แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านจัดสรรจากจำเลยได้ชำระเงินงวดให้จำเลยครบถ้วนตามสัญญาในวันที่ 11 เมษายน 2540 แต่จำเลยก็ยังมิได้พัตนาที่ดินและปลูกสร้างบ้านให้โจทก์แล้วเสร็จจนล่วงเลยไปจนกระทั่งปี 2545 แสดงว่าจำเลยไม่อาจปฎิบัติการชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ตามสัญญาได้ โจทก์จึงมีสิทธิเลิกสัญญาโดยไม่ต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันประกอบกิจการจัดสรรขายที่ดินพร้อมบ้านโดยใช้ชื่อโครงการกฤษดา ไพรเวท เลคแอนด์ปาร์ค (โครงการกฤษดานคร 31) ตั้งอยู่ที่ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี (พุทธมณฑล สาย 2) แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร โดยจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่บริหารการขายรับเงินจองซื้อ เงินดาวน์ การชำระเงินค่างวดหรือเงินมัดจำจากลูกค้า การอำนายความสะดวก การให้บริการลูกค้าด้านสาธารณูปโภค ตลอดจนทำการจัดตั้งสำนักงานสาขาหรือแต่งตั้งตัวแทนเพื่อดำเนินโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จการ จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่พัฒนาและขายที่ดินให้แก่ลูกค้า จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่รับจ้างปลูกสร้างบ้าน วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำหนังสือจองซื้อที่ดินในโครงการดังกล่าวเนื้อที่ 115 ตารางวา ราคาตารางวาละ 37,900 บาท รวมเป็นเงิน 4,358,500 บาท พร้อมบ้านแบบพรัสเซียและรั้ว ราคา 3,279,100 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,637,600 บาท โดยตกลงว่าโจทก์จะทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและหรือสัญญาว่าจ้างให้ปลูกสร้างบ้านกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2538 ต่อมาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินกับจำเลยที่ 2 และทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้ปลูกบ้านในที่ดังดินกล่าว โจทก์ได้ชำระเงินในวันจอง วันทำสัญญาจะซื้อจะขาย และเงินงวดให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญา รวมเป็นเงิน 871,700 บาท และชำระเงินในวันทำสัญญาและเงินงวดให้แก่จำเลยที่ 3 ตามสัญญา รวมเป็นเงิน 655,820 บาท รวมทั้งสิ้น 1,527,520 บาท แต่จำเลยทั้งสามไม่สามารถส่งมอบที่ดินและบ้านให้โจทก์ตามสัญญาได้โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวน 1,527,520 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญาวันที่ 20 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไป จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปี เป็นเงิน 229,128 บาท รวมเป็นเงิน 1,756,648 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,756,648 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,527,520 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า สัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินและสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านไม่มีกำหนดระยะเวลากันไว้ เมื่อโจทก์มิได้กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ปฏิบัติตามสัญญาการบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,527,520 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินในโครงการกฤษดา ไพรเวท เลคแอนด์ปาร์ค เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ได้ทำหนังสือจองซื้อที่ดินและบ้านในโครงการดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 ในราคารวม 7,637,600 บาท ชำระเงินในวันจอง 20,000 บาท ตามหนังสือจองซื้อเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินดังกล่าวกับจำเลยที่ 2 และทำสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านกับจำเลยที่ 3 โดยได้ชำระเงินในวันทำสัญญาอีก 114,000 บาท และ 86,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 ตามลำดับ แล้วโจทก์ได้ผ่อนชำระเงินงวดตามสัญญาทั้งสองฉบับอีก 23 งวด ตามสัญญา ครั้งสุดท้ายชำระเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540 และวันที่ 13 มีนาคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15 ตามลำดับ จนกระทั่งในปี 2545 บ้านที่โจทก์จองซื้อจากจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่มีการขายให้แก่ผู้อื่น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกมีว่า อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามที่ว่า จำเลยที่ 1 มิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ส่วนจำเลยที่ 2 ได้พัฒนาที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ผู้ซื้อที่ดินและโจทก์สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ จำเลยที่ 2 มิได้ผิดสัญญา เป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง หรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นรับฟังพยานบุคคลประกอบพยานเอกสารที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า แม้จำเลยทั้งสามจะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันแต่กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยทั้งสามเป็นบุคคลคนเดียวกัน จึงเชื่อว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันดำเนินโครงการหมู่บ้านจัดสรร ชื่อโครงการกฤษดา ไพเวท เลคแอนด์ปาร์ค และโจทก์ได้ชำระเงินงวดให้จำเลยทั้งสามครบตามสัญญาตั้งแต่ต้นปี 2540 แล้ว แต่จนกระทั่งปี 2545 จำเลยทั้งสามก็ยังไม่พัฒนาที่ดินและสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันสมควร จึงถือว่าจำเลยทั้งสามละเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้บริหารการขายให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยมีหลักฐานตามเอกสารหมาย จ.4 และโจทก์ชำระค่าที่ดินและค่าจ้างปลูกบ้านให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15 ซึ่งโจทก์เองก็เบิกความยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ได้พัฒนาที่ดินจนแล้วเสร็จ โจทก์หรือลูกค้าของจำเลยที่ 2 สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินในโครงการของจำเลยที่ 2 ได้ แต่โจทก์ไม่ยอมรับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 2 ทั้งนี้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามดังกล่าวได้อ้างถึงพยานเอกสารของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่าไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะนำมารับฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดำเนินการโครงการกฤษดาไพรเวท เลคแอนด์ปาร์ค แต่พยานเอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นดังที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้บริหารการขายให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 และโจทก์ชำระค่าที่ดินและค่าว่าจ้างปลูกสร้างบ้านให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยโจทก์เบิกความยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย และที่ศาลชั้นต้นฟังว่าการที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและพัฒนาที่ดินกับจำเลยที่ 2 และทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 3 ปลูกสร้างบ้านแสดงถึงเจตนาของโจทก์ประสงค์จะเข้าอยู่อาศัยในบ้านที่โจทก์ตกลงซื้อ แต่จำเลยที่ 2 มิได้พัฒนาที่ดินให้แล้วเสร็จ ส่วนจำเลยที่ 3 ก็ไม่สร้างบ้านให้แล้วเสร็จเรียบร้อยพร้อมโอนให้โจทก์ เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า จำเลยทั้งสามมิได้ร่วมกันดำเนินการโครงการจัดสรรที่ดินดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในส่วนที่จำเลยที่ 2 ได้พัฒนาที่ดินเสร็จเรียบร้อยพร้อมที่โจทก์จะเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ก็ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เมื่อเนื้อหาในอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามดังกล่าวได้ยกข้อคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่รับฟังว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันดำเนินการโครงการกฤษดา ไพรเวท เลคแอนด์ปาร์ค และจำเลยที่ 2 มิได้พัฒนาที่ดินในโครงการดังกล่าวให้เสร็จสิ้นว่าไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องควรรับฟังอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ถึงแม้จะมิได้ยกข้อคัดค้านทุกเหตุผลแห่งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามมิได้ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับไปว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องอย่างไร ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานคลาดเคลื่อนอย่างไร ควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบและไม่รับวินิจฉัยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังขึ้น และเพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสามประการต่อมาที่ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันดำเนินการโครงการกฤษดา ไพรเวท เลคแอนด์ปาร์ค และจำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ โดยไม่ย้อนสำนวนไป ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ได้ความจากโจทก์เบิกความว่าโจทก์ทำหนังสือจองซื้อที่ดินพร้อมบ้านจากจำเลยที่ 1 โดยตกลงว่าโจทก์จะมาทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างหรือสัญญาว่าจ้างให้ปลูกสร้างบ้านภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2538 ตามเอกสารหมาย จ.4 และในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ก็ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินดังกล่าวกับจำเลยที่ 2 และทำสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านกับจำเลยที่ 3 ตามเอกหมาย จ.10 และ จ.11 ที่บริษัทของจำเลยที่ 1 โดยหัวกระดาษเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวมีสัญลักษณ์และข้อความเดียวกันว่า กฤษดามหานคร ทั้งตามหนังสือรับรองบริษัทของจำเลยทั้งสามเอกสารหมาย จ.1 จ.2 และ จ.3 จำเลยทั้งสามต่างก็มีวัตถุประสงค์ทำการซื้อ ขาย จัดสรร ที่ดินเหมือนกัน และมีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเป็นบุคคลเดียวกัน ลักษณะจึงเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจองซื้อที่ดินและบ้านจากโจทก์แล้วให้โจทก์มาทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินดังกล่าวกับจำเลยที่ 2 และทำสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านกับจำเลยที่ 3 ที่บริษัทของจำเลยที่ 1 แม้หัวกระดาษของเอกสารหมาย จ.4 ดังกล่าวมีข้อความระบุว่าบริหารการขายโดยจำเลยที่ 1 แต่พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวบ่งชี้ชัดว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันจัดสรรที่ดินที่โจทก์จองซื้อจากจำเลยที่ 1 โดยแบ่งแยกกันทำหน้าที่ดำเนินการในด้านต่างๆ ทั้งโจทก์จองซื้อที่ดินและบ้านจากจำเลยที่ 1 ตามหนังสือจองซื้อฉบับเดียวกันจึงไม่มีเหตุที่โจกท์จะแยกซื้อเฉพาะที่ดินแล้วจ้างจำเลยที่ 3 ปลูกสร้างบ้านอีกต่างหาก ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันจัดสรรที่ดินและบ้านที่โจทก์ทำหนังสือจองซื้อจากจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสามจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาที่จำเลยทั้งสามทำไว้กับโจทก์กล่าวคือต้องพัฒนาที่ดินและปลูกสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ แม้สัญญาดังกล่าวจะมิได้กำหนดระยะเวลากันไว้ แต่จำเลยทั้งสามก็มีหน้าที่ต้องปลูกสร้างให้เสร็จภายในระยะเวลาอย่างช้าเมื่อโจทก์ชำระค่างวดเสร็จสิ้นเพื่อให้สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ทันทีและรับชำระเงินส่วนที่เหลือ หรืออย่างช้าจะต้องดำเนินการภายในระยะเวลาอันสมควร เมื่อโจทก์ได้ชำระค่างวดให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครบถ้วนตามสัญญาในวันที่ 11 เมษายน 2540 และวันที่ 13 มีนาคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15 เมื่อนับจากวันที่โจทก์ทำหนังสือจองซื้อเป็นเวลา 2 ปีเศษ แต่ได้ความจากโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามก็ยังพัฒนาที่ดินและทำการปลูกสร้างบ้านไม่แล้วเสร็จและปล่อยทิ้งร้างตามภาพถ่ายหมาย จ.21 และ จ.22 นายอภิชาเจ้าหน้าที่ฝ่ายโอนและบริการของจำเลยที่ 2 และนายกิตตินันท์ผู้จัดการโครงการของจำเลยที่ 2 พยานจำเลยทั้งสามเบิกความเจือสมกับคำให้การของโจทก์ดังกล่าวและนายอภิชาเบิกความว่า บ้านที่โจทก์จองซื้อเพิ่งมีการก่อสร้างเสร็จประมาณปี 2545 และได้มีการโอนขายให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว อันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ชำระค่างวดครบถ้วนตามสัญญาแล้วประมาณ 5 ปี จำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญา ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของจำเลยทั้งสามประการสุดท้ายว่า โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาและกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ปฏิบัติตามสัญญาก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ชำระเงินงวดให้จำเลยทั้งสามครบถ้วนตามสัญญาในวันที่ 11 เมษายน 2540 และวันที่ 13 มีนาคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15 แต่จำเลยทั้งสามก็ยังมิได้พัฒนาที่ดินและปลูกสร้างบ้านให้โจทก์แล้วเสร็จจนล่วงเลยไปจนกระทั่งปี 2545 แสดงว่าจำเลยทั้งสามไม่อาจปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนโจทก์ตามสัญญาได้ โจทก์จึงมีสิทธิเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 แม้จะมิได้บอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ก่อนก็ตาม คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ