คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6620/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ทางราชการได้สงวนไว้ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) จำเลยจึงไม่อาจอ้างการครอบครองใช้ยันกระทรวงการคลังโจทก์ได้
จำเลยมิได้ยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/29 และอายุความในคดีแพ่งไม่เป็นกรณีเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
ตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (2) พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง ในกรณีเช่นนี้พนักงานอัยการจึงมีฐานะอย่างเดียวกับทนายความตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 ที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีในศาลให้แก่ผู้อื่น เมื่อกระทรวงการคลังโจทก์ได้แต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความจึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งในคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีชดใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินราชพัสดุตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 15249 เนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 68 ตารางวา ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของหนองประจักษ์ที่มีประกาศของสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลอุดรเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2463 ตามสำเนาประกาศท้ายฟ้องกำหนดให้เป็นเขตหวงห้ามที่จับสัตว์น้ำไว้สำหรับรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ และต่อมาทางราชการได้ปรับปรุงบริเวณหนองประจักษ์โดยทำถนนรอบ และใช้บริเวณที่ดินราชพัสดุซึ่งอยู่ด้านนอกของถนนนั้นเป็นที่ตั้งบ้านพักข้าราชการสำนักงานของส่วนราชการและน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นที่ตั้งพระตำหนักหนองประจักษ์ ประมาณปี 2517 จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปสร้างบ้านเลขที่ 66 ในที่ดินราชพัสดุ ส่วนที่เป็นที่ดินพิพาทเนื้อที่ 152 ตารางวา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ ซึ่งหากโจทก์ให้เช่าที่ดินพิพาทจะได้ค่าเช่าจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 58,656.80 บาท ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 66 ออกจากที่ดินราชพัสดุดังกล่าวกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 58,656.80 บาท และค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 402.80 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะรื้อถอนบ้านเลขที่ 66 ออกไป
จำเลยให้การว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 15249 ไม่ถูกต้องตรงตามหลักฐานเดิม สำเนาประกาศตามฟ้องไม่มีต้นฉบับจึงรับฟังไม่ได้ ประกาศดังกล่าวเพียงแต่ห้ามการจับสัตว์น้ำในหนองประจักษ์เท่านั้น มิได้หวงห้ามเกี่ยวกับที่ดิน การกำหนดพื้นที่หนองประจักษ์มิได้ครอบคลุมถึงที่ดินพิพาทเพราะอยู่นอกเขตหนอง โจทก์ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นเนื้อที่มากกว่าหลักฐานเดิมจึงทับที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยทั้งสองครอบครองอยู่โดยจำเลยทั้งสองไม่ทราบเรื่อง จำเลยทั้งสองได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทต่อมาจากนายนุทิตย์และนางถนอมศรี ซึ่งเป็นพี่เขยและพี่สาวจำเลยที่ 2 คนทั้งสองครอบครองและสร้างบ้านเลขที่ 66 ในที่ดินพิพาทมานานแล้วก่อนที่จะรับเลี้ยงจำเลยที่ 2 ในปี 2489 โดยให้จำเลยที่ 2 อยู่อาศัยด้วยในบ้านเลขที่ 66 เมื่อจำเลยที่ 2 แต่งงานกับจำเลยที่ 1 ในปี 2508 จำเลยที่ 1 ก็ร่วมอยู่อาศัยในบ้านเลขที่ 66 ด้วยตลอดมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่มีบุคคลใดหรือหน่วยราชการใดโต้แย้ง และเมื่อนายนุทิตย์ถึงแก่ความตาย ได้มอบสิทธิการครอบครองให้แก่จำเลยทั้งสอง ส่วนนางถนอมศรีก็ได้ย้ายออกไปอยู่บ้านหลังอื่นแล้ว สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยทั้งสอง การเข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการบุกรุก โจทก์มิได้เสียหายหรือขาดประโยชน์ และค่าเสียหายตามฟ้องเป็นการคาดคะเนเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 66 ออกไปจากที่ดินราชพัสดุตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 15249 ถนนศุภกิจจรรยา ตำบลหนองบัว (ปัจจุบันเป็นตำบลหมากแข้ง) อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 58,656.80 บาท และค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 402.80 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะรื้อถอนบ้านเลขที่ 66 ออกไปจากที่ดินราชพัสดุดังกล่าว และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นข้อแรกว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ โจทก์มีพยานคือนางสาววินิดาเบิกความว่า พยานเคยดำรงตำแหน่งธนารักษ์จังหวัดอุดรธานีตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2541 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2542 มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับที่ดินราชพัสดุทั้งหมดในจังหวัดอุดรธานี ที่ดินพิพาทเป็นบริเวณหนองประจักษ์รัฐได้ประกาศเป็นเขตหวงห้ามที่จับสัตว์น้ำไว้สำหรับรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำปรากฏตามประกาศเรื่องหวงห้ามที่จับสัตว์น้ำหนองประจักษ์เอกสารหมาย จ.11 การประกาศหวงห้ามดังกล่าวมีไว้ตั้งแต่ปี 2463 เมื่อปี 2535 เจ้าหน้าที่สำนักงานราชพัสดุจังหวัดอุดรธานีได้ให้ช่างสำรวจเข้าไปตรวจสอบที่ดินแปลงดังกล่าวพบว่ามีบ้านพิพาทปลูกอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตเนื้อที่ 152 ตารางวา จำเลยทั้งสองอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทนายวิชิตเบิกความว่า พยานเคยรับราชการที่สำนักงานราชพัสดุจังหวัดอุดรธานีช่วงปี 2534 – 2536 ตำแหน่งช่างสำรวจ 2 พยานเป็นผู้ทำการรังวัดและจัดทำแผนที่ที่ราชพัสดุเอกสารหมาย จ.4 เนื่องจากช่วงปี 2535 ราชพัสดุจังหวัดอุดรธานีต้องการทำแผนที่รายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินแปลงพิพาทว่าหน่วยงานใดเข้าไปใช้ประโยชน์บ้าง จากการรังวัดพบว่านอกจากหน่วยราชการแล้วยังมีจำเลยทั้งสองบุกรุกใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 150 ตารางวาเศษ พยานจำเลยทั้งสองมีจำเลยทั้งสองเบิกความว่านายนุทิตย์และนางถนอมศรีอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 66 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท บุคคลทั้งสองได้นำจำเลยที่ 2 มาเลี้ยงดูในบ้านตั้งแต่จำความได้จนถึงปัจจุบัน ปี 2508 จำเลยที่ 1 ได้แต่งงานกับจำเลยที่ 2 และเข้าร่วมอาศัยอยู่ในบ้าน ต่อมานายนุทิตย์ได้ยกบ้านให้จำเลยทั้งสองโดยไม่มีหลักฐานการยกให้ จำเลยทั้งสองไม่มีหลักฐานเป็นเอกสารสิทธิของที่ดินพิพาท เห็นว่า โจทก์มีนางสาววินิดาธนารักษ์จังหวัดอุดรธานีมาเบิกความว่า ที่ดินพิพาทเป็นบริเวณหนองประจักษ์ รัฐได้ประกาศเป็นเขตหวงห้ามที่จับสัตว์น้ำปรากฏตามประกาศเอกสารหมาย จ.11 จำเลยทั้งสองไม่นำสืบหักล้างในข้อนี้ พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลยทั้งสองข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาททางราชการได้สงวนไว้ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (3) จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอ้างการครอบครองใช้ยันโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อที่สองจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เรื่องค่าเสียหายขาดอายุความนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29 อายุความ ในคดีแพ่งไม่เป็นกรณีเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามที่จำเลยทั้งสองอ้าง ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดสูงเกินไป อัตราค่าทนายความตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง น่าจะใช้กับทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความเท่านั้น ไม่น่าจะใช้รวมไปถึงพนักงานอัยการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (2) พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวงในกรณีเช่นนี้พนักงานอัยการจึงมีฐานะอย่างเดียวกับทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 ที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีในศาลให้แก่ผู้อื่น จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งในคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีชดใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ตามที่เห็นสมควรดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 บัญญัติไว้ และค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดมานั้นเหมาะสมแล้ว”
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์

Share