คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7499/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทของพันโท ช. รับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่พันโท ช. ค้ำประกันหนี้เงินกู้ของพันโท ป. ไว้แก่โจทก์ เมื่อความรับผิดของผู้ค้ำประกันที่ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เท่านั้น ทั้งผู้ค้ำประกันย่อมจะหลุดพ้นจากความรับผิดในขณะเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 และมาตรา 698 ความรับผิดของผู้ค้ำประกันในหนี้ที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้กับหนี้ที่ลูกหนี้จะต้องชำระนั้น เห็นได้ว่าเป็นมูลความแห่งคดีเดียวกันจึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทของพันโท ป. ผู้กู้ยกอายุความเกี่ยวแก่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ และปรากฏว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์อันมีต่อพันโท ป. เจ้ามรดกขาดอายุความแล้วทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดแก่โจทก์ตามฟ้อง กรณีจึงอยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ขาดอายุความ ศาลย่อมพิพากษาให้มีผลถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ขาดนัดซึ่งจะต้องรับผิดในฐานะทายาทของพันโท ช. ผู้ค้ำประกันหนี้ของพันโท ป. แก่โจทก์ด้วยได้ แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดภายหลังโจทก์ได้รู้ถึงความตายของพันโท ช. เจ้ามรดกเมื่อยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755 วรรคสาม ก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า พันโทประมวลทำสัญญากู้เงินกรุงไทย ธนวัฏ จำนวน 60,000 บาท จากโจทก์ และมีพันโทชายัณเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2543 โจทก์ส่งหนังสือทวงถามให้พันโทประมวลชำระหนี้จึงทราบว่าพันโทประมวลถึงแก่ความตายแล้ว และจากการสอบถามไปหน่วยงานต้นสังกัดของพันโทชายัณ โจทก์ก็ทราบว่าพันโทชายัณถึงแก่ความตายแล้วด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นภริยาผู้มีสิทธิรับมรดกของพันโทประมวลและพันโทชายัณตามลำดับ จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทของผู้ตายทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 34,619.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี จากต้นเงิน 18,501.69 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของโจทก์ข้อกฎหมายที่ว่า แม้หนี้ของพันโทประมวลผู้กู้ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทจะต้องรับผิดขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดี แต่โจทก์เพิ่งรู้ถึงความตายของพันโทชายัณผู้ค้ำประกันเมื่อยังไม่พ้น 1 ปี คดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของพันโทชายัณจะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ยังไม่ขาดอายุความ กรณีไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) มาปรับให้แก่คดีของจำเลยที่ 2 ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทของพันโทชายัณให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่พันโทชายัณค้ำประกันหนี้เงินกู้ของพันโทประมวลไว้แก่โจทก์ เมื่อความรับผิดของผู้ค้ำประกันที่ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น ทั้งผู้ค้ำประกันย่อมจะหลุดพ้นจากความรับผิดในขณะเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 และมาตรา 698 ความรับผิดของผู้ค้ำประกันในหนี้ที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้กับหนี้ที่ลูกหนี้จะต้องชำระนั้น ย่อมเห็นได้ชัดว่าเป็นมูลความแห่งคดีเดียวกันจึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทของพันโทประมวลผู้กู้ยกอายุความเกี่ยวแก่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ และปรากฏว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์อันมีต่อพันโทประมวลเจ้ามรดกขาดอายุความแล้วทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดแก่โจทก์ตามฟ้อง กรณีจึงอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) ที่บัญญัติให้บรรดากระบวนพิจารณาที่จำเลยที่ 1 ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้นั้น ให้ถือว่าได้กระทำโดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความร่วมด้วย ดังนี้ เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ขาดอายุความ ศาลย่อมพิพากษาให้มีผลถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ขาดนัดซึ่งจะต้องรับผิดในฐานะทายาทของพันโทชายัณผู้ค้ำประกันหนี้ของพันโทประมวลแก่โจทก์ด้วยได้ แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดภายหลังโจทก์ได้รู้ถึงความตายของพันโทชายัณเจ้ามรดกเมื่อยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share