คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 300/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินเดิมในเขตนิคมอุตสาหกรรมมีระยะเวลาเช่าถึงเดือนธันวาคม 2544 และได้รับการคัดเลือกในการประมูลให้เป็นผู้เช่าต่อไป แต่โจทก์ยังไม่ได้ทำสัญญาเช่าใหม่กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อสัญญาเช่าเดิมหมดสัญญาลงโจทก์ยังไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะเข้าไปบริหารจัดการทำประโยชน์ในที่ดินได้ และยังไม่มีสิทธิเก็บค่าเช่าล็อกจากผู้ประกอบการค้ารายย่อย การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมได้ประกาศเตือนให้ผู้ประกอบการค้ารายย่อยทราบว่า การทำนิติกรรมสัญญาใดๆ เพื่อประกอบการค้าต้องกระทำกับผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้บริหารและจัดการทำประโยชน์ในที่ดินเท่านั้น หากไปทำสัญญากับผู้ไม่ได้รับสิทธิการเช่าและเกิดความเสียหายสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมจะไม่รับผิดชอบเป็นการป้องกันและเตือนผู้ประกอบการค้ารายย่อยเท่านั้น และไม่มีข้อความที่ระบุหรืออ้างถึงตัวโจทก์เลย โจทก์จึงไม่ได้เสียชื่อเสียงหรือเสียหาย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำตามหน้าที่ จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีฐานะเป็นผู้จัดการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ซึ่งเป็นสำนักงานสาขาของการเปิดนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ดูแลและบริหารกิจการภายในของสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางชัน โจทก์มีฐานะเป็นผู้เช่าที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางชัน เพื่อบริหารและจัดการทำประโยชน์ที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางชัน และเป็นเจ้าของศูนย์การค้าและตลาดสดบางชันที่นิคมอุตสาหกรรมบางชันโดยในการบริหารจัดการตลาดสดบางชัน โจทก์มีสิทธิในการที่จะจัดเก็บค่าเช่าล็อกจากผู้ประกอบการค้ารายย่อย (พ่อค้าและแม่ค้าในตลาดสด) ซึ่งมีประมาณเกือบ 100 ราย เป็นรายวัน ทุกๆ วัน ครั้นเมื่อสัญญาเช่าที่ดินใกล้จะครบกำหนดตามสัญญาเช่าจำเลยจึงมีประกาศเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปยื่นซองประมูลเสนอราคา เพื่อทำสัญญาเช่าที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางชั้นแทนโจทก์ ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 ซึ่งเป็นวันยื่นซองประมูลและเปิดซองประมูลเสนอราคา โจทก์เป็นผู้ประมูลที่เสนอราคาผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด โจทก์จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้เช่าที่ดินของการนิคมอุตสาหกรรมบางชันต่อไป เหตุดังกล่าวข้างต้นนี้เองทำให้จำเลยโกรธเคืองโจทก์เป็นการส่วนตัว เพราะจำเลยหวังผลประโยชน์ให้พรรคพวกของจำเลยเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกและเข้ามาบริหารจัดการดูแลศูนย์การค้าและตลาดสดบางชันภายในนิคมอุตสาหกรรมบางชันแทนโจทก์ ดังนั้นจำเลยมิได้มีอำนาจอันชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใด และกระทำการโดยพลการด้วยโมหะส่วนตัว ได้ไขข่าวหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสารเท็จอันฝ่าฝืนต่อความจริงต่อผู้ประกอบการค้ารายย่อย (พ่อค้าแม่ค้า) ในตลาดสดบางชันอันเป็นสาธารณชน โดยมีเจตนาจะทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงและถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากผู้ประกอบการค้ารายย่อยทั้งหลาย ทำให้ผู้ประกอบการค้ารายย่อยทั้งหลายขาดความเชื่อถือในตัวโจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะผู้บริหารจัดการตลาดบางชัน กล่าวคือ เมื่อประมาณวันที่ 28 ธันวาคม 2544 จำเลยและพวกได้ร่วมกันแจกเอกสารประกาศซึ่งลงนามโดยจำเลยอันฝ่าฝืนต่อความจริงต่อประกอบการค้ารายย่อย ณ ศูนย์การค้าและตลาดสดบางชัน ภายในนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหมิ่นประมาทโจทก์ว่า “สัญญาให้สิทธิประโยชน์ในที่ดินนิคมอุตสาหกรรมบางชันของโจทก์จะหมดอายุลงวันที่ 31 ธันวาคม 2544 ระหว่างนี้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินการพิจารณาคัดเลือกผู้บริหารจัดการศูนย์การค้ารายใหม่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางชัน จึงประกาศเตือนผู้ประกอบการค้ารายย่อยในบริเวณพื้นที่ศูนย์การค้านิคมอุตสาหกรรมบางชันทราบว่าการทำนิติกรรมสัญญาใดๆ เพื่อประกอบการค้าในบริเวณดังกล่าว ต้องกระทำกับผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้บริหารจัดการโครงการฯ เท่านั้น หากผู้ประกอบการค้ารายย่อยกระทำนิติกรรมสัญญากับบุคคลใดๆ ซึ่งมิใช่เป็นผู้รับสิทธิอาจเกิดความเสียหายกับตนเองได้ และสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางชันจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้น และเมื่อการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้พิจารณาอนุมัติเลือกบุคคลใดให้เป็นผู้บริหารจัดการโครงการฯ ได้แล้ว จะประกาศให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง ด้วยข้อความตามเอกสารประกาศที่ลงนามโดยจำเลย เป็นการโฆษณาไขข่าวหมิ่นประมาทโดยมีเจตนาจงใจประสงค์ร้ายต่อโจทก์ทั้งสิ้น ทั้งที่จำเลยก็ทราบความจริงโดยตลอดดีอยู่แล้วว่า ระหว่างช่วงวันและเวลาดังกล่าวนี้ โจทก์เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกแล้วให้เป็นผู้บริหารศูนย์การค้าและตลาดสดบางชันต่อไปอีก เพราะโจทก์เป็นผู้ยื่นซองประมูลให้ผลตอบแทนสูงสุด และกำลังอยู่ในระหว่างจะเข้าไปดำเนินการทำสัญญาเช่าที่ดินกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อบริหารศูนย์การค้าและตลาดสดบางชันต่อไป แต่จำเลยกลับโฆษณาไขข่าวให้แพร่หลายเพื่อจงใจต้องการให้ผู้ประกอบการค้ารายย่อยเชื่อว่า ขณะนี้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพียงแต่อยู่ในช่วงกำลังดำเนินการคัดเลือกผู้บริหารรายใหม่เท่านั้น และโจทก์เองก็ยังไม่ได้เป็นผู้รับการคัดเลือก ซึ่งคำว่า “ผู้บริหารรายใหม่” ก็แปลได้ชัดเจนว่า ไม่ใช่ตัวโจทก์เพราะโจทก์เป็นผู้บริหารรายเก่า ที่ดำเนินการบริหารอยู่ก่อนแล้ว ทั้งข้อความหมิ่นประมาทในส่วนที่ว่า “การทำนิติกรรมสัญญาใดๆ เพื่อประกอบการค้าต้องทำกับผู้ได้รับสิทธิเท่านั้น” ยังเป็นการชวนเชื่อให้ผู้ประกอบการค้ารายย่อยเข้าใจว่าจะต้องจ่ายเงินค่าเช่าล็อกรายวันหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2544 ให้แก่บุคคลใดๆ ก็ตามที่จำเลยจะประกาศให้ทราบอีกครั้งในภายหลัง แปลความเจตนาได้ชัดเจนว่า หากว่าวันหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2544 จำเลยประกาศชื่อใครนอกจากตัวโจทก์ ผู้ประกอบการค้ารายย่อยก็ต้องจ่ายเงินค่าเช่าล็อกรายวันให้แก่บุคคลนั้นๆ หรือแม้นว่า หลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2544 จำเลยนี้ยังไม่ได้ประกาศชื่อบุคคลใดๆ ผู้ประกอบการค้ารายย่อยก็ไม่ต้องจ่ายเงินค่าเช่าล็อกรายวันให้แก่ตัวโจทก์ เนื่องจากข้อความอันเป็นเท็จตอนต้นแจ้งให้ทราบแล้วว่า สิทธิของโจทก์จะหมดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2544 ทั้งข้อความในส่วนที่ว่า “หากเกิดความเสียหายใดๆ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางชันจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้น” ก็เป็นข้อความเท็จในส่วนเสริมเติมแต่งชวนเชื่อของจำเลยเท่านั้นเพราะโดยบทบัญญัติของกฎหมายไม่ว่าผู้ประกอบการค้ารายย่อย จะชำระค่าเช่าล็อกรายวันให้แก่บุคคลใดๆ ก็ตาม แม้นมิใช่ตัวโจทก์ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางชันก็ไม่จำต้องรับผิดชอบใดๆ กับผู้ประกอบการค้ารายย่อยเพราะระหว่างนิคมอุตสาหกรรมบางชันกับผู้ประกอบการรายย่อย ไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆ ตามกฎหมายต่อกัน อันจะก่อให้เกิดความรับผิดโดยชอบด้วยกฎหมายแก่นิคมอุตสาหกรรมบางชันได้ ทั้งการที่ผู้ประกอบการค้ารายย่อยจะพึงชำระค่าเช่าล็อกรายวันให้ผู้ใดหรือไม่ อย่างไรก็ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยในฐานะผู้จัดการนิคมอุตสาหกรรมบางชันเลย หลังจากที่จำเลยไขข่าวอันเป็นเท็จโดยโฆษณาด้วยเอกสารให้แพร่หลายดังกล่าวข้างต้นแล้วจำเลยกลับมีหนังสือฉลับลงวันที่ 4 มกราคม 2545 ยืนยันสิทธิของโจทก์ว่าได้รับการคัดเลือกเป็นผู้บริหาร โดยลงนามด้วยตนเองเป็นการบ่งชี้ได้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยทราบดีถึงสิทธิของโจทก์อันพึงมีโดยชอบอาศัยเหตุและผลข้างต้น การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอับอายเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการค้ารายย่อยในตลาดสดบางชันขาดความเชื่อถือในตัวโจทก์ เหยียดหยามในตัวโจทก์ว่าเป็นบุคคลไม่ดี ทั้งยังเป็นคนเห็นแก่ได้ เข้าใจผิดในตัวโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิในการเช่าที่ดินกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแล้ว เพราะยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคัดเลือกบุคคลอื่นเข้ามาเป็นผู้บริหารตลาดสดบางชัน แต่โจทก์กลับมาฉ้อฉลหลอกลวงคดโกงเก็บค่าเช่าล็อกรายวันกับผู้ประกอบการค้ารายย่อยจำนวนมากอีกต่อไป ทั้งที่ไม่มีสิทธิใดๆ โดยชอบแล้ว ทั้งโจทก์ยังได้รับผลกระทบในส่วนของชื่อเสียงและเกียรติยศ คุณงามความดีที่เคยกระทำมาหลายปีจนพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางชันจากชุมชนแออัดให้กลายเป็นศูนย์การค้าและตลาดสดให้ผู้ประกอบการค้ารายย่อยได้มีโอกาสประกอบสัมมาอาชีพค้าขายสินค้าในตลาดบางชันตลอดจนธุรกิจกิจการตลาดสดในละแวกข้างเคียงตลาดสดบางชันของโจทก์ก็ได้รับผลกระทบด้วย คือ ตลาดสดเกรียงไกร ซึ่งตั้งอยู่บนถนนร่มเกล้า เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของตลาดสดอยู่ ทำให้พ่อค้าและแม่ค้าที่ทราบข่าวอันเป็นเท็จดังกล่าว ไม่กล้าที่จะมาทำการลงทุนเช่าล็อกสินค้าในตลาดสดของโจทก์และตลาดสดอ้อมน้อยซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างตลาดสดอยู่ โจทก์ก็ต้องหยุดชะงักในการดำเนินการให้พ่อค้าและแม่ค้าจองสิทธิในการเช่าล็อกไว้ชั่วคราว โจทก์ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นการโฆษณาไขข่าวอันเป็นเท็จใส่ความโจทก์อย่างร้ายแรง และเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติยศของโจทก์และวงศ์ตระกูลโจทก์เป็นอย่างมาก ทั้งเป็นที่เสียหายในทางทำมาหากินและในทางเจริญเติบโตในฐานะผู้ประกอบการกิจการเจ้าของตลาดสด เพราะโจทก์ดำเนินกิจการดังกล่าวด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จนเป็นที่เชื่อถือแก่พ่อค้าและแม่ค้าโดยทั่วไปมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายปี จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย โดยโจทก์ขอคิดเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 100,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องโจทก์เป็นการกระทำที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินเดิมในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ซึ่งเป็นสำนักงานสาขาของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อบริหารจัดการทำประโยชน์ที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางชัน มีระยะเวลาเช่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2544 ถึงเดือนธันวาคม 2544 มาก่อน และได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้เช่าที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางชันต่อไป ในฐานะที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ยื่นซองประมูล เสนอราคาและผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดแก่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็ตาม แต่โจทก์ก็ยังไม่ได้ทำสัญญาเช่าตามที่ได้ประมูลการเช่าใหม่กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดังนั้นเมื่อสัญญาเช่าของโจทก์ตามสัญญาเช่าเดิมที่จะครบกำหนดภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2544 หมดสัญญาลง หากโจทก์ยังไม่ได้ทำสัญญาเช่าใหม่ตามที่ได้ประมูลไว้กับนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โจทก์ยังไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะเข้าไปบริหารจัดการทำประโยชน์ในที่ดินเขตนิคมอุตสาหกรรมบางชันได้ และยังไม่มีสิทธิเก็บค่าเช่าล็อกจากผู้ประกอบการค้ารายย่อยในตลาดสด การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางชันได้ประกาสเตือน ให้ผู้ประกอบการค้ารายย่อยในบริเวณพื้นที่ศูนย์การค้านิคมอุตสาหกรรมบางชันทราบว่า การทำนิติกรรมสัญญาใดๆ เพื่อประกอบการค้าในนิคมอุตสาหกรรมบางชันต้องกระทำกับผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้บริหารและจัดการทำประโยชน์ในที่ดินเท่านั้น หากไปทำสัญญากับผู้ไม่ได้รับสิทธิการเช่าและเกิดความเสียหายสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมจะไม่รับผิดชอบซึ่งก็เป็นการป้องกันและเตือนผู้ประกอบการค้ารายย่อยให้ทำสัญญากับผู้ได้รับสิทธิการบริหารจัดการจากการนิคมอุตสาหกรรมบางชันเท่านั้น เพราะอาจมีผู้ไม่หวังดีมาหลอกลวงแอบอ้างว่าได้รับสิทธิและเรียกร้องผลประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายกับผู้ประกอบการค้ารายย่อยและการนิคมอุตาหกรรมบางชันได้ ทั้งประกาศดังกล่าวของจำเลยกลับน่าจะเป็นประโยชน์ต่อโจทก์เองในฐานะผู้ประมูลได้สิทธิการเช่าต่อไป เมื่อได้ทำสัญญาถูกต้องตามที่ได้รับการคัดเลือกในฐานะผู้ประมูลการเช่าต่อไปแล้วและในประกาศดังกล่าวก็ไม่มีข้อความตอนไหนที่ระบุหรืออ้างถึงตัวโจทก์เลย โจทก์จึงไม่ได้เสียชื่อเสียงหรือเสียหายดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยดังกล่าวตามฟ้องเป็นการกระทำตามหน้าที่ จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น “ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share