แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบเงินจำนวน 60,950 บาท และเงินจำนวน 18,500 บาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดรถจักรยานยนต์ ศาลชั้นต้นพิพากษาริบเงินจำนวน 60,950 บาท แต่ให้คืนเงินจำนวน 18,500 บาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดรถจักรยานยนต์ ผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้ริบเงินจำนวนดังกล่าว ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า รถจักรยานยนต์ของผู้คัดค้านเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินที่จำหน่ายยาเสพติดโดยผ่อนชำระแก่ผู้ให้เช่าซื้อ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง ให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง จึงไม่มีค่าธรรมเนียมศาลอุทธรณ์ที่ต้องสั่งคืนให้แก่ผู้ร้อง
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2546 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านกุ่มอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ร่วมกันจับกุมนายวิโรจน์ พร้อมของกลางเงินสดจำนวน 60,950 บาทเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1 เม็ด ถุงพลาสติกสีน้ำเงินมีคราบเมทแอมเฟตามีนติดอยู่จำนวน 2 ถุงรถจักรยานยนต์ จำนวน 1 คัน โทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 2 เครื่อง และยึดสร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท 1 เส้น ที่นายวิโรจน์สวมใส่อยู่ โดยกล่าวหาว่า มียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเหตุเกิดบนถนนสายคันคลองลพบุรี – บ้านแพรก หมู่ที่ 14 ตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เงินสดจำนวน 60,950 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ รถจักรยานยนต์ และสร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงส่งทรัพย์สินดังกล่าวให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการต่อไป สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่า นายวิโรจน์เป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (1) มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเงินสดจำนวน 60,950 บาท และรถจักรยานยนต์เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงให้ยึดเงินสดจำนวน 60,950 บาท และรถจักรยานยนต์ไว้ชั่วคราวมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ต่อมาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ดำเนินการขายทอดตลาดรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว มีผู้ประมูลราคาได้ในราคา 18,500 บาท ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ว่าด้วยการเก็บรักษาและการจัดการทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัด พ.ศ.2543 ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ว่าด้วยการให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทรัพย์สินไปดูแลและใช้ประโยชน์ การนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด และการนำทรัพย์สินไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการพ.ศ.2543 โดยคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาแล้ว มีมติให้แก้ไขบัญชีทรัพย์สินจากรายการรถจักรยานยนต์เป็นเงินสดจำนวน 18,500 บาท และมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องพิจารณาดำเนินการยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ผู้ร้องพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมมาปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า ทรัพย์สิน 2 รายการ คือ เงินสดและเงินสดค่าขายรถจักรยานยนต์รวมมูลค่า 79,450 บาท ตามบัญชีทรัพย์เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดมูลฐาน และมีเหตุพอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน 2 รายการมูลค่า 79,450 บาท อันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนายวิโรจน์ พร้อมดอกผลของเงินที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ.2542 มาตรา 51
วันที่ 2 กันยายน 2546 ผู้ร้องยื่นคำร้องให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ไว้ชั่วคราวเนื่องจากคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 81/2546 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2546 จะครบกำหนด 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2546 ศาลชั้นต้นไต่สวนฉุกเฉินแล้วมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์ ตามบัญชีทรัพย์สินจำนวน 2 รายการ ไว้ชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2546
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เงินจำนวน 60,950 บาท พร้อมดอกผลตามบัญชีทรัพย์สินของนายวิโรจน์ ตกเป็นของแผ่นดินและให้คืนเงินค่าขายทอดตลาดรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กบน ลพบุรี 965จำนวน 18,500 บาท ตามบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไว้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน
ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นเห็นว่า ผู้คัดค้านทิ้งอุทธรณ์จึงรวบรวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนสำหรับอุทธรณ์ของผู้ร้อง และให้จำหน่ายอุทธรณ์ของผู้คัดค้านออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบเงินจำนวน 60,950 บาท และเงินจำนวน 18,500 บาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดรถจักรยานยนต์ ศาลชั้นต้นพิพากษาริบเงินจำนวน 60,950 บาท แต่ให้คืนเงินจำนวน 18,500 บาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดรถจักรยานยนต์ ผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้ริบเงินจำนวนดังกล่าว ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า รถจักรยานยนต์ของผู้คัดค้านเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินที่จำหน่ายยาเสพติดโดยผ่อนชำระแก่ผู้ให้เช่าซื้อเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง ให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง จึงไม่มีค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ที่ต้องสั่งคืนให้แก่ผู้ร้อง
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนอุทธรณ์ของผู้ร้องและยกฎีกาของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.