แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่พิพาทให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยร่วมที่ 7 ร้องสอดอ้างว่าที่พิพาทตนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย โจทก์ไม่ใช่เจ้าของ และจำเลยไม่มีอำนาจนำที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยพลการ สัญญาไม่มีผลบังคับจำเลย ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องได้มีอยู่จึงร้องสอดเข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ดังนี้ แม้คำร้องจะกล่าวว่าขอเข้าเป็นจำเลยร่วม และเมื่อศาลสอบถามผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดก็แถลงยืนยันขอเป็นจำเลยร่วมก็ดีแต่เนื้อความแห่งคำร้อง การระบุมาตรา แสดงเหตุแห่งการขอเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามจึงเป็นการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) โดยเป็นจำเลยร่วมที่ 7แล้วพิจารณาและพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งเจ็ดคนแบ่งที่พิพาทให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และใช้ค่าเสียหาย เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าตามคำร้องสอดของจำเลยร่วมที่ 7 เป็นการร้องสอดตามมาตรา 57(1) และมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยคนละประเด็นกับที่จำเลยเดิมต่อสู้ไว้ จึงเป็นเหตุสมควรที่จะให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่แต่ควรให้ดำเนินการพิจารณาใหม่ระหว่างผู้ร้องสอดกับโจทก์เท่านั้น ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีใหม่บางส่วน ส่วนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อผลแห่งคดีของจำเลยและผู้ร้องสอดเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความอันไม่อาจแบ่งแยกได้ ซึ่งมีผลไปถึงเจ้าของรวมคนอื่นคือจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 ด้วยจึงต้องให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 เสียด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยแบ่งที่พิพาทให้โจทก์ และชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่าสัญญาประนีประนอมยอมความที่ตกลงแบ่งให้โจทก์นั้นหมายความว่าทางโจทก์มีสิทธิครอบครองอยู่จริง ๆ เท่านั้นจึงจะแบ่งให้ โจทก์มิได้มีสิทธิครอบครองและสัญญาดังกล่าวหมดข้อผูกพันแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ชั้นชี้สองสถาน จำเลยแถลงรับว่ามีสัญญาประนีประนอมยอมความจริงติดใจเพียงปัญหาว่าจำเลยไม่ต้องผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความและข้อค่าเสียหายศาลชั้นต้นจึงกำหนดประเด็นพิพาทว่า (1) มีข้อตกลงภายหลังเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ (2) ค่าเสียหายเพียงใดให้จำเลยนำสืบก่อน
ก่อนสืบพยานนายกระสินธุ์ คินันท์ กับพวกรวม 6 คน ยื่นคำร้องอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทร่วมกับจำเลย จำเลยไม่มีอำนาจเอาที่พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งกันไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อยังให้ได้รับรองคุ้มครองสิทธิ ผู้ร้องทั้ง 6 จึงร้องสอดเข้าเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นายกระสินธุ์ คินันท์ กับพวกรวม 6 คนเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) จำเลยร่วมทั้ง 6 แถลงขอให้คำให้การ บัญชีพยาน และถือตามประเด็นที่ศาลได้ชี้ไว้แล้วทุกอย่าง
ระหว่างสืบพยาน นางทวีทรัพย์ คุณวุฒิ โดยนายสงุ่น สมบูรณ์ทรัพย์ผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องว่าที่ดินพิพาทตนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย โจทก์ไม่ใช่เจ้าของและจำเลยไม่มีอำนาจนำที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ สัญญาไม่มีผลบังคับจำเลย เพื่อยังให้ได้รับการรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามทสิทธิที่ผู้ร้องมีอยู่ จึงร้องสอดขอเข้ามาเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) แต่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นางทวีทรัพย์ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งศาล
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เรียกนายกระสินธุ์ คินันท์ กับพวกรวม 6 คนว่าจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 ตามลำดับ เรียกนางทวีทรัพย์ คุนาวุฒิ ว่าจำเลยร่วมที่ 7
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยไม่ได้ตกลงถือเอาความเห็นของ ก.ต.ป. ให้เป็นสัญญาบอกล้างสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น จึงพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งเจ็ดคนปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวและร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 อุทธรณ์ มีใจความทำนองเดียวกันว่า สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีผลบังคับ และได้มีข้อตกลงกันภายหลังให้สัญญาประนีประนอมยอมความนั้นระงับไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมที่ 7 อุทธรณ์ ขอเข้าเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 5(1) เพื่อต่อสู้คดีโจทก์ ขอให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คำร้องสอดของนางทวีทรัพย์คุณาวุฒิ จำเลยร่วมที่7 ร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของนางทวีทรัพย์ คุณาวุฒิ ที่มีอยู่ เป็นการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) มีเหตุสมควรต้องพิจารณาคดีระหว่างนางทวีทรัพย์ คุณาวุติ กับโจทก์ใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2) เนื่องด้วยผลแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความอันจะแบ่งแยกจากกันมิได้จึงยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 เสียด้วย พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้นางทวีทรัพย์ คุณาวุฒิเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 7 ร้องสอดเข้ามาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ไม่ชอบ และพยานจำเลยไม่น่าเชื่อว่าได้มีข้อตกลงภายหลังให้จำเลยหลุดพ้นไม่ต้องผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์และชดใช้ค่าเสียหายนางทวีทรัพย์ คุณาวุฒิ จำเลยร่วมที่ 7 ร้องสอดอ้างว่าที่ดินพิพาทตนจนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยโจกท์ไม่ใช่เจ้าของ และจำเลยไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยพลการ สัญญาไม่มีผลบังคับจำเลย ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่ผู้ร้องได้มีอยู่ ดังนี้ เห็นว่าคำร้องสอดของผู้ร้องชัดแจ้งแสดงถึงเหตุการณ์ขอเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเข้าลักษณะเป็นการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) แล้ว เป็นการตั้งข้อพิพาทโต้แย้งกับโจทก์ ซึ่งในการพิจารณาดังกล่าวมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ด้วยความยินยอมของเจ้าของรวมคนอื่นหรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับที่จำเลยเดิมให้การต่อสู้ไว้ ถ้าหากได้ความว่าเจ้าของรวมไม่ได้ให้ความยินยอมแล้วก็ไม่อาจบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ หรือบังคับให้ปฏิบัติได้เพียงบางส่วนเท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 กรณีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาคดีใหม่ และการพิจารณาใหม่เห็นสมควรดำเนินการพิจารณาระหว่างนางทวีทรัพย์ คุณาวุฒิ ผู้ร้องสอด กับโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยซึ่งเป็นการพิจารณาใหม่บางส่วน อนึ่ง เนื่องด้วยผลแห่งคดีของจำเลยและผู้ร้องสอดเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความอันไม่อาจแบ่งแยกได้ ซึ่งมีผลไปถึงเจ้าของรวมคนอื่นด้วย จึงต้องยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจำเลย และจำเลยร่วมที่ ถึงที่ 6 เสียด้วย ที่โจทก์ฎีกาว่าคำร้องของผู้ร้องสอดกล่าวว่าขอยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วม และเมื่อศาลสอบถามผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดก็แถลงยืนยันว่าขอเข้าเป็นคู่ความโดยเป็นจำเลยร่วมอีกย่อมแสดงว่าขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตามมาตรา 57(2) นั้น พิเคราะห์แล้วแม้ว่าคำร้องจะกล่าวว่าขอเข้าเป็นจำเลยร่วม แต่เนื้อความแห่งคำร้องมีลักษณะเป็นการขอเข้ามาตามมาตรา 57(1) ทั้งคำร้องก็ได้ระบุมาตราที่ขอไว้ด้วยคือ มาตรา 57(1) ดังนี้ เห็นว่าคำร้องของผู้ร้องเป็นการขอเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ทั้งนี้เพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน