คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8973/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 20 และมาตรา 120 มิได้มีข้อความตอนใดที่ระบุเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบ หรือระบุว่าหน้าที่นำสืบตกอยู่แก่ฝ่ายจำเลย ฉะนั้นเรื่องหน้าที่นำสืบและการวินิจฉัยพยานหลักฐานย่อมเป็นไปตามหลักที่ใช้ทั่วไปแก่คดีอาญาทั้งปวง คือโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 และจะลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ก็ต่อเมื่อพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังโดยปราศจากความสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
จำเลยที่ 1 วางแผนการฟ้องคดีเพื่อให้มีการยึดทรัพย์รถยนต์ของกลางซึ่งนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้เสียอากรออกขายทอดตลาด แล้วจำเลยที่ 1 เข้าสู้ราคาแต่เพียงผู้เดียว เมื่อประมูลซื้อจากการขายทอดตลาดได้ ก็นำไปจดทะเบียนเพื่อให้ได้ทะเบียนรถยนต์ใหม่แล้วนำไปขายต่อ ถือได้ว่าเป็นการช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง หรือโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2524 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2524 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด มีผู้ลักลอบนำรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นโคโรน่า หมายเลขเครื่องยนต์ 3 ที 5167893 หมายเลขตัวถัง ที ที 132-915207 จำนวน 1 คัน ราคา 221,655 บาท ซึ่งเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดและผลิตในต่างประเทศและเป็นของต้องจำกัดในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรที่ยังมิได้เสียภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยการขับเข้ามาในราชอาณาจักรไทยผ่านชายแดนแห่งใดไม่ปรากฏชัดแล้วนำมาใช้ในเขตจังหวัดขอนแก่น กรุงเทพมหานคร และจังหวัดมหาสารคาม ตามลำดับ โดยมิได้รับอนุญาตให้นำเข้า โดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลที่จะต้องเสียเป็นเงิน 292,510 บาท เมื่อรวมกับราคารถแล้วเป็นเงินจำนวน 514,165 บาท หลังจากนั้นระหว่างกลางปี 2533 วันเดือนใดไม่ปรากฏชัดถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2533 มีผู้พบเห็นจำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2533 ถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2533 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสังกัดกระทรวงยุติธรรม ตำแหน่งจ่าศาลจังหวัดมหาสารคาม มีหน้าที่ควบคุมดูแลงานธุรการของศาลชั้นต้น มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารและเสนอเอกสารต่างๆ ที่มีถึงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมหาสารคามเพื่อสั่งการทำหนังสือที่ ยธ 0200.410/2954 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2533 ไปถึงขนส่งจังหวัดมหาสารคามเพื่อขอแก้ไขหมายเลขเครื่องยนต์ของรถยนต์ซึ่งมีการบังคับคดีนำออกขายทอดตลาดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สำนักงานขนส่งจังหวัดมหาสารคามดำเนินการจดทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ซื้อรถยนต์จากการขายทอดตลาด จากหมายเลขเครื่องยนต์ 3 ที 5187893 เป็นหมายเลขเครื่องยนต์ 3 ที 5167893 ซึ่งเป็นหมายเลขเครื่องยนต์ของรถที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรดังกล่าว เพื่อให้ขนส่งจังหวัดมหาสารคาม เชื่อว่ารถยนต์คันหมายเลขเครื่องยนต์ 3 ที 5167893 เป็นรถยนต์ที่นำเข้าโดยถูกต้องและเป็นรถยนต์คันเดียวกันกับรถยนต์ที่ศาลมีคำสั่งนำออกขายทอดตลาด อันเป็นการรับรองเป็นพยานหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันอันเท็จ ทำให้สำนักงานขนส่งจังหวัดมหาสารคามหลงเชื่อว่าเป็นความจริงและรับจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 พร้อมกับเปลี่ยนทะเบียนเป็นหมายเลขทะเบียน ก – 1093 มหาสารคาม อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้สำนักงานขนส่งจังหวัดมหาสารคามและศาลชั้นต้นได้รับความเสียหาย ทั้งนี้โดยระหว่างวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวข้างต้นจำเลยทั้งสองกับพวกที่หลบหนีร่วมกันลักลอบนำพารถยนต์คันดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร และหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรโดยเจตนาฉ้อภาษีศุลกากรของรัฐบาล หรือมิฉะนั้นระหว่างวันเวลาดังกล่าวถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2533 จำเลยทั้งสองร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสียหรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งรถยนต์คันดังกล่าวโดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเป็นรถยนต์ที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร และข้อจำกัด เหตุทั้งหมดเกิดที่ทุกท้องที่ ตำบล อำเภอ จังหวัดชายแดนแห่งราชอาณาจักรและตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคามเกี่ยวพันกัน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2536 เจ้าพนักงานยึดได้รถยนต์คันดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 157, 162 (4) พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 27 ทวิ ริบรถยนต์ของกลางและนับโทษของจำเลยทั้งสองต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1744/2536 ของศาลชั้นต้น (ต่อมาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 2245/2544 ของศาลชั้นต้น)
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยทั้งสองในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (4) การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารซึ่งรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จกับฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตของจำเลยที่ 2 นั้น เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี ให้นับโทษของจำเลยทั้งสองต่อจากโทษของจำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2245/2544 ของศาลชั้นต้นและริบรถยนต์ของกลาง ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายจึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีการับฟังได้ยุติว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2533 จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องนายไสวเรื่องผิดสัญญากู้ยืมที่ศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ปรากฏว่านายไสวชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตั้งจำเลยที่ 2 ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นจ่าศาลชั้นต้นเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีจำเลยที่ 1 นำจำเลยที่ 2 ไปยึดรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า โคโรน่าลิฟต์แบค หมายเลขตัวถัง ทีที 132-915207 หมายเลขเครื่อง 3 ที 5187893 ไม่มีหมายเลขทะเบียนที่อู่รถยนต์ของนายไสว นอกจากนั้นจำเลยที่ 2 ประกาศขายทอดตลาด ในวันขายทอดตลาดคือวันที่ 18 กรกฎาคม 2533 จำเลยที่ 1 เข้าสู้ราคาเพียงผู้เดียวให้ราคา 73,000 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขายให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2533 ศาลชั้นต้นมีหนังสือถึงขนส่งจังหวัดมหาสารคามให้ดำเนินการจดทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 1 วันที่ 26 กรกฎาคม 2533 จำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงขนส่งจังหวัดมหาสารคามว่าเกิดการผิดพลาดในการพิมพ์เลขเครื่องยนต์ ซึ่งเลขเครื่องยนต์คือ 3 ที 5167893 ขนส่งจังหวัดมหาสารคามจึงจัดทำทะเบียนรถขึ้นใหม่คือหมายเลข ก – 1093 มหาสารคาม สำหรับรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ไปขายให้แก่นายสมพงศ์ในราคาเพียง 250,000 บาท หลังจากนายสมพงศ์ใช้รถคันดังกล่าวมานาน 2 ปีเศษ ได้ทราบข่าวทางหนังสือพิมพ์ว่ามีกลุ่มบุคคลค้าขายรถยนต์ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เสียภาษีศุลกากรโดยใช้วิธีฟ้องคดีให้มีการยึดทรัพย์แล้วนำออกขายทอดตลาด นายสมพงศ์เชื่อว่ารถยนต์คันที่ซื้อมาจากจำเลยที่ 1 ได้มาจากการกระทำดังกล่าวด้วย จึงนำรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งเป็นของกลางในคดีนี้ไปส่งมอบให้แก่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองมหาสารคามเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2536 และร้องทุกข์ว่าถูกจำเลยที่ 1 ฉ้อโกง ภริยาจำเลยที่ 1 คืนเงินให้แก่นายสมพงศ์เป็นเงิน 125,000 บาท ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2536 อธิบดีกรมตำรวจมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวนกรณีมีกลุ่มคนร้ายนำรถยนต์ซึ่งไม่มีหมายเลขทะเบียนไปขอจดทะเบียนกับสำนักงานขนส่งจังหวัดต่างๆ โดยปลอมคำสั่งศาลจังหวัดมหาสารคามว่าซื้อรถยนต์มาจากการขายทอดตลาดของศาลจังหวัดมหาสารคาม และเมื่อได้จดทะเบียนรถยนต์ใหม่แล้วจะนำออกขายต่อ ตามสำเนาคำสั่งเอกสารหมาย จ.3 พนักงานสอบสวนทำการสืบสวนสอบสวนแล้วมีหนังสือตามเอกสารหมาย ป.จ.17 ขอถอนทะเบียนรถยนต์ของกลาง และสำนักงานขนส่งจังหวัดมหาสารคามประกาศยกเลิกทะเบียนรถยนต์ของกลางแล้วตามเอกสารหมาย ป.จ.19 ในส่วนของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องข้อหาร่วมกันนำรถยนต์ของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร โจทก์ไม่อุทธรณ์ ข้อหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และในส่วนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 2 จึงระงับไป ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 จากสารบบความแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า กรณีมีข้อสันนิษฐานของกฎหมายเรื่องหน้าที่นำสืบว่าตกอยู่แก่ฝ่ายจำเลยหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรเป็นกฎหมายเฉพาะ ซึ่งระบุไว้ว่าถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดได้กระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 20 และ 120 ก็เป็นความผิด หน้าที่นำสืบพยานเพื่อหักล้างข้อสงสัยอยู่ที่จำเลย มิใช่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่นำสืบว่ารถยนต์ของกลางนี้ได้มีการนำเข้าและเสียภาษีโดยถูกต้องครบถ้วนจึงไม่มีความผิดนั้น เห็นว่า บทบัญญัติตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาคือพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 20 บัญญัติว่า “ถ้าพบผู้ใดกำลังกระทำผิด หรือพยายามจะกระทำผิด หรือใช้หรือช่วยหรือยุยงให้ผู้อื่นกระทำผิดต่อบทพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจจับผู้นั้นได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ และนำส่งยังสถานีตำรวจพร้อมด้วยของกลางที่เกี่ยวกับการกระทำผิดหรือพยายามจะกระทำผิด เพื่อจัดการตามกฎหมาย และถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดได้กระทำผิดพระราชบัญญัตินี้ก็ดีหรือมีสิ่งของไปกับตัวอันเป็นของที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมาแล้ว หรืออาจได้กระทำผิดขึ้นก็ดีพนักงานเจ้าหน้าที่อาจจับผู้นั้นส่งไปจัดการโดยทำนองเดียวกัน แต่ถ้าบุคคลที่ถูกจับนั้นอยู่ใต้อำนาจศาลกงสุลต่างประเทศให้ส่งต่อไปยังกงสุลของผู้นั้นโดยไม่เนิ่นช้า” และมาตรา 120 บัญญัติว่า “เมื่อใดบทพระราชบัญญัตินี้แตกต่างกับบทกฎหมาย พระราชบัญญัติหรือประกาศอื่นที่ใช้อยู่ ณ บัดนี้ ท่านว่าในเรื่องอันเกี่ยวแก่ศุลกากรนั้น ให้ยกเอาบทพระราชบัญญัตินี้ขึ้นบังคับ และกฎหมาย พระราชบัญญัติหรือประกาศใดซึ่งจะได้ให้ใช้ภายหน้านั้นมิให้ถือว่าเพิกถอน จำกัด เปลี่ยนแปลง หรือถอนไปเสียซึ่งอำนาจและบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ เว้นไว้แต่ในกฎหมาย พระราชบัญญัติหรือประกาศใหม่นั้นจะแสดงไว้โดยชัดแจ้งว่ามีความประสงค์ให้เป็นไปเช่นนั้น” จากบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว หาได้มีข้อความตอนใดที่ระบุเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบ หรือระบุว่าหน้าที่นำสืบตกอยู่แก่ฝ่ายจำเลยดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ฉะนั้นเรื่องหน้าที่นำสืบและการวินิจฉัยพยานหลักฐานย่อมเป็นไปตามหลักที่ใช้ทั่วไปแก่คดีอาญาทั้งปวง คือโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 และจะลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ก็ต่อเมื่อพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังโดยปราศจากความสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 27 ทวิ แห่งบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามหรือข้อจำกัดมีความผิดต้องระวางโทษ…” และโจทก์กล่าวในคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสียหรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งรถยนต์คันดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเป็นรถยนต์ที่ผู้อื่นลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรที่จะต้องเสียเป็นเงิน 268,228 บาท และโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กรณีจึงต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า รถยนต์ของกลางเป็นรถยนต์ที่ผู้อื่นนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร หรือหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทอุดมศักดิ์ พันตำรวจเอกพิรุณ พันตำรวจโทศักดาเป็นพยานเบิกความยืนยัน พยานทั้งสามได้รับการแต่งตั้งจากอธิบดีกรมตำรวจให้เป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนกรณีมีกลุ่มคนร้ายนำรถยนต์ซึ่งไม่มีทะเบียนไปขอจดทะเบียนกับสำนักงานขนส่งจังหวัดต่างๆ โดยปลอมเอกสารและคำสั่งศาลจังหวัดมหาสารคามว่าได้ซื้อรถมาจากการขายทอดตลาดของศาลจังหวัดมหาสารคาม เมื่อได้จดทะเบียนรถยนต์แล้วก็จะนำออกขายต่อ พันตำรวจโทอุดมศักดิ์สืบสวนทราบว่าการนำรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรมีได้ 2 กรณี คือ กรณีที่หนึ่ง ตัวแทนหรือบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด สั่งนำรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักร กรณีที่สอง บุคคลนำรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรด้วยตนเอง จะต้องขออนุญาตฝ่ายกองการสินค้าทั่วไป กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พันตำรวจเอกพิรุณจึงมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.4 สอบถามไปยังบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่านำรถยนต์ของกลางเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยหรือไม่ โดยระบุหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังไปด้วย บริษัทดังกล่าวมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.5 ตอบว่าไม่ปรากฏหลักฐานการสั่งรถยนต์คันดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายแต่ประการใด พันตำรวจเอกพิรุณมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.7 สอบถามไปยังผู้อำนวยการกองการสินค้าทั่วไป 2 กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ว่า มีผู้ใดขออนุญาตนำเข้ารถยนต์ของกลางผ่านกรมการค้าต่างประเทศหรือไม่ ได้รับหนังสือตอบตามเอกสารหมาย จ.8 ว่า ไม่พบว่ามีการขอนุญาตนำเข้ารถยนต์ของกลางจากกรมการค้าต่างประเทศ นอกจากนี้พันตำรวจเอกพิรุณตรวจสอบเรื่องรถยนต์ที่ถูกแจ้งหายปรากฏว่าไม่มีการแจ้งหายของรถยนต์ของกลางตามเอกสารมาย ป.จ.4 ถึง ป.จ.7 และได้ส่งรถยนต์ของกลางไปตรวจพิสูจน์ที่กองวิทยาการพิสูจน์หลักฐานภาค 2 ได้รับแจ้งผลการตรวจตามเอกสารหมาย ป.จ.9 และ ป.จ.10 ว่าไม่พบการขูดลบแก้ไขที่บริเวณเลขหมายประจำเครื่องยนต์ และเลขหมายประจำตัวถังของรถยนต์ทั้งนายสมพงศ์เป็นพยานเบิกความว่า รถยนต์ของกลางประกอบจากต่างประเทศ นายสมพงศ์จึงอยากได้และต้องการซื้อ เมื่อรถยนต์ของกลางประกอบจากต่างประเทศ แต่ไม่มีหลักฐานว่าถูกขโมยมา ไม่มีหลักฐานการนำเข้าจากบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือจากกรมการค้าต่างประเทศ มีเลขหมายประจำเครื่องยนต์และเลขหมายประจำตัวถังรถยนต์ถูกต้อง แต่ไม่มีทะเบียนรถยนต์และไม่มีหลักฐานการเสียภาษีใดๆ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า รถยนต์ของกลางเป็นรถยนต์ที่ผู้อื่นนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 1 ช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งรถยนต์คันดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าเป็นรถยนต์ที่ผู้อื่นลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรที่จะต้องเสียหรือโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายประวิทย์เป็นพยานเบิกความว่าเมื่อประมาณปี 2533 พยานเป็นทนายความให้แก่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องนายไสวเป็นคดีแพ่งที่ศาลชั้นต้นให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.10 จำนวนเงินกู้ 80,000 บาท นายไสวไปติดต่อกับจำเลยที่ 1 ขอทำสัญญาประนีประนอมยอมความ พยานจึงแนะนำให้นายไสวไปติดต่อกับจำเลยที่ 1 ขอทำสัญญาประนีประนอมยอมความ พยานจึงแนะนำให้นายไสวไปติดต่อกับนายณรงค์ทนายความอีกคนหนึ่งเพื่อแต่งตั้งให้เป็นทนายความ นายไสวแต่งตั้งนายณรงค์ให้เป็นทนายความให้ หลังจากนั้นคู่ความตกลงกันได้ พยานจึงยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าคดีตกลงกันได้แล้วตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.11 ขอให้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.12 หลังจากนั้นนายไสวไม่ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ พยานจึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตั้งจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดี พยานนำจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปยึดรถยนต์ที่อู่รถของนายไสว ตามบันทึกการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย จ.16 นายณรงค์เป็นพยานเบิกความว่าเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2533 พยานได้รับโทรศัพท์จากนายประวิทย์ว่านายประวิทย์เป็นทนายโจทก์ยื่นฟ้องคดีแพ่งเรื่องเงินกู้ คู่ความประสงค์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จะให้ฝ่ายจำเลยมาติดต่อกับพยานเพื่อแต่งตั้งเป็นทนายฝ่ายจำเลยเพื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งโจทก์ในคดีดังกล่าวคือจำเลยที่ 1 ฝ่ายจำเลยคือนายไสว พยานตกลงเป็นทนายความให้และให้นายไสวลงชื่อในใบแต่งทนายความ หลังจากนั้นพยานเดินทางไปที่สำนักงานของนายประวิทย์ เมื่อนายประวิทย์พิมพ์สัญญาประนีประนอมยอมความเสร็จแล้วจึงพากันไปที่ศาลชั้นต้นเพื่อยื่นคำแถลงขอให้ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วพยานไม่ได้เกี่ยวข้องอีก ส่วนนายไสวเป็นพยานเบิกความว่าพยานไม่ทราบว่าเคยถูกฟ้องที่ศาลชั้นต้นเรื่องกู้ยืมเงิน ไม่เคยเห็นสำเนาคำฟ้องตามเอกสารหมาย จ.9 ลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.10 ไม่ใช่ลายมือชื่อของพยาน พยานรู้จักจำเลยที่ 1 และเคยกู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 40,000 บาทเศษ และผ่อนชำระหนี้มาโดยตลอด บางครั้งจำเลยที่ 1 ก็นำรถยนต์ไปซ่อมที่อู่ของพยานและหักหนี้ค่าซ่อมกัน ต่อมามีเจ้าหน้าที่นำหมายบังคับคดีจากศาลชั้นต้นไปแจ้งแก่พยานว่าจะยึดทรัพย์พยาน ต่อมาอีก 2 ถึง 3 วัน จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ลิฟต์แบค ไปจอดที่อู่รถของพยานและแจ้งแก่พยานว่า จะมีเจ้าหน้าที่ศาลไปยึดรถยนต์คันดังกล่าว นายไสวโต้แย้งว่าทำไมมาจอดที่นี่ จำเลยที่ 1 บอกว่าไม่มีปัญหาอะไร ทำตามกฎหมายทุกอย่าง พยานจึงยอมให้จอดเนื่องจากเกรงใจกัน ต่อมาในตอนเย็นจำเลยที่ 1 ก็นำจำเลยที่ 2 ไปยึดรถยนต์ของกลางโดยพยานไม่ได้ลงชื่อในเอกสารใดๆ ต่อมาอีก 2 ถึง 3 วัน จำเลยที่ 1 ก็ขับรถยนต์คันดังกล่าวไป ครั้นเมื่อมีการขายทอดตลาดข้อเท็จจริงก็ยุติแล้วว่ามีจำเลยที่ 1 เป็นผู้เข้าสู้ราคาแต่เพียงผู้เดียว ศาลชั้นต้นจึงอนุญาตให้ขายให้แก่จำเลยที่ 1 นายสนอง ดาบตำรวจพิพัฒน์และนายสมเกียรติเจ้าหน้าที่ในสำนักงานขนส่งจังหวัดมหาสารคามเป็นพยานเบิกความยืนยันในทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 1 ไปยื่นเรื่องขอจดทะเบียนรถยนต์ของกลางโดยแจ้งว่าประมูลซื้อมาจากการขายทอดตลาดของศาลชั้นต้น เมื่อมีการตรวจสภาพรถและหนังสือยืนยันหมายเลขเครื่องยนต์ของจำเลยที่ 2 แล้ว จึงออกทะเบียนรถยนต์หมายเลข ก – 1093 มหาสารคาม ให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำไปขายให้แก่นายสมพงศ์ ซึ่งพยานแต่ละคนดังกล่าวต่างก็เบิกความถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามส่วนที่รู้เห็น ทั้งพยานแต่ละคนไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน ไม่น่าเชื่อว่าจะเบิกความเพื่อปรักปรำจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 แต่งตั้งนายประวิทย์ให้เป็นทนายความฟ้องคดีเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2533 ตามสำเนาฟ้องเอกสารหมาย จ.9 ถึงวันที่ขายทอดตลาดเสร็จสิ้นคือวันที่ 18 กรกฎาคม 2533 ตามรายงานของจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย จ.21 ใช้เวลาไม่ถึง 2 เดือน โดยนายไสวไม่ได้รู้เห็นเรื่องที่ถูกฟ้อง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังข้อเท็จจริงได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 วางแผนการฟ้องคดีเพื่อให้มีการฟ้องคดีเพื่อให้มีการยึดทรัพย์รถยนต์ของกลางซึ่งนำเข้ามาในราชอาณาจักโดยมิได้เสียอากรออกขายทอดตลาด แล้วจำเลยที่ 1 เข้าสู่ราคาแต่เพียงผู้เดียวเมื่อประมูลซื้อจากการขายทอดตลาดได้ ก็นำไปจดทะเบียนเพื่อให้ได้ทะเบียนรถยนต์ใหม่แล้วนำไปขายต่อให้แก่นายสมพงศ์ การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องหรือโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับว่า ในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share