คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6383/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและเข้าครอบครองทรัพย์เป็นส่วนสัดแล้ว การแบ่งมรดกจึงมีผลสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ฉะนั้น จำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินให้ผิดไปจากที่ได้แบ่งปันกันไปแล้วหาได้ไม่ และไม่มีสิทธิยุ่งเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวทั้งไม่มีสิทธิยกอายุความมรดกเป็นข้อต่อสู้ได้ เพราะสิ้นความเป็นทายาทในส่วนที่ดินพิพาทที่แบ่งปันกันแล้ว จึงไม่ใช่บุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754
ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งดั่งเช่นคดีนี้ ถือว่าเป็นผู้แทนของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทหาอาจยกอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามไปดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 20963, 20964, 20965 และ 20966 และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1367 กลับเป็นทรัพย์มรดกของนายเสนาะ ตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 975 เช่นเดิม โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม แล้วให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันแบ่งที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 975 ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามลำดับ โดยแบ่งให้โจทก์ที่ 1 ทางด้านทิศเหนือของที่ดินแปลงดังกล่าวจำนวน 11 ไร่ 1 งาน 19 ตารางวา และโจทก์ที่ 2 ทางด้านทิศเหนือถัดจากโจทก์ที่ 1 ลงมาทางด้านทิศใต้ จำนวนเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 17 ตารางวา และห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินเฉพาะของโจทก์ทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามได้ตกลงแบ่งที่ดินกันจริงโดยแบ่งให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 9 ไร่ ก่อน ส่วนที่เหลือจึงแบ่งกันสี่คน ส่วนจำเลยที่ 3 สละสิทธิ์ในการรับส่วนแบ่ง เมื่อตกลงแบ่งกันแล้วจึงไปยื่นคำร้องขอรับมรดกและรังวัดที่ดินเพื่อแบ่งแยก แล้วนายวิเชียร เจ้าหน้าที่ที่ดินได้ออกไปรังวัดเพื่อแบ่งแยกที่ดินพิพาทโดยรังวัดแบ่งแยกตามที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามตกลงกันตามแผนที่รังวัด โดยการออกไปรังวัดนี้โจทก์ทั้งสอง และนางประจิม กำนันที่ออกไประวังแนวเขตในการรังวัดต่างเบิกความว่า จำเลยทั้งสามต่างอยู่ด้วยในขณะที่มีการรังวัด ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความว่าไม่รู้เห็นการรังวัดของนายวิเชียรมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าทายาทของนายเสนาะทุกคนต่างรับรู้การรังวัดแบ่งแยกที่ดินของนายวิเชียรด้วย และโจทก์ทั้งสองเบิกความโดยมีนางประจิม นายประเสริฐ นายสมพงษ์และนายบุญเลิศเบิกความสนับสนุนว่า เมื่อรังวัดแบ่งแยกแล้ว โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างเข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามที่แบ่งแยกกันซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็เบิกความรับว่า เมื่อรังวัดแล้วระหว่างรอการประกาศของสำนักงานที่ดินโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างเข้าทำประโยชน์ที่ดินตามส่วนที่มีการรังวัดจริง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เมื่อนายวิเชียรรังวัดที่ดินเสร็จแล้ว โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างเข้าครอบครองที่ดินตามที่แบ่งแยก ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่รับฟังมาแล้วว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามตกลงแบ่งที่ดินพิพาทกันตามที่นายวิเชียรออกไปรังวัดจริง จากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่กล่าวมาแล้วย่อมแสดงว่าเมื่อรังวัดเสร็จแล้วได้มีการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทโดยการครอบครองเป็นส่วนสัดกันแล้ว การแบ่งมรดกจึงมีผลสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทั้งสามไม่ยอมโอนที่ดินตามที่โจทก์ทั้งสองครอบครองให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองแล้วที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด ตามมาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ดังที่วินิจฉัยข้างต้นแล้วเช่นนี้ ก็ไม่ขาดอายุความมรดกเพราะโจทก์ทั้งสองได้ที่ดินพิพาทตามที่เข้าครอบครองเป็นของตนโดยเด็ดขาดแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาที่ดินพิพาทให้ผิดไปจากที่ได้แบ่งปันกันไปแล้วหาได้ไม่ รวมทั้งไม่มีสิทธิยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินพิพาทเช่นนี้ย่อมสิ้นความเป็นทายาทในส่วนที่ดินพิพาทที่แบ่งปันกันแล้วจึงไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองได้ เพราะมิใช่บุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายดังเช่นคดีนี้ ถือว่าเป็นผู้แทนของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาท จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองได้ก็แต่ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ในคดีจัดการมรดก เท่านั้น แต่คดีนี้เป็นคดีมรดกจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก หาอาจยกอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทหาได้ไม่ คดีของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกตามฟ้อง การที่จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินพิพาทใหม่แล้วโอนที่ดินพิพาทตามส่วนแบ่งใหม่แก่จำเลยทั้งสามและมีการออกโฉนดที่ดินตามส่วนที่แบ่งใหม่ จึงเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ ศาลมีอำนาจเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าวและห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเกี่ยวข้องได้ แต่ที่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยทั้งสามแบ่งที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิใช่ผู้จัดการมรดก จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่อาจขอบังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ คงฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกแบ่งที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น แต่สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่วนนี้ให้หักจากกองมรดกทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1739 (1)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามไปดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 20963, 20964, 20965 และ 20966 ตำบลบ้านน้อย อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร กับ น.ส. 3 ก. เลขที่ 1367 กลับเป็นทรัพย์มรดกของนายเสนาะ ตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 975 โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเพิกถอน หากจำเลยทั้งสามเพิกเฉยให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามแล้วให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 975 ดังกล่าวทางด้านทิศเหนือแก่โจทก์ที่ 1 จำนวนเนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 19 ตารางวา และทางด้านทิศเหนือถัดลงมาจากโจทก์ที่ 1 แก่โจทก์ที่ 2 จำนวนเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 17 ตารางวา โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้หักจากกองมรดก หากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกเพิกเฉยให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสามศาลสำหรับโจทก์ที่ 1 จำนวน 8,000 บาท สำหรับโจทก์ที่ 2 จำนวน 2,000 บาท.

Share