แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องโดยตอนแรกบรรยายถึงการที่จำเลยพูดกล่าวถ้อยคำซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นการดูหมิ่นโจทก์ ส่วนตอนหลังบรรยายถึงการที่จำเลยนำความไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนแล้วนำหลักฐานการแจ้งความไปเผยแพร่แล้วโจทก์สรุปว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความที่ทำให้โจทก์เสียหาย เห็นได้ว่าข้ออ้างที่โจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาละเมิดคือการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความของจำเลยอันทำให้โจทก์เสียหาย หาใช่การที่จำเลยพูดถ้อยคำหยาบคายต่อโจทก์ไม่ ทั้งทนายโจทก์ก็แถลงยืนยันต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2546 ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามคำฟ้องรวม 4 ครั้ง ซึ่งการกระทำละเมิดของจำเลยตามที่ทนายโจทก์แถลงไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวกับการพูดถ้อยคำหยาบคายของจำเลยดังกล่าว การพูดถ้อยคำหยาบคายของจำเลยจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่จึงมิใช่ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลต้องวินิจฉัย คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาเพียงว่า คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้ดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้าอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ด้วย แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้นำคำฟ้องส่วนนี้มาพิจารณาพิพากษา เป็นการตัดสินไม่ครบข้อหาในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 นั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยเมื่อวันที่ 18 และ 19 กรกฎาคม 2545 ไว้ 2 ตอน โดยตอนแรกบรรยายถึงการที่จำเลยได้พูดกับโจทก์ด้วยถ้อยคำอันหยาบคายซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นการดูหมิ่นโจทก์ ส่วนตอนหลังบรรยายถึงการที่จำเลยนำความไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์อบรมนักเรียนและพูดพาดพิงถึงจำเลยในลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่จำเลยและอาจเป็นการหมิ่นประมาทจำเลย แล้วจำเลยนำหลักฐานการแจ้งความคือภาพถ่ายรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานไปเผยแพร่แก่ครูอาจารย์ในที่ประชุมครูและนำไปอ่านให้นักเรียนฟังโดยจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แล้วโจทก์สรุปในตอนท้ายว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยการไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความที่ทำให้โจทก์เสียหาย กรณีจึงเห็นได้ว่าข้ออ้างที่โจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาละเมิดคือการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความของจำเลยอันทำให้โจทก์เสียหาย หาใช่การที่จำเลยพูดถ้อยคำหยาบคายต่อโจทก์ไม่ ทั้งทนายโจทก์ก็แถลงยืนยันต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2546 ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามคำฟ้องรวม 4 ครั้ง ซึ่งการกระทำละเมิดของจำเลยตามที่ทนายโจทก์แถลงไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวกับการพูดถ้อยคำหยาบคายของจำเลยดังกล่าว ดังนั้น การพูดถ้อยคำอันหยาบคายของจำเลยดังกล่าวจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่จึงมิใช่ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลต้องวินิจฉัยคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 แล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.