คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3291/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ทั้งโจทก์และจำเลยไม่อาจอ้างสิทธิใช้ยันต่อรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันเอง หรือโจทก์กับจำเลย บุคคลใดครอบครองทำประโยชน์เป็นเจ้าของมาก่อนย่อมอ้างสิทธิใช้ยันต่อผู้ที่มารบกวนการครอบครองภายหลังได้ ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1375 จำเลยไม่มีสิทธิยกเอาระยะเวลาฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี ตามบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้
ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมิได้กระทำละเมิดจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายนั้น ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงมิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนหลักไม้ที่จำเลยนำไปปักไว้ตามจุดอักษร ค ในแผนที่แสดงอาณาเขตที่ดิน และให้จำเลยรื้อถอนต้นสับปะรดและต้นไม้อื่นของจำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ต่อไป หากไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายของต้นยางพาราแก่โจทก์จำนวน 2,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ไม่อาจเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเนื่องจากจำเลยบุกรุกเข้าครอบครองที่ดินโจทก์เดือนละ 200 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท กับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน 2,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และอัตรา 200 บาท ต่อเดือนนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 เมษายน 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หรือจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายออกจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ 3,000 บาท ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นศาลชั้นต้นส่วนที่เสียมาเกินแก่โจทก์และคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เสียมาเกินแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า …ทั้งโจทก์และจำเลยต่างนำสืบรับกันว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ภายหลังมีกฎหมายเพิกถอนจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และมีการจัดตั้งสหกรณ์ชะแวะ สังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎรที่ถือครองที่ดินอยู่ก่อน โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จึงจะได้สิทธิทำกินและเอกสารสิทธิในที่ดิน แต่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างไม่ผ่านขั้นตอนหลักเกณฑ์ของสหกรณ์ชะแวะ อันจะได้สิทธิทำกินในที่ดินพิพาทตามกฎหมาย การเข้ายึดถือครอบครองย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลให้ราษฎรผู้ครอบครองไม่อาจยกสิทธิใด ๆ ขึ้นโต้แย้งรัฐได้ ที่ดินพิพาทยังคงถือว่าเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันย่อมยกการยึดถือที่ดินเพื่อตนในที่ดินก่อนขึ้นยันคนอื่นที่เข้ามารบกวนได้ ปัญหาว่าระหว่างโจทก์กับจำเลยใครมีสิทธิในที่ดินดีกว่ากัน เห็นว่า นอกจากโจทก์แล้ว โจทก์ยังมีนายนฤทธิ์ นายวีระ นายสุชาติ และนายบุญกิ่ง มาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า โจทก์เป็นเจ้าของครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อนจำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่โจทก์ให้นางเฉลิมเช่าที่ดินพิพาทบางส่วนเพื่อปลูกอ้อย จำเลยก็นำสืบรับว่าได้เป็นคนเขียนสัญญาเช่าดังกล่าว และได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานไว้ด้วยตามสัญญาเช่า พฤติกรรมของจำเลยดังกล่าวเท่ากับยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ หากที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยก็ต้องให้นางเฉลิมทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากจำเลย นอกจากนี้เกี่ยวกับการเสียภาษีที่ดินโจทก์และนายสมศักดิ์บุตรโจทก์ก็เป็นผู้เสียภาษีตามแบบ ภ.บ.ท. 5 โจทก์มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารมาแสดงยืนยัน ส่วนจำเลยมีแต่เพียงคำเบิกความลอย ๆ ทั้งคำกล่าวอ้างของจำเลยก็ไม่มีเหตุผลให้รับฟัง ซึ่งล้วนเป็นข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ส่วนที่จำเลยอ้างว่าได้นำรังวัดทำแผนที่ระวางโดยระบุว่าที่ดินพิพาทแปลงหมายเลข 39 เป็นของจำเลยนั้น หลักฐานดังกล่าวก็มิใช่หลักฐานแสดงสิทธิในที่ดิน เป็นเพียงเมื่อเจ้าหน้าที่มาทำการรังวัดทำแผนที่ระวางดังกล่าว โดยขณะนั้นโจทก์มิได้อยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยซึ่งมีที่ดินอยู่ใกล้เคียงกันจึงได้นำรังวัดที่ดินพิพาทแอบอ้างเป็นของจำเลย หลักฐานดังกล่าวไม่อาจรับฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย อาศัยเหตุผลดังกล่าวมาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ ข้อนี้ดังได้วินิจฉัยแล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ทั้งโจทก์และจำเลยไม่อาจอ้างสิทธิใช้ยันต่อรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันเองหรือโจทก์กับจำเลย บุคคลใดครอบครองทำประโยชน์เป็นเจ้าของมาก่อนย่อมอ้างสิทธิใช้ยันต่อผู้ที่มารบกวนการครอบครองภายหลังได้ ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่ถูกรบกวนการครอบครองนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 จำเลยไม่มีสิทธิยกเอาระยะเวลาฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี ตามบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้
ที่จำเลยฎีกาอีกว่า จำเลยมิได้กระทำละเมิดจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงมิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share