แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในครั้งแรก โจทย์ยื่นคำขอในเหตุฉุกเฉินพร้อมคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาอีกฉบับหนึ่ง และศาลชั้นต้นได้ยกคำขอในเหตุฉุกเฉินนั้นทำให้คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฉบับที่ยื่นมาพร้อมกันนั้นตกไปด้วย ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 267 วรรคสาม การที่ศาลยกคำขอในเหตุฉุกเฉินย่อมไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำขอตามมาตรา 254 ใหม่ โจทก์จึงมีสิทธิยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาอย่างวิธีธรรมดาซึ่งเป็นฉบับที่สองได้อีก แม้ต่อมาก่อนศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งตามคำร้องฉบับที่สองนั้น โจทก์จะได้ยื่นคำขอในเหตุฉุกเฉินพร้อมกับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเข้ามาอีก และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องในวันเดียวกันนั้นเอง ก็มีผลเป็นการยกคำขอในเหตุฉุกเฉินและทำให้คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวที่ยื่นมาพร้อมกันนั้นตกไปด้วยเท่านั้น จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเช่นดียวกันนั้นอีก ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาซึ่งเป็นฉบับที่สองที่โจทก์ยื่นไว้ก่อนได้ กรณีจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถพ่วง จากจำเลยรวม 12 คันโจทก์ชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาแล้ว แต่จำเลยไม่ดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์ดังกล่าว ให้แก่โจทก์ จึงขอให้บังคับจำเลยโอนทะเบียนรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงตามฟ้องให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าโจทย์เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงจำนวน 12 คัน จากจำเลย แต่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญา จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงที่เช่าซื้อคืนแก่จำเลย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงินจำนวน 4,220,000 บาท และให้โจทย์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 900,000 บาท และค่าเสียหายอีกวันละ 800 บาท ต่อรถยนต์บรรทุก 1 คัน และวันละ 500 บาทต่อรถพ่วง 1 คัน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะส่งมอบรถพิพาทคืนจำเลยในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีหรือใช้ราคาแทน
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2544 โจทย์ยื่นคำร้องในเหตุฉุกเฉินพร้อมคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงพิพาทรวม 12คัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุฉุกเฉิน ให้ยกคำร้อง
ต่อมาในวันที่ 9 เมษายน 2544 นั้นเอง โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2544 จำเลยมอบอำนาจให้นายอำนวยกับพวก ยึดรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงรวม 5 คัน ขณะรถอยู่ในความครอบครองของโจทก์ แต่โจทก์โต้แย้งสิทธิ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา จึงรับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไว้เพื่อจะตรวจสอบเอกสารในวันที่ 10 เมษายน 2544 การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์และเป็นการผิดสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับรถยนต์บรรทุกพิพาทรวม 12 คัน และห้ามจำเลยกระทำการละเมิดสิทธิการครอบครอง ของโจทก์ในระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้องหมายแจ้งวันนัดพร้อมส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยทราบ
วันที่ 11 เมษายน 2544 ก่อนถึงวันนัดไต่สวนและก่อนจำเลยได้รับสำเนาคำร้องโจทก์ยื่นคำร้องในเหตุฉุกเฉินพร้อมคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาว่าเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2544 โจทก์นำหลักฐานเกี่ยวกับรถยนต์บรรทุกพิพาทพร้อมสำเนาคำฟ้องและคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวแสดงแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปักธงชัยแล้ว แต่พนักงานสอบสวนดังกล่าวแจ้งว่าจะคืนรถยนต์บรรทุกที่ผู้รับมอบอำนาจจำเลยยึดจากโจทก์ให้แก่จำเลย เนื่องจากจำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของรถตามสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ โจทก์จึงขอเวลานำคำสั่งศาลไปแสดงภายในวันที่ 12 เมษายน 2544 เพื่อมิให้พนักงานสอบสวนส่งมอบรถยนต์บรรทุกดังกล่าวแก่จำเลยการกระทำของผู้รับมอบอำนาจจำเลยตามคำสั่งของจำเลยที่ใช้กำลังยึดรถยนต์บรรทุกพิพาทรวม 6 คัน จากโจทก์เป็นการจงใจกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไป ซึ่งการละเมิดสิทธิของโจทก์หรือผิดสัญญาหรือที่ถูกฟ้องร้อง และเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่อาจนำรถไปใช้ขนส่งน้ำมันให้แก่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย คำสั่ง ของพนักงานสอบสวนที่ให้ส่งมอบรถยนต์บรรทุกแก่จำเลยเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องและห้ามจำเลยกระทำการละเมิดสิทธิการครอบครองรถยนต์บรรทุกพิพาทรวม 12 คัน ไว้ในระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ในวันเดียวกันว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์เช่าซื้อรถยนต์และชำระค่าเช่าซื้อครบแล้ว โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์และมีคำขอให้จำเลยโอนทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์ในระหว่างการดำเนินคดี โจทก์อ้างว่าจำเลยยึดรถยนต์ไว้ ซึ่งเป็นการกระทำต่างหากจากการฟ้องคดีนี้โจทก์ชอบที่จะดำเนินการเป็นคดีใหม่ หาอาจร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในคดีนี้ได้ไม่ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 ยกคำร้อง
จำเลยยื่นคำคัดค้านคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์ฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2544 ว่า โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยโอนทะเบียนรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงรวม 12 คัน ให้แก่โจทก์เพื่อมิให้จำเลยติดตามยึดรถคืน ทั้งที่โจทก์ไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลย หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ตามที่โจทก์ขอจะทำให้โจทก์สามารถใช้รถยนต์พิพาทโดยไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อ แม้ในที่สุดจำเลยจะชนะคดี แต่รถยนต์ดังกล่าวย่อมเสื่อมสภาพจนไม่อาจใช้การได้ ซึ่งจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ทั้งการที่โจทก์ร้องขอคุ้มครองชั่วคราวนี้ยังเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำเนื่องจากโจทก์เคยยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฉบับวันที่ 11 เมษายน 2544 โดยอาศัยเหตุเดียวกับคำร้องฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2544 นี้ และศาลมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวโดยวินิจฉัยประเด็นแห่งคำร้องแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องขัดขวางการใช้ประโยชน์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อของโจทก์ในระหว่างพิจารณา และให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 70-0256 อุบลราชธานี, 70-0257 อุบลราชธานี, 70-0258 อุบลราชธานี, 70-0278 อุบลราชธานี และ 70-0279 อุบลราชธานี คืนแก่โจทก์โดยให้โจทก์วางเงินประกันค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาทต่อคันนับแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป ทั้งนี้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครอง ชั่วคราวก่อนพิพากษาฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2544 และศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2544 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับการดำเนินกระบวนพิจารณาสั่งตามคำขอในเหตุฉุกเฉินพร้อมกับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของ โจทก์ฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2544 หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2544 ดังกล่าวในครั้งแรก โจทก์ได้ยื่นคำขอในเหตุฉุกเฉินพร้อมคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาอีกฉบับหนึ่งและศาลชั้นต้นได้ยกคำขอในเหตุฉุกเฉินนั้น ทำให้คำร้องขอคุ้มครองชั่งคราวฉบับที่ยื่นมาพร้อมกันนั้นตกไปด้วย ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267 วรรคสาม การที่ศาลยกคำขอในเหตุฉุกเฉินย่อมไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำขอตามมาตรา 254 นั้นใหม่ โจทก์จึงมีสิทธิยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาอย่างวิธีธรรมดาฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2544 ซึ่งเป็นฉบับที่สองดังกล่าวได้อีกแม้ต่อมาก่อนศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งตามคำร้องฉบับดังกล่าวนั้น โจทก์จะได้ยื่นคำขอในเหตุฉุกเฉินพร้อมกับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2544 เข้ามาอีก และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องในวันเดียวกันนั้นเองก็มีผลเป็นการยกคำขอในเหตุฉุกเฉินและทำให้คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ยื่นมาพร้อมนั้นตกไปด้วยเท่านั้น จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเช่นเดียวกันนั้นอีก ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2544 ที่โจทก์ยื่นไว้ก่อนได้ กรณีจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่าโจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาได้หรือไม่เห็นว่าโจทก์ฟ้องว่าโจทก์เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงจากจำเลยจำนวน 12 คัน ชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่ยอมโอนทะเบียนรถดังกล่าวให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยโอนทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์มอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนพร้อมกับใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลย จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยต่างอ้างกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ ในการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โจทก์มีนายจิรเดช ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า โจทก์เช่าซื้อรถยนต์จากจำเลย 12 คัน โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว จึงได้สอบถามให้จำเลยโอนทะเบียนรถให้จำเลยอ้างว่าโอนทะเบียนรถให้ไม่ได้ เพราะโจทก์ยังค้างชำระเบี้ยปรับในการชำระหนี้ล่าช้า และยังได้อ้างว่าจำเลยให้ใบเสร็จรับเงินงวดสุดท้ายแล้วตามสัญญาเช่าซื้อใบสำคัญจ่าย ใบเสร็จรับเงิน และรายการจดทะเบียน เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2544 พนักงานของจำเลยได้ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อจำนวน 6 คัน เป็นรถยนต์ที่พิพาทในคดีนี้ 5 คัน โจทก์ให้คนขับรถยืนยันว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์และอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องที่ศาล เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา จึงดูแลรักษารถดังกล่าวไว้ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี โจทก์ได้ทำสัญญาขนส่งน้ำมันกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เพื่อขนส่งน้ำมันจากจังหวัดระยองไปที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยระบุหมายเลขทะเบียนรถจำนวน 12 คันดังกล่าวไว้ด้วย ตามสัญญาจ้างเหมา โจทก์ไม่สามารถนำรถยนต์บรรทุกน้ำมันคันอื่นไปบรรทุกน้ำมันแทนได้ หากโจทก์ไม่สามารถขนส่งน้ำมันให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้โจทก์อาจถูกปรับหรือถูกบอกเลิกสัญญาได้ พยานหลักฐานของโจทก์ในชั้นนี้ฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงรวม 12 คัน จากจำเลย และได้ชำระราคาค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายแล้ว จำเลยยังไม่ได้โอนทะเบียนรถให้แก่โจทก์คดีมีมูลว่าโจทก์อาจชำระราคาค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้วโดยไม่ได้ผิดสัญญากรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อจึงอาจตกเป็นของโจทก์ และจำเลยมีหน้าที่จะต้องโอนทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ตามฟ้อง การที่จำเลยยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อไปย่อมจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยโจทก์อาจถูกบริษัทการปิโตเลียมแห่งประเทศไทยปรับหรือบอกเลิกสัญญาได้ คำฟ้องโจทก์จึงมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามที่ขอมาใช้ ที่จำเลยฎีกาว่าคำฟ้องโจทก์ไม่มีมูลเพราะนายจิรเดชเบิกความมีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ ทั้งในคดีหมายเลขดำที่ 2579/2543 ของศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับบริษัทอุบลเมืองทอง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลย นายจิรเดชยังได้เบิกความในการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามสัญญาเช่าซื้อเกี่ยวพันกับคดีนี้ตามคำเบิกความพยานเอกสารท้ายฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้ชำระเงินตามสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลย เพิ่งเริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2536 จึงเจือสมคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ว่าโจทก์มิได้ชำระราคาค่าเช่าซื้อให้จำเลยตามสัญญาฉบับเดิม และมีการทำสัญญาเช่าซื้อกันใหม่ เห็นว่าคำเบิกความของนายจิรเดชในคดีนี้ไม่มีพิรุธแต่อย่างใดการที่โจทก์มิได้ชำระค่าเช่าซื้อในงวดแรกหรือชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดนั้น มิใช่ข้อบ่งชี้ว่าโจทก์มิได้ชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลย การพิจารณาว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามที่ขอมาใช้หรือไม่นั้นต้องพิจารณาจากคำฟ้องคำให้การ และพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องขอดังกล่าวเท่านั้น คำเบิกความของนายจิรเดชที่แนบท้ายฎีกานั้นเป็นคำเบิกความในคดีอื่น มิใช่พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาคดีนี้ จึงรับฟังไม่ได้ ที่จำเลยฎีกาอีกว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ จำเลยบอกเลิกสัญญาแล้วโจทก์ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะเสียหายก็ต้องไปฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ ไม่มีสิทธิที่จะมาร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีนี้นั้นเห็นว่า โจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อและโจทก์ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยผิดกฎหมายหรือไม่ ยังเป็นประเด็นข้อพิพาทที่ต้องนำสืบกันต่อไป เมื่อจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีนี้กระทำการยึดรถยนต์ที่เช่าซื้ออาจเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาเช่าซื้อและทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ย่อมมีสิทธิขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2) หาจำต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า ที่ศาลล่างทั้งสองให้โจทก์วางเงินประกันค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท ต่อรถยนต์ 1 คัน เป็นจำนวนน้อยเกินไปหรือไม่ เห็นว่า ในการกำหนดจำนวนเงินที่จะให้โจทก์วางประกันค่าเสียหายเนื่องจากการนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้นั้น ศาลจะพิจารณาถึงความเสียหายของคู่ความเป็นเกณฑ์มิใช่ต้องถือผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากการใช้รถยนต์พิพาทเป็นเกณฑ์กำหนดจำนวนเงินตามที่จำเลยฎีกา ผลประโยชน์ของโจทก์เป็นเพียงข้อพิจารณาว่าโจทก์ได้รับความเสียหายและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้บังคับหรือไม่เท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์วางเงินประกันค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท ต่อรถยนต์ 1 คัน จึงเหมาะสมแล้ว หาได้น้อยเกินไปไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน