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐไม่ได้ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายในผลแห่งละเมิดจากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share