คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4549/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้คู่ความต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ชวนผู้เสียหายไปที่ห้องพักของจำเลยแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายรวม 6 ครั้ง ซึ่งหลังจากกระทำชำเราผู้เสียหายในแต่ละกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้วข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ควบคุมหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้ในสถานที่เกิดเหตุเพื่อกระทำชำเราผู้เสียหายในครั้งต่อไปแต่อย่างใด โดยผู้เสียหายได้กลับไปที่บ้าน ผู้เสียหายย่อมพ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยในแต่ละกรรมแล้ว แม้จำเลยจะกระทำชำเราผู้เสียหายตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2548 เดือนละ 2 ครั้ง และในแต่ละครั้งจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาเดียวกันคือกระทำชำเราก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยในแต่ละครั้งเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายคนละวันต่างวาระกัน และมิได้กระทำต่อเนื่องกันโดยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายไว้จนผู้เสียหายไม่สามารถไปไหนได้ ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องข้อ ข. ว่า เมื่อระหว่างกลางเดือนตุลาคม 2548 ถึงปลายเดือนธันวาคม 2548 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายรวม 6 ครั้ง และมีคำขอท้ายฟ้องโดยอ้าง ป.อ. มาตรา 91 มาด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นต่างกรรมต่างวาระกัน
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ ง. ว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2549 เวลากลางคืน ถึงวันที่ 5 มกราคม 2549 เวลากลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหาย ฟ้องดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องซึ่งเป็นกรรมเดียวกันแตกต่างจากที่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ ข.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 92, 277, 317 และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำคุกกระทงละ 7 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ 5 ปี เพิ่มโทษกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำคุกกระทงละ 9 ปี 4 เดือน ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ 6 ปี 8 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี คงจำคุกกระทงละ 6 ปี 2 เดือน 20 วัน รวม 7 กระทง เป็นจำคุก 42 ปี 18 เดือน 20 วัน ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร คงจำคุกกระทงละ 4 ปี 5 เดือน 10 วัน รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี 26 เดือน 20 วัน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยมีกำหนด 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำคุกกระทงละ 7 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี คงจำคุกกระทงละ 4 ปี 8 เดือน รวม 7 กระทง เป็นจำคุก 32 ปี 8 เดือน ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร คงจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 16 ปี 8 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลย 49 ปี 4 เดือน ให้ยกคำขอส่วนที่ขอให้เพิ่มโทษจำเลย (ที่ถูก ต้องระบุด้วยว่า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น)
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีตามฟ้องข้อ ง. ซึ่งเหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2549 ต่อเนื่องกัน จำคุก 7 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสาม เป็นจำคุก 9 ปี 4 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี 2 เดือน 20 วัน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ในความผิดฐานดังกล่าวโดยไม่เพิ่มโทษจำเลย และลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำคุก 7 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม เป็นจำคุก 4 ปี 8 เดือน เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว
การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีตามฟ้องข้อ ข. รวม 6 กระทง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีตามฟ้องข้อ ข. จำคุกกระทงละ 7 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสาม เป็นจำคุกกระทงละ 9 ปี 4 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 6 ปี 2 เดือน 20 วัน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ในความผิดฐานดังกล่าวโดยไม่เพิ่มโทษจำเลย และลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำคุกกระทงละ 7 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามเป็นจำคุกกระทงละ 4 ปี 8 เดือน เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายเกิดเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2536 มิได้เป็นภริยาของจำเลย เมื่อประมาณกลางเดือนตุลาคม 2548 ถึงปลายเดือนธันวาคม 2548 จำเลยได้ชวนผู้เสียหายไปที่ห้องพักของจำเลยแล้วกระทำชำเราผู้เสียหาย รวม 6 ครั้ง ซึ่งหลังจากกระทำชำเราผู้เสียหายในแต่ละกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้ว ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ควบคุมหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้ในสถานที่เกิดเหตุเพื่อกระทำชำเราผู้เสียหายในครั้งต่อไปแต่อย่างใด โดยผู้เสียหายได้กลับไปที่บ้าน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้ ผู้เสียหายย่อมพ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยในแต่ละกรรมแล้ว แม้จำเลยจะกระทำชำเราผู้เสียหายตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2548 เดือนละ 2 ครั้ง และในแต่ละครั้งจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาเดียวกันคือกระทำชำเราก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยในแต่ละครั้งเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายคนละวันต่างวาระกัน และมิได้กระทำต่อเนื่องกันโดยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายไว้จนผู้เสียหายไม่สามารถไปไหนได้ประกอบกับโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อ ข. ว่า เมื่อระหว่างกลางเดือนตุลาคม 2548 ถึง ปลายเดือนธันวาคม 2548 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายรวม 6 ครั้ง และมีคำขอท้ายฟ้องโดยอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นต่างกรรมต่างวาระกัน เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันและศาลสามารถลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ได้
โจทก์บรรยายฟ้องในฟ้องข้อ ง. ว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2549 เวลากลางคืน ถึงวันที่ 5 มกราคม 2549 เวลากลางคืน ต่อเนื่องกัน จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหาย ฟ้องโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันซึ่งเป็นกรรมเดียว แตกต่างจากที่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ ข. ดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ ข. โดยเรียงกระทงลงโทษรวม 6 กระทง จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จะได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะการทำความผิดบังคับแก่จำเลย
พิพากษายืน.

Share