คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5162/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ว. บิดาโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยตรงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ว. ตายโดยไม่ได้ถูกทำร้ายถึงตายตามมาตรา 5 (2) โจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานจึงไม่มีอำนาจจัดการแทน ว. ฟ้องจำเลยได้ ปรากฏว่า ว. เพียงแต่ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น ยังไม่ได้ฟ้องคดีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 29 ที่โจทก์จะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปได้ โจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และเมื่อ ว. ตายสิทธิที่ ว. ได้ร้องทุกข์ไว้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 เพราะการฟ้องคดีต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) เสียแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) บัญญัติว่า ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 มาตรา 5 (2) บัญญัติว่า ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา จัดการแทนผู้เสียหายเฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ มาตรา 28 บัญญัติว่า บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล (1) พนักงานอัยการ (2) ผู้เสียหาย มาตรา 29 บัญญัติว่า เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาจะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้ เห็นว่า นายวาด สาตรร้าย บิดาโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยตรงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) นายวาดตายโดยไม่ได้ถูกทำร้ายถึงตายตามมาตรา 5 (2) โจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานจึงไม่มีอำนาจจัดการแทนนายวาดฟ้องจำเลยได้ ปรากฏว่านายวาดเพียงแต่ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น ยังไม่ได้ฟ้องคดี จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 29 ที่โจทก์จะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปได้ โจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อนายวาดร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยเกี่ยวด้วยทรัพย์ของนายวาด ดังนั้น เมื่อนายวาดตายสิทธิที่นายวาดได้ร้องทุกข์ไว้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจจึงเป็นมรดกตกแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และมาตรา 1600 ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของนายวาดจึงมีอำนาจสวมสิทธิที่นายวาดร้องทุกข์ไว้ดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไปได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย เห็นว่า การฟ้องคดีต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) เสียแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share