คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7475/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนกระทำละเมิดต่อโจทก์ไปตามคำสั่งหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างหรือตัวการหรือผู้ใช้ วานยินยอม สั่งและสมประโยชน์ในการที่จำเลยที่ 3 ขับรถยนต์กระบะในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู่ว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ประเด็นข้อพิพาทมีว่า จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 หรือไม่ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความดังกล่าว แต่โจทก์คงมี ค. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์กระบะไว้จากจำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ ตามคำเบิกความของ ค. ดังกล่าวไม่ได้ความว่า ระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความสัมพันธ์กันดังที่โจทก์บรรยายฟ้องแต่อย่างใด ส่วนพยานโจทก์ปากอื่นก็มิได้เบิกความถึงเรื่องนี้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ไปตามคำสั่งหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างหรือตัวการ แม้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ไปแล้ว ก็เป็นเพียงโจทก์ไม่ประสงค์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 เท่านั้น แต่โจทก์ก็ต้องนำสืบให้ฟังได้ความดังกล่าวตามฟ้องด้วยว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 3 เพราะจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 เมื่อโจทก์นำสืบไม่สมฟ้องจึงไม่อาจชนะคดีให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในการทำละเมิดของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งมีข้อความระบุให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในกรณีที่ผู้ขับขี่มิใช่ผู้เอาประกันภัยเพียงแต่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยโดยโจทก์มิได้ฟ้องเช่นนั้น เป็นการพิพากษานอกคำฟ้องนอกประเด็น จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2541 จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน รอ-7712 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนไว้ไปตามคำสั่งหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 โดยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังชนรถยนต์แท็กซี่หมายเลขทะเบียน 6 ท-6685 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ซึ่งมีนายคำหล้า ทาลุมพุก เป็นผู้ขับขณะจอดอยู่บนถนนสิรินธร (ขาออก) เป็นเหตุให้รถยนต์แท็กซี่ของโจทก์เสียหาย โจทก์ต้องเสียค่าซ่อมเป็นเงิน 474,292.50 บาท และต้องขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์ออกให้เช่าอัตราวันละ 800 บาท เป็นเวลา 114 วัน เป็นเงิน 91,200 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 607,252.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 565,492.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์แท็กซี่หมายเลขทะเบียน 6 ท-6685 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 เหตุเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของนายขวัญ ผู้ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 8 ฒ-3086 และนายคำหล้าผู้ขับรถยนต์แท็กซี่คันดังกล่าวโดยต่างขับด้วยความเร็วสูงขณะฝนตกถนนลื่น ทำให้รถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวเสียหลักเฉี่ยวชนกัน แล้วไถลไปชนท้ายรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน รอ-7712 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับ ทำให้รถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 3 ขับเสียหลักพุ่งชนท้ายรถยนต์แท็กซี่ที่นายคำหล้าขับอีกครั้งหนึ่ง ความเสียหายของรถยนต์แท็กซี่คันดังกล่าวมีไม่เกิน 200,000 บาท จำเลยที่ 1 รับประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน รอ-7712 กรุงเทพมหานคร ไว้จากจำเลยที่ 2 มีความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่เกิน 500,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 422,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2541 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยที่ 3 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน รอ-7712 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 1 โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์แท็กซี่หมายเลขทะเบียน 6 ท-6685 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ซึ่งมีนายคำหล้า ทาลุมพุก เป็นผู้ขับรถ ได้รับความเสียหาย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เมื่อโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ไปแล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้างหรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนกระทำละเมิดต่อโจทก์ไปตามคำสั่งหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างหรือตัวการหรือผู้ใช้ วาน ยินยอม สั่งและสมประโยชน์ในการที่จำเลยที่ 3 ขับรถยนต์กระบะคันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ก็ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ประเด็นข้อพิพาทมีว่า จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 หรือไม่ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความดังกล่าวแต่โจทก์คงมีนายคำหล้าผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน รอ-7712 กรุงเทพมหานครไว้จากจำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ ตามคำเบิกความของนายคำหล้าดังกล่าวไม่ได้ความว่า ระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความสัมพันธ์กันดังที่โจทก์บรรยายฟ้องแต่อย่างใด ส่วนพยานโจทก์ปากอื่นก็มิได้เบิกความถึงเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และได้ทำละเมิดต่อโจทก์ไปตามคำสั่งหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างหรือตัวการ แม้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ไปแล้ว ก็เป็นเพียงโจทก์ไม่ประสงค์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 เท่านั้น แต่โจทก์ก็ต้องนำสืบให้ฟังได้ความดังกล่าวตามฟ้องด้วยว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 3 เพราะจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์เมื่อจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 เมื่อโจทก์นำสืบไม่สมฟ้องจึงไม่อาจชนะคดีได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในการทำละเมิดของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.13 แผ่นที่ 2 ข้อ 2.6 ซึ่งมีข้อความระบุให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในกรณีที่ผู้ขับขี่มิใช่ผู้เอาประกันภัยเพียงแต่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยโดยโจทก์มิได้ฟ้องเช่นนั้น เป็นการพิพากษานอกคำฟ้องนอกประเด็นจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้ออื่นอีกต่อไปที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share