แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์หน้าแรกได้ระบุตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ไว้ชัดเจนว่า ข้าพเจ้า พนักงานอัยการจังหวัดสระบุรี โจทก์ และโจทก์ได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะโจทก์ท้ายฟ้องแล้ว จึงถือว่าฟ้องโจทก์มีตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์และลายมือชื่อโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (3) (7) โดยไม่จำต้องระบุว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นของบุคคลใดและระบุตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ในช่องที่โจทก์จะต้องลงลายมือชื่ออีก ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2541 เวลากลางวัน จำเลยหน่วงเหนี่ยวดึงแขนนางสาวปราณีผู้เสียหายอายุ 16 ปีเศษ เข้าไปด้านหลังร้านซึ่งเป็นตึกแถวแล้วลากผู้เสียหายขึ้นไปในห้องชั้นบน ทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกายจากนั้นจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งมิใช่ภริยาของตนจนสำเร็จความใคร่จำนวน 1 ครั้ง โดยขู่เข็ญว่าจะชกต่อยและโดยใช้กำลังประทุษร้ายปลุกปล้ำ กอดจูบ ถอดกระโปรงและกางเกงชั้นในของผู้เสียหายออก ทั้งนี้โดยผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 310
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก, 310 (ที่ถูก 310 วรรคแรก) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุก 4 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ในช่องที่โจทก์ต้องลงลายมือชื่อท้ายคำฟ้องมิได้ระบุว่าเป็นบุคคลใด ใช่ลายมือชื่อโจทก์หรือไม่ และมิได้ระบุตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ ที่ปรากฏเป็นเพียงลายเส้นที่ไม่สามารถสื่อความหมายได้เท่านั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี………………………………………………………..
(3) ตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์…………………………………………………………………………
……………………………………………………………………………………………………………………………….
(7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง”
เมื่อพิจารณาฟ้องโจทก์แล้วเห็นได้ว่า ในฟ้องหน้าแรกได้ระบุตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ไว้ชัดเจนว่า ข้าพเจ้า พนักงานอัยการจังหวัดสระบุรี โจทก์ และโจทก์ก็ได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะโจทก์ท้ายฟ้องแล้ว จึงถือว่าฟ้องในคดีนี้มีตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์และลายมือชื่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (3) (7) แล้ว โดยไม่จำต้องระบุว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นของบุคคลใดและระบุตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ในช่องที่โจทก์จะต้องลงลายมือชื่ออีก ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว”
พิพากษายืน