แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 117 ถึงมาตรา 123 โดยทรัพย์สินซึ่งรวบรวมได้มานั้นมาตรา 123 ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านที่จะนำออกขายตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุด ภายใต้เงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ เมื่อผู้คัดค้านขายสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่มีต่อผู้ร้องในมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งดังกล่าวโดยวิธีอื่นตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ จึงเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากนายพนมผู้ชำระบัญชีร้องขอให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนไทย จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2544 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2545
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นหนี้ลูกหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 22563/2538 หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ผู้ร้องได้ยื่นคำขอประนอมหนี้ต่อผู้คัดค้านที่ 1 ขอชำระหนี้ร้อยละ 80 ของต้นเงินที่ค้างชำระ ผ่อนชำระภายใน 6 เดือน ตามหลักเกณฑ์การประนอมหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน วันที่ 21 มกราคม 2547 ผู้ร้องได้ยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์ในการชำระหนี้ปิดบัญชีตามเงื่อนไขดังกล่าวไปยังผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อมาวันที่ 14 กรกฎาคม 2547 ผู้คัดค้านที่ 1 มีหมายแจ้งไปยังผู้ร้องว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัตนาระบบสถาบันการเงินไม่รับคำขอประนอมหนี้ของผู้ร้อง หลังจากนั้นผู้ร้องติดต่อประนอมหนี้อีกหลายครั้งจนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2547 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัตนาระบบสถาบันการเงินแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่ายินดีให้ผู้ร้องชำระหนี้ตามที่เสนอ โดยผู้ร้องเสนอเงื่อนไขใหม่ขอชำระหนี้ต้นเงินเต็มจำนวนเป็นเงิน 28,000,000 บาท วางเงินทันทีร้อยละ 30 ของต้นเงินดังกล่าวคิดเป็นเงิน 8,400,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่วางเงินงวดแรก จากการตกลงรับข้อเสนอการขอประนอมหนี้ดังกล่าวผู้ร้องจึงทำหนังสือขอให้ระงับการขายทอดตลาดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่มีต่อผู้ร้องลงวันที่ 8 ธันวาคม 2547 และหนังสือขอชำระหนี้ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 ไปยังผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระหว่างเสนอเรื่องดังกล่าวปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้ขายสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่มีต่อผู้ร้องให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2547 ในราคา 33,919,421.39 บาท การกระทำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่สุจริต ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายสิทธิเรียกร้องดังกล่าว และให้ผู้คัดค้านที่ 1 รับชำระเงินจากผู้ร้องตามจำนวนและเงื่อนไขที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้ตกลงไว้กับผู้ร้องดังกล่าว เมื่อผู้ร้องชำระเงินครบถ้วนให้ผู้คัดค้านที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องและหรือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันแห่งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องหรือบุคคลอื่นตามความประสงค์ของผู้ร้อง
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า หลังจากลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว อำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตกอยู่แก่ผู้คัดค้านที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 การดำเนินการเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 22563/2538 ผู้คัดค้านที่ 1 ดำเนินการไปตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้คดีนี้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 (ครั้งที่ 8) ที่ให้นำสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ออกขายโดยวิธีอื่นตามมาตรา 123 และได้ขายไปเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2547 การขายดำเนินไปตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งผู้ซื้อได้รับโอนสิทธิเรียกร้องเท่าที่ลูกหนี้มีอยู่ในขณะทำการขาย ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้ซื้อสิทธิเรียกร้องในคดีของศาลแพ่งดังกล่าวและชำระราคาครบถ้วนแล้วจึงได้รับโอนสิทธิเรียกร้องที่ประมูลซื้อ ผู้คัดค้านที่ 1 ส่งมอบสำนวน เอกสารต่างๆ รวมทั้งสิทธิของผู้ร้องให้แก่ผู้ประมูลซื้อแล้ว การขายดังกล่าวไม่ได้ทำให้ผู้ร้องรับภาระเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดผู้ซื้อสิทธิเรียกร้องมีสิทธิบังคับเท่าที่ลูกหนี้มีต่อผู้ร้องเท่านั้น ที่ผู้ร้องอ้างว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินยอมรับข้อเสนอขอประนอนหนี้ โดยให้ผู้ร้องชำระหนี้ต้นเงินเต็มจำนวน 28,000,000 บาทนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีเอกสารประกอบ ผู้ร้องไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนปกติและเงื่อนไขในการยื่นคำขอประนอมหนี้โดยไม่ได้ยื่นผ่านทางผู้คัดค้านที่ 1 หนังสือของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 8 และ 9 ธันวาคม 2547 ผู้ร้องไม่เคยส่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไม่ได้แจ้งแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ว่าผู้ร้องได้ขอประนอมหนี้หรืออยู่ระหว่างเจรจาขอประนอมหนี้ กองทุนดังกล่าวเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านที่ 1 ให้นำสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ออกขาย ผู้คัดค้านที่ 1 ดำเนินการขายสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้โดยชอบ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ขายสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 โดยชอบด้วยกฎหมาย กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัตนาระบบสถาบันการเงินไม่ได้ตกลงให้ผู้ร้องชำระหนี้ตามที่อ้าง ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 เกินกำหนดเวลา 14 วัน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์จากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 22563/2538 หลังจากลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ผู้ร้องยื่นคำขอประนอมหนี้ลงวันที่ 13 มกราคม 2547 ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาแล้วไม่รับคำขอประนอมหนี้ ต่อมาในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติให้ผู้คัดค้านที่ 1 นำสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ออกขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 123 ผู้คัดค้านที่ 1 ดำเนินการขายสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2547 โดยวิธียื่นแบบเสนอราคา ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 2 ซื้อสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 22563/2538 ดังกล่าวได้ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องมีว่า การขายสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ เก็บรวมรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 การรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติหมวด 4 ส่วนที่ 4 มาตรา 117 ถึงมาตรา 123 ทรัพย์สินซึ่งรวบรวมได้มานั้นบทบัญญัติในมาตรา 123 ให้อำนาจผู้คัดค้านที่ 1 ที่จะนำออกขายตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุด โดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่าผู้คัดค้านที่ 1 ขายสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่มีต่อผู้ร้องในมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งดังกล่าวโดยวิธีอื่นตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นดำเนินการโดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ