แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง หมายความว่า ข้อบัญญัติที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราขึ้นในกรณีทั่วไปต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด และมีการประกาศข้อบัญญัตินั้นไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้วจนครบกำหนด 15 วัน จึงจะมีผลใช้บังคับได้ แต่มีข้อยกเว้นว่าในกรณีฉุกเฉินหากข้อบัญญัติที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราขึ้นโดยมีข้อความระบุให้ใช้บังคับได้ทันทีและได้รับการอนุมัติข้อบัญญัตินั้นจากผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วก็มีผลใช้บังคับได้ในวันที่มีการประกาศ ทั้งนี้ไม่ปรากฏบทบัญญัติอื่นใน พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 กำหนดวิธีการนับวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาประกาศข้อบัญญัติในกรณีทั่วไปไว้ด้วย ทั้งข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เรื่อง การเก็บภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2542 มิใช่ข้อบัญญัติที่ตราขึ้นในกรณีฉุกเฉินจึงต้องคำนวณระยะเวลาการปิดประกาศตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง โดยไม่นับวันแรกแห่งระยะเวลาที่ประกาศรวมเข้าด้วยเมื่อมีการประกาศ ณ วันที่ 16 เมษายน 2542 จึงเริ่มต้นนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2542 ซึ่งจะครบกำหนด 15 วัน ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2542 และข้อบัญญัติที่ประกาศนั้นจะมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันถัดไปคือวันที่ 2 พฤษภาคม 2542
ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เรื่อง การเก็บภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2542 มีการนับระยะเวลาการปิดประกาศครบกำหนด 15 วัน ว่าตรงกับวันใดไว้ผิดพลาดจึงมีการระบุข้อความล่วงหน้าให้ข้อบัญญัติใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2542 แต่การประกาศข้อบัญญัติซึ่งระบุวันใช้บังคับผิดพลาดมิใช่เรื่องที่ทำโดยไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ ถือได้ว่าข้อบัญญัติดังกล่าวยังไม่สิ้นผลหรือเป็นโมฆะ เมื่อมีการประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้ว 15 วัน ข้อบัญญัติทั้งหมดยกเว้นข้อ 2 จึงมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2542 เป็นต้นไป การกระทำความผิดของจำเลยเกิดขึ้นหลังวันที่ 2 พฤษภาคม 2542 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและเป็นสถานีบริการน้ำมันสถานค้าปลีก โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการในฐานะผู้แทนนิติบุคคลและเป็นผู้ค้าปลีกรับผิดชอบการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 เมื่อระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน 2542 เวลากลางวันถึงวันที่ 20 เมษายน 2543 เวลากลางวันติดต่อกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม 2542 กับในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม 2543 จำเลยทั้งสองซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดจะต้องชำระภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี โดยคิดคำนวณภาษีจากการจำหน่ายน้ำมันของจำเลยทั้งสองในอัตราลิตรละ 4.54 สตางค์ และจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายการภาษีตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพสามิตกำหนด เพื่อตรวจสอบและคำนวณภาษีให้ถูกต้องข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เรื่อง การเก็บภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 ซื่งประกาศเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2542 โดยมีการประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีพ้นกำหนด 15 วัน และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2542 พร้อมชำระภาษีต่อเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพสามิต ณ สำนักงานสรรพสามิตอำเภอนายายอาม อันเป็นท้องที่ที่สถานค้าปลีกของจำเลยทั้งสองตั้งอยู่ภายในวันที่ 20 ของเดือนถัดไป แต่จำเลยทั้งสองซึ่งทราบข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีดังกล่าวแล้วร่วมกันละเลยไม่ยื่นแบบรายการภาษี และไม่ยอมชำระภาษีดังกล่าวภายในกำหนดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 45, 51, 64, 71 ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เรื่อง การเก็บภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 ข้อ 3, 4, 5, 6, 9 ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เรื่อง การเก็บภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2543 ข้อ 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 กับนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2393/2543 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 45, 51, 64, 71 ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เรื่อง การเก็บภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2542 ข้อ 2, 4, 5, 6, 9 ประกอบประมวลกฎหมาย มาตรา 83 (ที่ถูกต้องระบุว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิด 11 กรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) ลงโทษปรับกระทงละ 3,000 บาท 11 กระทง รวมปรับคนละ 33,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่ถูก หากไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินจำเลยที่ 1 ใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30) คำขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อให้ยก เนื่องจากคดีนี้ศาลมิได้พิพากษาจำคุกและคดีดังกล่าวศาลยังมิได้มีคำพิพากษา
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีได้ตราข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด เรื่อง การเก็บภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2542 ขึ้น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีอนุมัติข้อบัญญัติและมีการประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีแล้วตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2542 ข้อบัญญัติดังกล่าวมีข้อความในข้อ 2 ระบุให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2542 เป็นต้นไป และมีข้อความส่วนหนึ่งในข้อ 4 กับข้อ 5 กำหนดให้สถานีบริการน้ำมันซึ่งจำหน่ายปลีกน้ำมันเบนซินและน้ำมันที่คล้ายกัน น้ำมันดีเซลและน้ำมันที่คล้ายกัน อันอยู่ในความหมายของคำนิยามว่า “สถานค้าปลีก” ต้องเสียภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัดในอัตราลิตรละ 4.54 สตางค์ โดยเจ้าของ ผู้จัดการ หรือบุคคลอื่นซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของสถานค้าปลีก อันอยู่ในความหมายของคำนิยามว่า “ผู้ค้าปลีก” มีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายการภาษีตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพสามิตกำหนดพร้อมกับชำระภาษีต่อเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพสามิต ณ สำนักงานสรรพสามิตแห่งท้องที่ที่สถานค้าปลีกตั้งอยู่ภายในวันที่ 20 ของเดือนถัดจากเดือนที่รับผิดในอันจะต้องเสียภาษีเกิดขึ้น กับมีข้อความในข้อ 9 เป็นบทระวางโทษผู้ไม่ยื่นแบบรายการภาษีตามหน้าที่ไว้ตามสำเนาข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เรื่อง การเก็บภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วน จังหวัด พ.ศ.2542 เอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันค้าปลีกที่หมู่ที่ 9 ตำบลวังโตนด อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยทั้งสองไม่ได้ยื่นแบบรายการภาษีประจำเดือนพฤษภาคม 2542 ถึงเดือนมีนาคม 2543 กับไม่ชำระภาษีดังกล่าวให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีแต่อย่างใด องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีเชิญจำเลยทั้งสองไปพบ 3 ครั้ง ตามหนังสือขอเชิญพบเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 แล้วจำเลยทั้งสองยืนยันไม่ชำระภาษีโดยอ้างเหตุผลว่าประสงค์ให้มีการชะลอการจัดเก็บภาษี คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เรื่อง การเก็บภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2542 เป็นข้อบัญญัติที่ตราขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยไม่เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ข้อบัญญัติจะใช้บังคับได้เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติ และประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้วสิบห้าวัน เว้นแต่ในกรณีฉุกเฉินถ้ามีข้อความระบุไว้ในข้อบัญญัตินั้นว่าให้ใช้บังคับได้ทันที ให้ใช้บังคับข้อบัญญัติในวันที่ประกาศ” ซึ่งหมายความว่า ข้อบัญญัติที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราขึ้นในกรณีทั่วไปต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด และมีการประกาศข้อบัญญัตินั้นไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้วจนครบกำหนด 15 วัน จึงจะมีผลใช้บังคับได้แต่มีข้อยกเว้นว่าในกรณีฉุกเฉินหากข้อบัญญัติที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราขึ้นโดยมีข้อความระบุให้ใช้บังคับได้ทันทีและได้รับการอนุมัติข้อบัญญัตินั้นจากผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วก็มีผลใช้บังคับได้ในวันที่มีการประกาศ ทั้งนี้ไม่ปรากฏบทบัญญัติอื่นในพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 กำหนดวิธีการนับวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาประกาศข้อบัญญัติในกรณีทั่วไปไว้ด้วยแต่อย่างไร ทั้งข้อบัญญัติตามสำเนาข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เรื่อง การเก็บภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2542 เอกสารหมาย จ.2 ก็มิใช่ข้อบัญญัติที่ตราขึ้นในกรณีฉุกเฉินจึงต้องคำนวณระยะเวลาการปิดประกาศตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง โดยไม่นับวันแรกแห่งระยะเวลาที่ประกาศรวมเข้าด้วย เมื่อมีการประกาศ ณ วันที่ 16 เมษายน 2542 จึงเริ่มต้นนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2542 ซึ่งจะครบกำหนด 15 วัน ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2542 และข้อบัญญัติที่ประกาศนั้นจะมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันถัดไปคือวันที่ 2 พฤษภาคม 2542 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ มาตรา 53 บัญญัติให้ใช้บังคับข้อบัญญัติในวันที่ประกาศ การนับระยะเวลาประกาศจึงต้องเริ่มนับวันที่ 16 เมษายน 2542 รวมเข้าด้วยแล้วครบกำหนด 15 วัน ในวันที่ 30 เมษายน 2542 นั้น จึงต้องเป็นการอ้างข้อกฎหมายไม่ถูกต้องตามที่มีการบัญญัติไว้อย่างไรก็ตาม ได้ความจากคำเบิกความพยานโจทก์ปากนายเฉลิมพลนายองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีว่า การตราข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เรื่อง การเก็บภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2542 ได้ปฏิบัติตามระเบียบทุกขั้นตอนแล้วจึงเสนอร่างข้อบัญญัติต่อผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีอมุนัติเพื่อมีผลใช้บังคับหลังจากนั้น 15 วัน โดยนายเฉลิมพลเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า เหตุที่ข้อบัญญัติข้อ 2 กำหนดให้ข้อบัญญัติใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2542 เป็นต้นไป เนื่องจากนับจากวันที่ 16 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2542 แล้วครบกำหนด 15 วัน ซึ่งจำเลยทั้งสองต่อสู้คดีเพียงว่าข้อบัญญัติข้อ 2 ที่กำหนดให้ข้อบัญญัติใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2542 เป็นต้นไปนั้นขัดต่อพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ เป็นข้อบัญญัติที่มิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 152 จำเลยทั้งสองมิได้นำสืบต่อสู้ว่าข้อบัญญัติทั้งฉบับยังไม่มีการประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีแล้ว 15 วัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าการตราข้อบัญญัติตามสำเนาข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เรื่อง การเก็บภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2542 เอกสารหมาย จ.2 ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบและผ่านขั้นตอนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติกับมีการประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้ว 15 วัน ตามกฎหมาย แต่มีการนับระยะเวลาการปิดประกาศครบกำหนด 15 วัน ว่าตรงกับวันใดไว้ผิดพลาดจึงมีการระบุข้อความล่วงหน้าให้ข้อบัญญัติใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2542 ดังที่ปรากฏ ข้อเท็จจริงที่มีการประกาศข้อบัญญัติซึ่งระบุวันใช้บังคับผิดพลาดมิใช่เรื่องที่ทำโดยไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ กรณีถือได้ว่าข้อบัญญัติดังกล่าวยังไม่สิ้นผลหรือเป็นโมฆะเมื่อมีการประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้ว 15 วัน ข้อบัญญัติทั้งหมดยกเว้นข้อ 2 ยังมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2542 เป็นต้นไป การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นหลังวันที่ 2 พฤษภาคม 2542 แล้วจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เรื่อง การจัดเก็บภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2542 เป็นโมฆะ และพิพากษายกฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น