แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งการที่จำเลยได้รับคืนเงินค่าภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยไปจากโจทก์ก็เนื่องจากจำเลยอ้างว่าได้นำน้ำมันที่ชำระค่าภาษีอากรแล้วเติมให้แก่เรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์และพนักงานศุลกากรได้ปล่อยเรือดังกล่าวให้ไปต่างประเทศแล้ว จำเลยจึงใช้สิทธิขอรับภาษีที่ชำระแล้วคืนตามมาตรา 102 (4) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยได้รับคืนเงินค่าภาษีไปโดยมีมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงมิใช่เรื่องลาภมิควรได้ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระค่าภาษีที่จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมาย ซึ่งสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 โดยอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ซึ่งได้แก่วันที่จำเลยได้รับหักคืนภาษีไปโจทก์ได้อนุมัติให้คืนเงินภาษีและจำเลยนำไปหักคืนภาษีแล้วในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2535 เรื่องมาจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2538 อันเป็นครั้งสุดท้าย โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 18 กันยายน 2545 ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระค่าภาษีซึ่งตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 137 บัญญัติให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลาหรือชำระขาดจากจำนวนภาษีที่ต้องเสีย ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน เมื่อจำเลยรับคืนเงินภาษีที่ชำระไว้แล้วจึงเป็นการไม่ชำระภาษีหรือชำระภาษีไม่ครบถ้วนจึงต้องเสียเงินเพิ่มตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยเป็นกรมสังกัดกระทรวงการคลัง จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบอุตสาหกรรมผลิตและขายหรือจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมและผลิตผลจากน้ำมันปิโตรเลียมทุกชนิด การที่จำเลยผลิตน้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันในราชอาณาจักรจึงเป็นการผลิตสินค้าขึ้นในราชอาณาจักร จำเลยจึงเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายการชำระภาษีสรรพสามิตตามมาตรา 10 (1) (ก) และมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาชำระภาษีสรรพสามิต ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 และต้องชำระภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยอีกร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิตดังกล่าวตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติจัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตเพื่อนำไปจัดสรรให้แก่กรุงเทพมหานครและราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2527 ทั้งนี้จำนวนภาษีซึ่งจำเลยชำระไว้ดังกล่าวหากต่อมาจำเลยนำน้ำมันที่ได้ชำระภาษีแล้วเติมให้แก่เรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ ซึ่งพนักงานศุลกากรได้ปล่อยให้ไปต่างประเทศแล้ว จำเลยมีสิทธิขอคืนภาษีสรรพสามิตของปริมาณน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เติมให้แก่เรือดังกล่าวและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยตามมาตรา 102 (4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 จำเลยได้ยื่นคำขอคืนค่าภาษีสรรพสามิตซึ่งจำเลยได้ชำระไว้ โดยอ้างและแสดงหลักฐานว่า จำเลยได้เติมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันโดยแสดงชนิดและปริมาณของน้ำมันให้แก่เรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ ซึ่งพนักงานศุลกากรได้ปล่อยให้ไปต่างประเทศแล้ว โจทก์ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานที่จำเลยนำมาแสดงแล้วเชื่อตามที่จำเลยกล่าวอ้าง จึงได้คืนภาษีสรรพสามิตและภาษีเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยให้แก่จำเลยตามจำนวนที่จำเลยกล่าวอ้างดังกล่าว ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งจากกรมศุลกากรว่าเอกสารและพยานหลักฐานที่จำเลยนำมาแสดงเพื่อขอคืนค่าภาษีและได้รับคืนภาษีไปแล้วนั้น แท้ที่จริงมิได้มีการเติมน้ำมันตามชนิดและปริมาณให้แก่เรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ ดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับคืนภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทย และมีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าภาษีดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยปริมาณน้ำมันชนิดต่าง ๆ ที่มีการตรวจพบว่าไม่ได้เติมให้แก่เรือตามที่จำเลยอ้างทั้ง 23 ครั้ง คิดเป็นค่าภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยที่จำเลยได้รับคืนไปและมีหน้าที่ต้องคืนให้โจทก์เป็นจำนวนทั้งสิ้น 6,111,956.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินค่าภาษีดังกล่าวนับแต่วันที่ได้รับคืนค่าภาษีจนกว่าจะคืนค่าภาษีเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 4,023,604.24 บาท รวมกับต้นเงินค่าภาษีแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 10,135,560.34 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินค่าภาษีพร้อมดอกเบี้ยรวมจำนวน 10,135,560.34 บาท แก่โจทก์ และให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 6,111,956.10 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ทำให้จำเลยไม่เข้าใจและไม่อาจให้การต่อสู้คดีได้ชัดแจ้ง เนื่องจากโจทก์มิได้กล่าวให้แจ้งชัดว่า เพราะเหตุใดจึงมิได้มีการเติมน้ำมัน ทั้ง ๆ ที่โจทก์ยอมรับว่าในการขอคืนภาษีจำเลยได้เสนอหลักฐานต่าง ๆ และโจทก์ได้คืนภาษีให้จำเลยไปแล้ว นอกจากนี้โจทก์มิได้กล่าวให้แจ้งชัดว่า จำเลยมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรา 102 (4) อย่างไรบ้าง คดีของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ไม่ว่าจะเป็นอายุความเรื่องลาภมิควรได้หรือเรื่องละเมิด โดยคำฟ้องของโจทก์ไม่ใช่คำฟ้องเกี่ยวกับการติดตามเอาคืนทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 เพราะโจทก์กับจำเลยไม่ใช่ตัวการ ตัวแทน นายจ้าง ลูกจ้าง หรือผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาต่อกัน จำเลยได้รับคืนภาษีจากโจทก์โดยสุจริตและถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากปรากฏตามหลักฐานว่ามีการนำน้ำมันเติมให้แก่เรือโดยเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรเป็นผู้ตรวจสอบรับรองและออกใบอนุญาต จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องคืนค่าภาษีและชดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากจำเลยต้องคืนเงินตามคำฟ้องให้โจทก์ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลย และดอกเบี้ยที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องมิได้ระบุว่าคิดคำนวณตั้งแต่วันใด ทั้งดอกเบี้ยส่วนที่โจทก์คำนวณเกิน 5 ปี ก็ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีจำนวน 10,135,560.34 บาท แก่โจทก์ พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนแต่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินภาษี 6,111,956.10 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เงินเพิ่มดังกล่าวเมื่อรวมกับเงินเพิ่มที่คำนวณถึงวันฟ้องแล้วต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดประกอบอุตสาหกรรมผลิตและขายหรือจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมและผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียมทุกชนิด ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายการภาษีและชำระภาษีสรรพสามิตภายใน 10 วัน นับแต่วันที่นำน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ผลิตออกจากโรงอุตสาหกรรมตามมาตรา 10 (1) (ก) และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาชำระภาษีสรรพสามิต ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 กับต้องชำระภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยอีกร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิตดังกล่าวตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติจัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตเพื่อนำไปจัดสรรให้แก่กรุงเทพมหานครและราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2527 แต่หากจำเลยได้นำน้ำมันที่ชำระค่าภาษีดังกล่าวแล้วเติมให้เรือที่ขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ ซึ่งพนักงานศุลกากรได้ปล่อยให้ไปต่างประเทศแล้ว จำเลยมีสิทธิตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 102 (4) ที่จะขอคืนค่าภาษีที่ชำระแล้วดังกล่าวตามปริมาณน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ได้เติมให้แก่เรือโดยจะได้รับคืนในรูปของหนังสืออนุมัติให้จำเลยนำค่าภาษีที่มีสิทธิได้รับคืนไปเครดิตกับจำนวนภาษีที่จำเลยจะต้องชำระในคราวต่อไปเกี่ยวกับคดีนี้จำเลยได้ยื่นคำขอคืนค่าภาษีสรรพสามิตที่จำเลยชำระไว้แล้วตามมาตรา 102 (4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 โดยอ้างว่าจำเลยได้เติมน้ำมันเชื้อเพลิงโดยแสดงชนิดและปริมาณของน้ำมันให้แก่เรือหลายลำซึ่งแต่ละลำมีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ และพนักงานศุลกากรได้ปล่อยให้ไปต่างประเทศแล้วรวม 23 เที่ยวเรือ ซึ่งโจทก์ได้อนุมัติให้คืนเงินภาษีดังกล่าวให้แก่จำเลยและจำเลยนำไปเครดิตกับการชำระภาษีครั้งต่อไปแล้ว ต่อมากรมศุลกากรแจ้งให้โจทก์ทราบว่าได้ตรวจสอบพบว่าบางเที่ยวจำเลยไม่ได้นำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือตามจำนวนที่อ้างในใบอนุญาตนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือ และบางเที่ยวนำขึ้นเรือไม่ครบตามจำนวนที่อ้าง รวมเป็นค่าภาษีทั้งสิ้น 6,111,956.10 บาท โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2538 ถึงวันที่ 4 เมษายน 2540 และต่อมาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2545 โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยให้นำค่าภาษีที่ได้รับหักคืนดังกล่าวไปชำระให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้รับหักคืนภาษีในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามเอกสารหมาย จ.25 แผ่นที่ 15 และ 16 แต่จำเลยมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.25 แผ่นที่ 14 ตอบปฏิเสธไม่ยอมคืนเงิน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ยื่นคำขอคืนค่าภาษีสรรพสามิตตามมาตรา 102 (4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 โดยจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมอ้างว่า ได้นำน้ำมันเชื้อเพลิงที่ชำระภาษีสรรพสามิตแล้วเติมให้แก่เรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ ซึ่งพนักงานศุลกากรได้ปล่อยให้ไปต่างประเทศแล้ว และโจทก์ได้อนุมัติให้คืนภาษีให้แก่จำเลยแล้ว แต่ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งจากกรมศุลกากรว่า แท้จริงแล้วไม่มีการเติมน้ำมันตามชนิดและปริมาณให้แก่เรือดังที่จำเลยกล่าวอ้าง จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับคืนภาษี ขอให้จำเลยคืนภาษีที่รับคืนจากโจทก์ไปให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงให้พอเข้าใจถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ข้อ 13 วรรคแรก แล้ว คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องเรื่องละเมิดหรือลาภมิควรได้ก็ขาดอายุความแล้ว เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ ทั้งการที่จำเลยได้รับคืนเงินค่าภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยไปจากโจทก์ก็เนื่องจากจำเลยอ้างว่าได้นำน้ำมันที่ชำระค่าภาษีอากรแล้วเติมให้แก่เรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ และพนักงานศุลกากรได้ปล่อยเรือดังกล่าวให้ไปต่างประเทศแล้ว จำเลยจึงใช้สิทธิขอรับภาษีที่ชำระแล้วดังกล่าวคืนตามมาตรา 102 (4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยได้รับคืนเงินค่าภาษีไปโดยมีมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ ซึ่งกรณีเช่นนี้มิใช่เรื่องลาภมิควรได้ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระค่าภาษีที่จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมาย ซึ่งสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 โดยอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 ซึ่งได้แก่วันที่จำเลยได้รับหักคืนภาษีไป ข้อเท็จจริงได้ความตามหนังสืออนุมัติให้คืนเงินภาษีว่า ในการขอคืนเงินภาษีสำหรับน้ำมันที่จำเลยอ้างว่าได้เติมให้แก่เรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ ทั้ง 23 เที่ยวเรือ โจทก์ได้อนุมัติให้คืนเงินภาษีดังกล่าวและจำเลยนำไปหักคืนภาษีแล้วในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2535 เรื่อยมาจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2538 อันเป็นครั้งสุดท้าย โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 18 กันยายน 2545 เมื่อนับระยะเวลาจากวันที่จำเลยได้รับหักคืนภาษีแต่ละเที่ยวเรือจนถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินค่าภาษีที่ได้รับคืนไปและดอกเบี้ยให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยขอคืนภาษีโดยสุจริต ถูกต้องตามกฎหมายและคำสั่งของกรมศุลกากร จำเลยมีพยานหลักฐานชัดแจ้งว่า ได้มีการนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือทั้ง 23 เที่ยวเรือ จริง จึงมีสิทธิได้รับคืนค่าภาษี ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มเป็นการไม่ชอบและเกินไปกว่าคำขอของโจทก์นั้น ทางพิจารณาโจทก์มีนายโอภาส นายบวร นายสว่าง นายสมบัติ นายไพโรจน์ นายมโน นายสถาพร นายนพพร นายสมภพ นายสงวน และนายชาติชาย ซึ่งขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายตรวจศุลกากรทำหน้าที่ตรวจสอบและเป็นผู้ลงนามรับรองการนำน้ำมันขึ้นเรือตามใบอนุญาตนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือที่พิพาททั้ง 23 เที่ยวเรือ เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า ในการควบคุมการนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือแต่ละวันจะมีการจัดเวรให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบ 2 คน คือ สารวัตรศุลกากร 1 คน และนายตรวจศุลกากร 1 คน แต่ผู้รับผิดชอบทั้งสองคนยังต้องปฏิบัติหน้าที่ตรวจรับเรือเดินต่างประเทศ ตรวจปล่อยคนโดยสารขาเข้าออก ตรวจค้นเรือที่เข้ามาในและออกนอกราชอาณาจักร และหน้าที่อื่น ๆ ตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 46/2530 จึงทำให้ไม่สามารถไปตรวจดูการเติมน้ำมันขึ้นเรือตามคำขอทุกลำเรือได้ โดยบางครั้งสามารถตรวจและควบคุมการเติมน้ำมันขึ้นเรือแต่ยังไม่เสร็จสิ้นก็ต้องไปปฏิบัติหน้าที่อื่น และบางครั้งขณะตัวแทนเรือยื่นใบขออนุญาตนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือ ทั้งสารวัตรศุลกากรและนายตรวจศุลการกรผู้รับผิดชอบในเวลานั้นออกไปปฏิบัติหน้าที่บนเรือลำอื่นหรือปฏิบัติหน้าที่อื่นจึงไม่ทราบว่ามีการยื่นคำขอนำน้ำมันขึ้นเรือซึ่งทางเรือก็มิได้รอให้เจ้าหน้าที่ไปควบคุมโดยได้ดำเนินการเติมน้ำมันจนเสร็จสิ้นไปก่อน และเพื่อไม่เกิดความเสียหายต่อเรืออันเนื่องมาจากความล่าช้าของเจ้าหน้าที่ศุลกากร จึงได้มีการผ่อนปรนให้ตัวแทนเรือดำเนินการสูบถ่ายน้ำมันขึ้นเรือตามคำขอโดยไม่ได้มีการควบคุมแต่หลังจากนั้นตัวแทนเรือจะต้องระบุชนิดและปริมาณของน้ำมันที่เติม โดยมีใบรับการส่งน้ำมันขึ้นเรือที่มีกัปตันเรือหรือต้นกลเรือหรือผู้แทนเรือที่รับน้ำมันลงนามรับรอง และมีลายมือชื่อผู้ควบคุมเรือลำเลียงจัดส่งน้ำมันและเจ้าหน้าที่ของผู้ขายน้ำมันลงนามรับรองมาแสดง ซึ่งแต่ละครั้งตัวแทนเรือจะมีเอกสารดังกล่าวมาแสดงครบถ้วนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการนำน้ำมันขึ้นเรือเชื่อว่ามีการนำน้ำมันตามชนิดและปริมาณที่แสดงขึ้นเรือจึงลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้านหลังใบขออนุญาตนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือ เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือมิได้รับรองว่า มีการนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือตามใบขออนุญาตนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือที่พิพาทจริง เนื่องจากบางครั้งเจ้าหน้าที่เหล่านี้มิได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะที่อ้างว่ามีการนำน้ำมันขึ้นเรือและบางครั้งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ขณะเริ่มสูบถ่ายน้ำมัน หลังจากนั้นได้ไปปฏิบัติหน้าที่อื่น ส่วนรายงานการปฏิบัติงานตรวจสอบและควบคุมการนำน้ำมันขึ้นเรือของเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการนำน้ำมันขึ้นเรือ ผู้แทนของจำเลยก็เป็นผู้นำไปกรอกข้อความแล้วนำมาให้เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการนำน้ำมันขึ้นเรือลงชื่อ ที่นายทองพันธุ์ พยานจำเลยเบิกความว่า ใบขออนุญาตนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือที่พิพาททุกฉบับมีตัวแทนเรือเป็นผู้ยื่นขออนุญาตและเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรผู้รับผิดชอบควบคุมการนำน้ำมันขึ้นเรือได้ลงนามรับรองว่า มีการนำน้ำมันขึ้นเรือและจัดทำรายงานการปฏิบัติงานรับรองว่า ได้ตรวจสอบและควบคุมการนำน้ำมันขึ้นเรือตั้งแต่เมื่อใดจนเสร็จสิ้นเมื่อใด แสดงว่ามีการนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือจริงนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ลงนามรับรองมาเบิกความยืนยันว่า มิได้ตรวจสอบและควบคุมการนำน้ำมันขึ้นเรือตลอดเวลา ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นเพราะต้องปฏิบัติหน้าที่อื่นด้วย จึงยังไม่อาจรับฟังเป็นข้อยุติว่า ได้มีการนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือตามชนิดและจำนวนในใบขออนุญาตนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือจริง สำหรับเอกสารต่าง ๆ ที่ทางเรือได้จัดทำขึ้นและโจทก์นำสืบว่า เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรได้มาจากการตรวจค้นบริษัทตัวแทนเรือ และรับมอบจากนายเรือหรือต้นกลเรือ คือ COMBINED LOG ABSTRACT ซึ่งเป็นเอกสารบันทึกรายละเอียดการเดินทางและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเกี่ยวกับการเดินเรือในแต่ละเที่ยวเรือ BUNKER SUMMARY REPORT ซึ่งเป็นเอกสารสรุปการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละเที่ยวเรือ ARRIVAL CONDITION ซึ่งเป็นเอกสารแสดงถึงสภาพของเรือในขณะจะออกเดินทางจากท่าในประเทศไปยังต่างประเทศว่ามีน้ำมันแต่ละชนิดปริมาณเท่าใดและจำนวนน้ำมันที่รับเพิ่มเติมมีเท่าใดซึ่งจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้นำเจ้าหน้าที่ประจำเรือซึ่งเป็นผู้จัดทำเอกสารดังกล่าวรวมทั้งตัวแทนเรือมาเบิกความต่อศาล ทั้งเอกสารประจำเรือดังกล่าวไม่ใช่เอกสารมหาชน จึงรับฟังไม่ได้นั้น ปรากฏว่า โจทก์มีนายวินัย นายอนันต์ และนายบุญตันซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า กรมศุลกากรได้สืบทราบว่า เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า กรมศุลกากรได้สืบทราบว่า มีการแจ้งปริมาณน้ำมันเติมเรือเดินทางไปต่างประเทศเป็นเท็จโดยมีพฤติการณ์ไม่นำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือจริง แต่ได้นำหลักฐานว่ามีการนำน้ำมันขึ้นเรือไปขอคืนค่าภาษีสรรพสามิต กรมศุลกากรจึงมอบหมายให้พยานดำเนินการสืบสวน พยานได้ขอสำเนาใบขออนุญาตนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือจากฝ่ายตรวจรับเรือในท่า ส่วนปราบปรามทางทะเล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ปฏิบัติพิธีการควบคุมการนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือ แล้วนำมาคัดแยกตามประเภทบริษัทตัวแทนเรือ จากนั้นได้สุ่มตรวจสอบเรือบางลำตามที่ปรากฏชื่อในใบอนุญาตนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือ ได้แก่ เรือชัยภูมิ เรือนันทภูมิ และเรือเดชาภูมิ จากการสอบปากคำนายเรือ ต้นกลเรือ และรองต้นกลเรือ ได้ความว่าเรือแต่ละลำดังกล่าวจะเติมน้ำมันเชื้อเพลิงที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์เท่านั้นปรากฎตามบันทึกการตรวจค้นเรือเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 36 ถึง 38, 49 ถึง 51 และ 42 ถึง 44 และเจ้าหน้าที่เรือยังได้มอบเอกสารแสดงการใช้น้ำมันในการเดินเรือแต่ละเที่ยวที่ทางเรือจัดทำขึ้น ได้แก่ COMBINED LOG ABSTRACT, ARRIVAL CONDITION, DEPARTURE CONDITION และ BUNKER SUMMARY REPORT ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 44, 48 และ 49 ในส่วนของเอกสาร ARRIVAL CONDITION และ DEPARTURE CONDITION ทางเรือจะต้องจัดทำและส่งมอบให้แก่ตัวแทนเรือ และตัวแทนเรือจะส่งข้อมูลตามเอกสารดังกล่าวไปให้เจ้าของเรือเพื่อควบคุมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเนื่องจากน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลักและเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากสำหรับเรือขนส่ง พยานจึงได้ไปตรวจค้นและยึดเอกสารดังกล่าวจากตัวแทนเรือที่ปรากฏรายชื่อในใบขออนุญาตนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือได้แก่ บริษัทเคไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทโหงวฮกเอเยนซี จำกัด บริษัทโกลด์ชิป จำกัด บริษัทกิจวรุณเทรดดิ้ง จำกัด และบริษัทตัวแทนเรืออื่น ๆ รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการตรวจค้นและรับรองหรือยึดหรืออายัดเอกสาร เอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 10 ถึง 12, 22 ถึง 24 เอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 23 ถึง 25, 28 เอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 15, 16, 22 ถึง 24 เอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 14, 15, 21 และเอกสารหมาย จ.9 แผ่น 13, 14, 20 และพันตำรวจโท อนุชาต เจ้าพนักงานตรวจเรือ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (กรมเจ้าท่า) เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า พยานมีหน้าที่ตรวจเรือต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรให้เป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญา SOLAS 1974 (SAFETY OF LIFE AT SEA) และอนุสัญญา MARPOL 73/78 (MARINE POLLUTION) โดยอนุสัญญา SOLAS บังคับให้เรือที่ทำการค้าระหว่างประเทศต้องมี SAFETY CERTIFICATES และ LOG BOOK อยู่ประจำเรือ ซึ่ง LOG BOOK จะมีชนิดบันทึกรายละเอียดสถานทั่วไปของเรือ และชนิดที่บันทึกข้อมูลทั่วไปของเครื่องจักรกลในเรือ อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง รวมกันแล้วจะเรียกชื่อว่า COMBINED ABSTRACT ส่วนอนุสัญญา MARPOL กำหนดให้เรือมี OIL RECORD BOOK สำหรับบันทึกการรับส่งน้ำมันในเรือ นายเรือจึงต้องจัดทำ ARRIVAL CONDITION, DEPARTURE CONDITION หรือ SAILING CONDITION และ BUNKER SUMMARY เอกสารต่าง ๆ ตามที่อนุสัญญากำหนดซึ่งนายเรือหรือต้นกลเรือเป็นผู้จัดทำนั้น จะต้องเก็บไว้ที่เรือและสำนักงานของเรือประมาณ 5 ถึง 10 ปี หลักเกณฑ์ในการจัดเก็บและจัดทำเอกสารเป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญา SOLAS หมวดที่ 9 เห็นว่า ตามบันทึกการตรวจค้นเรือเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 36 ถึง 38, 49 ถึง 51 และ 42 ถึง 44 เจ้าหน้าที่ศุลกากรพยานโจทก์ได้พบกับนายกฤษฎา รองต้นกลเรือชัยภูมิ นายสรรชัย นายเรือนันทภูมิ และนายกุลเกียรติกับนายสุดเนตร นายเรือและต้นกลเรือเดชาภูมิ โดยได้สอบถามเกี่ยวกับการใช้น้ำมันในการเดินเรือแต่ละเที่ยว คือ COMBINED LOG ABSTRACT, ARRIVAL CONDITION, DEPARTURE CONDITION หรือ SAILING CONDITION และ BUNKER SUMMARY ไว้ด้วยโดยเจ้าหน้าที่เรือได้ลงลายมือชื่อรับรองเอกสารดังกล่าวและลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานในบันทึกการตรวจค้นเรือด้วย ส่วนในการตรวจค้นบริษัทตัวแทนเรือตามบันทึกการตรวจค้นและรับรองหรือยึดหรืออายัดเอกสารก็ปรากฏว่าผู้แทนของบริษัทตัวแทนเรือได้ลงลายมือชื่อรับรองว่าเอกสารดังกล่าวยึดมาจากบริษัทตัวแทนเรือจริงและมิได้ปฏิเสธว่ารายละเอียดตามเอกสารที่ยึดได้ไม่ถูกต้อง เมื่อเอกสารดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของเรือแต่ละเที่ยวโดยแสดงวันเวลาไว้อย่างชัดเจน ทั้งพันตำรวจโทอนุชาต พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตรวจเรือของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีก็ยืนยันว่า เรือที่เดินทางระหว่างประเทศจะต้องมีเอกสารประจำเรือ คือ LOG BOOK, ARRIVAL CONDITION และ DEPARTURE CONDITION มิฉะนั้นจะถูกลงโทษโดยการกักเรือเป็นอย่างน้อย แสดงให้เห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่นายเรือมีหน้าที่ต้องจัดทำและอยู่ในความครอบครองของเรือและตัวแทนเรือจริง ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้นำเจ้าหน้าที่ประจำเรือหรือตัวแทนเรือมาเบิกความต่อศาล ก็เชื่อได้ว่า รายละเอียดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรากฏในเอกสารถูกต้องตรงกับความเป็นจริง เพราะหากมีการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงลงเรือแล้วไม่มีการบันทึกในเอกสารดังกล่าว ตัวแทนเรือก็ไม่สามารถเก็บเงินจากเจ้าของเรือได้ เมื่อตรวจสอบเปรียบเทียบเอกสารที่แสดงถึงการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือและใบรับการส่งน้ำมันทางเรือของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.23 แล้วพบว่าไม่มีการนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือหรือมีการนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือน้อยกว่าจำนวนที่ระบุในใบขออนุญาต จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินค่าภาษีที่ได้รับคืนไปให้แก่โจทก์ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน แต่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง เพราะโจทก์ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยมิได้ขอให้จำเลยชำระเงินเพิ่มนั้น เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระค่าภาษี ซึ่งตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 137 บัญญัติให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลาหรือชำระขาดจากจำนวนภาษีที่ต้องเสีย ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน เมื่อจำเลยรับคืนเงินภาษีที่ชำระไว้แล้วจึงเป็นการไม่ชำระภาษีหรือชำระภาษีไม่ครบถ้วน จำเลยจึงต้องเสียเงินเพิ่มตามกฎหมาย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินเพิ่มดังกล่าว แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ขอ จึงชอบด้วยกฎหมาย”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์