แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์และคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และคำร้องแก่จำเลย โดยจำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์และไม่ปรากฏว่าได้คัดค้านคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาดังกล่าว แล้วต่อมา ย. ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ กรณีจึงย่อมเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับการมรณะของคู่ความ การที่ศาลชั้นต้นส่งคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ของ ย. ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตให้ ย. เข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ได้นั้น จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและเป็นข้อที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้มิได้มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นมาพิจารณาและแก้ไขให้ถูกต้องได้
คดีนี้ ศาลชั้นต้นโดยองค์คณะผู้พิพากษา 2 คน ได้ทำการพิจารณาและพิพากษายกฟ้องตามคำพิพากษา ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2545 ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 616/2548 ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในขณะนั้นเป็นผู้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา และนัดฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในวันที่ 10 มิถุนายน 2548 แต่คำพิพากษาศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 มิถุนายน 2548 นั้น มีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและผู้พิพากษาอีกคนหนึ่งลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา โดยผู้พิพากษาคนดังกล่าวไม่ได้นั่งพิจารณาคดีนี้และมิใช่บุคคลตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29(3) ที่จะมีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาหลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนี้แล้วได้ ทั้งคดีนี้มิใช่เป็นกรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 มิถุนายน 2548 จึงเป็นคำพิพากษาที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
คดีมีประเด็นข้อพิพาทโต้แย้งกันว่า จำเลยหรือตัวแทนของจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์หยุดทำกิจการทำไม้ป่าชายเลนที่ได้รับสัมปทานตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนเอกสารหมาย จ.4 เป็นการชั่วคราวอันจะเป็นเหตุให้จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนกับโจทก์หรือไม่ และจะต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายกับคืนเงินประกันในการที่จะต้องชำระเบี้ยปรับตามเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด อันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยจากพยานหลักฐานที่มีอยู่ในสำนวนตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้วทำคำพิพากษาใหม่ต่อไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 616/2548 โดยมิได้มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยซ้ำอีกแล้วสรุปว่าโจทก์ไม่อาจเรียกเงินค่าชดเชย ค่าเสียหายและเงินวางประกันความเสียหายตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน เนื่องจากขณะฟ้อง สัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนระหว่างโจทก์กับจำเลยยังมีผลผูกพันจนสิ้นอายุสัมปทานตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งใหม่ที่ทบทวนมติเดิมตามเอกสาร หมาย จ.35 เป็นทำนองว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั่นเอง ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 1,015,000 บาท และคืนเงินประกันจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่แล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ และศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งอนุญาตให้นางเยี่ยน เข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์และคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกานั้น ศาลชั้นต้นได้สั่งรับอุทธรณ์และส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และคำร้องแก่จำเลยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2548 เมื่อจำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2548 โดยไม่ปรากฏว่าได้คัดค้านคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาดังกล่าว และต่อมานางเยี่ยน มารดาโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ ตามคำร้องลงวันที่ 13 ตุลาคม 2548 กรณีจึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับการมรณะของคู่ความ การที่ศาลชั้นต้นส่งคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ของนางเยี่ยนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตให้นางเยี่ยน เข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ได้นั้น จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและเป็นข้อที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้มิได้มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นมาพิจารณาและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ให้นางเยี่ยน มารดาโจทก์เข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นอนุญาตให้นางเยี่ยน มารดาโจทก์เข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ได้…
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เดิมคดีนี้ศาลชั้นต้นโดยองค์คณะผู้พิพากษาคือนายสุภชัย และนายสมเลข ได้ทำการพิจารณาและพิพากษายกฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2545 ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว และให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 616/2548 โดยนายกฤษฏิ์พงศ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกระบี่ในขณะนั้นเป็นผู้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 12 พฤษภาคม 2548 และนัดฟังคำพิพากษาใหม่ในวันที่ 10 มิถุนายน 2548 แต่คำพิพากษาศาลชั้นต้น ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2548 ซึ่งมีนายกฤษฏิ์พงศ์ และนายมานิตย์ ลงลายมือชื่อทำคำพิพากษานั้น ข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่านายมานิตย์ ไม่ได้นั่งพิจารณาคดีนี้และมิใช่บุคคลตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 (3) ที่จะมีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาหลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนี้แล้วได้ ทั้งคดีนี้มิใช่เป็นกรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้น ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2548 นี้จึงเป็นคำพิพากษาที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
คดีมีประเด็นข้อพิพาทโต้แย้งกันว่า จำเลยหรือตัวแทนของจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์หยุดการทำกิจการทำไม้ป่าชายเลนที่ได้รับสัมปทานตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนเอกสารหมาย จ.4 เป็นการชั่วคราวอันจะเป็นเหตุให้จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนกับโจทก์หรือไม่ และจะต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายกับคืนเงินประกันในการที่จะต้องชำระเบี้ยปรับตามเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด อันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยจากพยานหลักฐานที่มีอยู่ในสำนวนตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้วทำคำพิพากษาใหม่ต่อไป ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 616/2548 โดยมิได้มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยซ้ำอีกแล้วสรุปว่าโจทก์ไม่อาจเรียกเงินค่าชดเชยค่าเสียหายและเงินวางประกันความเสียหายตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน เนื่องจากขณะฟ้อง สัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนระหว่างโจทก์กับจำเลยยังมีผลผูกพันจนสิ้นอายุสัมปทานตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งใหม่ที่ทบทวนมติเดิมตามเอกสารหมาย จ.35 เป็นทำนองว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั่นเอง ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วอีกด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำคำพิพากษาใหม่ตามประเด็นข้อพิพาทที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้ว ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.