แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.รัษฎากร มาตรา 42 ทวิ เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินในการหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) โดยมิได้กำหนดหลักเกณฑ์บังคับว่าต้องหักค่าใช้จ่ายอย่างไร โจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) เพียงอนุมาตราเดียว เป็นเงิน 60,000 บาท โดยไม่จำต้องเฉลี่ยค่าใช้จ่าย
การหักค่าใช้จ่ายต้องถือเอาเงินได้ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) เป็นหลัก เมื่อโจทก์ที่ 2 ใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) เต็มจำนวน 60,000 บาทแล้ว โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นสามีจึงไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (2) ของโจทก์ที่ 2 อีก
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เลขที่ 1005300/1/109912 และ 1005300/1/109913 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.1 (อธ.3)/46/2546 และ สภ.1 (อธ.3)/47/2546 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2546 (ที่ถูกลงวันที่ 30 เมษายน 2546)
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ 1005300/1/109912 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.1 (อธ.3)46/2546 ลงวันที่ 30 เมษายน 2546 และให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เลขที่ 1005300/1/109913 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.1 (อธ.3)/47/2546 ลงวันที่ 30 เมษายน 2546 โดยให้เจ้าพนักงานประเมินนำค่าใช้จ่ายจำนวน 44,854.80 บาท ไปหักออกจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และคำนวณภาษีใหม่แล้วแก้ไขการประเมินตามผลของการคำนวณ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 2 และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 และจำเลยในประการแรกว่าโจทก์ที่ 2 มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) จำนวน 60,000 บาท หรือไม่ เห็นว่า แม้ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 เบญจ กำหนดให้สิทธิแก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ไม่ว่าจะมีเงินได้พึงประเมินอื่นด้วยหรือไม่ สามารถแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) โดยมิให้ถือว่าเป็นเงินได้ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นสามีก็ตาม แต่การหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ของโจทก์ที่ 2 ก็ยังคงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 42 ทวิ วรรคสอง ที่ให้ต่างฝ่ายต่างหักค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 42 ทวิ วรรคแรก ซึ่งหมายความว่าค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ที่แท้จริงของแต่ละฝ่ายสามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่เมื่อรวมค่าใช้จ่ายตามอนุมาตรา (1) และ (2) แล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท นอกจากนี้มาตรา 42 ทวิ เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินที่จะได้รับประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ของตนทั้งที่เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และเงินได้ตามมาตรา 40 (2) โดยมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดเป็นการบังคับว่าต้องหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินประเภทใด ในสัดส่วนเท่าใด หรือต้องถัวเฉลี่ยกันอย่างไร ซึ่งกฎหมายเปิดช่องเพื่อประโยชน์ในการบรรเทาภาระภาษีโดยมอบอำนาจในการตัดสินใจให้แก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินทั้งสองประเภทว่าจะเลือกหักค่าใช้จ่ายในเงินได้ประเภทใด อย่างไรก็ได้ ดังนั้น โจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) เพียงอนุมาตราเดียวเป็นเงิน 60,000 บาท ได้โดยไม่จำต้องเฉลี่ยค่าใช้จ่าย อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ที่ 1 มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) จำนวน 15,145.20 บาท หรือไม่ เห็นว่า เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งต้องนำไปยื่นรวมเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นสามีนั้น การหักค่าใช้จ่ายตามความในบทบัญญัตินี้ต้องถือเอาเงินได้ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) เป็นหลักในการหักค่าใช้จ่าย เมื่อโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แต่เนื่องจากโจทก์ที่ 1 เป็นสามีจึงต้องนำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) ของโจทก์ที่ 2 มาถือเป็นเงินได้ของตนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี ก็เพื่อประโยชน์ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของสามีภริยาเท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 2 ใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) เต็มจำนวน 60,000 บาทแล้ว โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) ของโจทก์ที่ 2 อีก มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) ของโจทก์ที่ 2 เป็นเงินจำนวน 15,145.20 บาทอีก ส่วนที่เจ้าพนักงานของจำเลยคำนวณหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) ของโจทก์ที่ 2 โดยให้โจทก์ที่ 1 หักค่าใช้จ่ายได้เป็นเงิน 2,587.85 บาท อันเป็นการหักค่าใช้จ่ายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด นั้น เมื่อจำเลยมิได้ให้การถึงสิทธิดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงไม่อาจบังคับให้ได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เลขที่ 1005300/1/109913 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สภ.1 (อธ.3)/47/2546 ลงวันที่ 30 เมษายน 2546 แต่ไม่เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เลขที่ 1005300/1/109912 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ สภ.1 (อธ.3)/46/2546 ลงวันที่ 30 เมษายน 2546 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ