คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3039/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย จากการตรวจชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ผู้ตายมีภาวะปอดบวมแทรกซ้อจนถึงแก่ความตาย เหตุที่ทำให้มีภาวะปอดบวมแทรกซ้อนก็เนื่องมาจากสาเหตุที่ผู้ตายได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิง เห็นได้ว่า แม้ผู้ตายจะตายเนื่องจากมีอาการปอดบวมแทรกซ้อน แต่การแทรกซ้อนดังกล่าวก็สืบเนื่องโดยตรงจากบาดแผลที่ถูกยิง การตายของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการยิง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จมิใช่เป็นเพียงความพยายามกระทำความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 288, 289 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง หลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นจำคุก 8 เดือน ฐานพกอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน เมื่อความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนลงโทษประหารชีวิต จึงไม่อาจนำโทษจำคุกในความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและฐานพกอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมารวมได้อีก คงประหารชีวิตจำเลยสถานเดียว ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2542 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา นางจารุวรรณ บุญมี ผู้ตาย ขับรถจักรยานยนต์มีเด็กหญิงจันทิรา บุญมี บุตรสาวนั่งซ้อนข้างหน้ามาจอดที่หน้าบ้านของตน ขณะที่ผู้ตายกำลังจะจอดรถนั้น ได้มีคนร้ายเดินมาจากถนนตรงมาที่ด้านข้างของผู้ตายแล้วล้วงอาวุธปืนจากเอวด้านขวาขึ้นมาเล็งที่ศีรษะผู้ตาย ผู้ตายวิ่งหนี คนร้ายยิงผู้ตาย 2 นัด แล้วหลบหนีไป ต่อมาผู้ตายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาล คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยมีความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ ในปัญหานี้ข้อที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยเป็นร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายหรือไม่ โจทก์มีพยานเบิกความข้อนี้ 8 ปาก คือ นายเชี่ยว ทองดี นางเจี้ยน ทองดี เด็กหญิงจันทิรา บุญมี สิบเอกผจญ ทองดี นางสุจินต์ ปานสมุทร์ นายสุชาติ บุญมี นายสุคนธ์ ทองสวี และพันตำรวจตรีสัญญา เย็นใส โดยนายเชี่ยวเบิกความว่า นายเชี่ยวเป็นบิดาผู้ตายและเป็นลุงเขยของจำเลย วันเกิดเหตุนายเชี่ยวพูดคุยอยู่กับนางเจี้ยนซึ่งเป็นมาดาของผู้ตาย นางเจิ้นซึ่งเป็นมารดาของจำเลย นางสุจินต์ นายสุคนธ์และนายสุชาติอยู่ที่หน้าบ้าน หลังจากนั้นนายเชี่ยวเข้าไปดูโทรทัศน์ในบ้านส่วนคนอื่นๆ ยังพูดคุยกันอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงนายเชี่ยวได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์มาจอดที่บริเวณหน้าบ้านแล้วดับเครื่อง หลังจากนั้นมีเสียงปืน 1 นัด นายเชี่ยวลุกมายืนที่ประตูหน้าบ้าน หลังจากนั้นได้ยินเสียงปืนอีก 1 นัด จึงถามว่านี่อะไรกัน แล้วเห็นผู้ตายนอนคว่ำหน้าอยู่บริเวณหน้ารถจักรยานยนต์ นายเชี่ยวเห็นจำเลยทางด้านข้างเดินออกจากที่เกิดเหตุไปยังถนน ขณะนั้นเด็กหญิงจันทิรา บุญมี บุตรสาวของผู้ตายวิ่งรอบผู้ตายพูดว่า อย่ายิงแม่ อย่ายิงแม่ นายเชี่ยวเข้าไปหาผู้ตายและจับมือถามว่าเป็นอย่างไร ผู้ตายบอกจ๋อยยิง จ๋อยเป็นชื่อเล่นของจำเลย นายเชี่ยวเรียกนายสุคนธ์มาช่วยและให้คนในบริเวณนั้นไปแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจ หลังจากมีคนนำผู้ตายไปส่งโรงพยาบาลแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจมาที่เกิดเหตุ นายเชี่ยวบอกเจ้าพนักงานตำรวจว่าคนร้ายคือนายจ๋อย ต่อมาผู้ตายก็ถึงแก่ความตาย นางเจี้ยนเบิกความว่านางเจี้ยนเป็นมารดาผู้ตาย จำเลยเป็นหลานของนางเจี้ยน วันเกิดเหตุขณะนางเจี้ยนนั่งคุยอยู่กับนางเจิ้นซึ่งเป็นมารดาของจำเลย นางสุจินต์ซึ่งเป็นบุตรสาวนางเจี้ยน นายสุคนธ์และนายสุชาติที่บริเวณหน้าบ้าน นางเจี้ยนเห็นผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มีเด็กหญิงจันทิรา ซึ่งเป็นบุตรสาวนั่งซ้อนอยู่ด้านหน้าและมาจอดอยู่หน้าบ้าน ขณะนั้นจำเลยเดินมาจากถนนตรงไปที่ผู้ตายแล้วล้วงปืนเล็งไปที่ผู้ตาย ผู้ตายวิ่งหนีแต่จำเลยยิงทัน ผู้ตายล้มคว่ำ จำเลยยิงผู้ตายบริเวณหลังอีก 1 นัด แล้วเดินจากไป ต่อมาผู้ตายถูกนำส่งโรงพยาบาลและขณะอยู่โรงพยาบาล นางเจี้ยนไปเยี่ยมผู้ตาย ผู้ตายบอกว่าไม่รู้ว่าจำเลยยิงตนเรื่องอะไร เด็กหญิงจันทิราเบิกความว่า เด็กหญิงจันทิราเป็นบุตรสาวของผู้ตาย วันเกิดเหตุเด็กหญิงจันทิรานั่งรถจักรยานยนต์มากับผู้ตาย ผู้ตายจอดรถที่หน้าบ้าน เด็กหญิงจันทิราได้ยินเสียงปืน 1 นัด จึงหันไปดู เห็นจำเลยยืนอยู่ด้านหลังผู้ตายจำเลยถืออาวุธปืนสั้นสีขาว ผู้ตายล้มลงจำเลยยิงอีก 1 นัด เด็กหญิงจันทิราวิ่งไปหานางเจี้ยนบอกว่าน้าจ๋อยยิงแม่ สิบเอกผจญเบิกความว่า สิบเอกผจญเป็นญาติจำเลย วันที่ 20 เมษายน 2542 นางสุจินต์และนางสาวบุญเจือ ทองดี ซึ่งเป็นพี่สาวได้ไปหาสิบเอกผจญ นางสุจินต์บอกว่าจำเลยยิงผู้ตาย สิบเอกผจญไปที่โรงพยาบาลชุมพรเห็นผู้ตายออกจากห้องผ่าตัดเพื่อนำไปรักษาที่ห้องฉุกเฉิน ต่อมาผู้ตายถูกย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลทักษิณ ระหว่างนั้นผู้ตายบอกสิบเอกผจญว่าจำเลยยิงผู้ตาย และผู้ตายเขียนหนังสือตามเอกสารหมาย จ.7 ว่าจำเลยเป็นคนยิง นางสุจินต์เบิกความว่านางสุจินต์เป็นพี่สาวผู้ตาย วันเกิดเหตุผู้ตายขับรถจักรยานยนต์โดยมีบุตรสาวคือ เด็กหญิงจันทิรานั่งซ้อนอยู่ข้างหน้า ขณะนั้นมีมารดาของนางสุจินต์ นายสุชาติ นายสุคนธ์และมารดาจำเลยนั่งอยู่ด้วย ส่วนบิดาของนางสุจินต์อยู่ในบ้านขณะผู้ตายนั่งคร่อมรถอยู่ นางสุจินต์เห็นจำเลยเดินมาที่ด้านข้างผู้ตายแล้วชักปืนสั้นยิงผู้ตาย ผู้ตายส่งเสียงร้อง มีเสียงปืนอีก 1 นัด ผู้ตายล้มลง นางสุจินต์วิ่งไปยกรถจักรยานยนต์ของผู้ตายขับไปที่บ้านนายดำเพื่อให้นายดำนำรถกระบะไปส่งผู้ตายที่โรงพยาบาลและบอกนายดำว่าจำเลยเป็นคนยิง นายสุชาติเบิกความว่า นายสุชาติเป็นญาติกับนายเชี่ยว วันเกิดเหตุนายสุชาตินั่งคุยที่บ้านนายเชี่ยว นายสุชาติเห็นผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาจอดที่หน้าบ้านของผู้ตาย ห่างบริเวณที่นายสุชาติกับพวกนั่งอยู่ประมาณ 8 เมตร จากนั้นมีเสียงปืน 1 นัด ได้ยินเสียงผู้ตายร้องจึงหันไปดูเห็นรถจักรยานยนต์ล้มลง นายสุชาติเห็นคนร้ายยืนอยู่มีลักษณะคล้ายจำเลย นายสุคนธ์เบิกความว่า นายสุคนธ์รู้จักนายเชี่ยวผู้ตายและจำเลย วันเกิดเหตุขณะที่นายสุคนธ์นั่งคุยอยู่บริเวณหน้าบ้านนายเชี่ยวมีเสียงปืนดัง 2 นัด นายสุคนธ์หันไปดูเห็นผู้ตายล้มลงและได้ยินเสียงเด็กหญิงจันทิราร้องว่าน้าจ๋อยยิงแม่ทำไม และพันตำรวจตรีสัญญาเบิกความว่าเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ วันเกิดเหตุพันตำรวจตรีสัญญาได้รับแจ้งว่ามีเหตุยิงกันบริเวณเกิดเหตุพันตำรวจตรีสัญญาไปที่โรงพยาบางสวี เด็กหญิงจันทิราและผู้ตายบอกพันตำรวจตรีสัญญาว่าจำเลยเป็นคนยิงผู้ตาย จำเลยเข้ามอบตัวและให้การปฏิเสธ จากการสืบสวนทราบว่า เหตุที่จำเลยยิงผู้ตายก็เพราะสามีของผู้ตายได้ยิงน้องชายจำเลยจนน้องชายจำเลยถึงแก่ความตายและกระสุนปืนถูกหลานจำเลยจนพิการ ขณะนี้สามีผู้ตายอยู่ระหว่างหลบหนี ศาลฎีกาเห็นว่า พยานโจทก์ทั้ง 8 ปากไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งปากนายเชี่ยว นางเจี้ยน เด็กหญิงจันทิรา สิบเอกผจญ นางสุจินต์ นายสุชาติ เป็นญาติจำเลย จึงไม่น่าจะมีการเบิกความปรักปรำจำเลย อนึ่ง แม้เวลาเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน แต่ก็เกิดเหตุที่หน้าบ้านของผู้ตายซึ่งย่อมต้องมีแสงไฟฟ้าสว่าง ประกอบกับจำเลยเป็นบุคคลที่คุ้นเคยกับพยาน อีกทั้งพยานบางปากเช่นเด็กหญิงจันทิราอยู่ในเหตุการณ์และอยู่ประชิดตัวจำเลยขณะเกิดเหตุ ย่อมไม่มีเหตุให้สงสัยว่ามีการจำผิดคนไปได้ พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังได้อย่างมั่นคงว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย การนำสืบอ้างฐานที่อยู่ของจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ มีข้อที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่าการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดสำเร็จหรือเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น โดยจำเลยฎีกาว่า ผู้ตายมีโรคแทรกซ้อนจนเป็นปอดบวม ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า พยานโจทก์ปากนายแพทย์วิบูลย์ ทองด้วง เบิกความว่า พยานเป็นผู้รักษาและตรวจชันสูตรพลิกศพผู้ตาย สำหรับสาเหตุของความตายนั้น นายแพทย์วิบูลย์อธิบายว่า จากการตรวจชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ผู้ตายมีภาวะปอดบวมแทรกซ้อนจนถึงแก่ความตาย และนายแพทย์วิบูลย์อธิบายต่อไปอีกว่า เหตุที่ทำให้มีภาวะปอดบวมแทรกซ้อนก็เนื่องมาจากสาเหตุที่ผู้ตายได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิง คำเบิกความของนายแพทย์วิบูลย์ดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้ผู้ตายจะตายเนื่องจากมีอาการปอดบวมแทรกซ้อน แต่การแทรกซ้อนดังกล่าวก็สืบเนื่องโดยตรงจากบาดแผลที่ถูกยิง การตายของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการยิง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จมิใช่เป็นเพียงความพยายามกระทำความผิดดังที่จำเลยฎีกา จำเลยฎีกาต่อไปอีกว่า โจทก์สืบไม่ได้ว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าจากข้อเท็จจริงที่จำเลยเดินเข้ามาหาผู้ตายแล้วชักอาวุธปืนขึ้นมายิงผู้ตาย โดยจำเลยและผู้ตายมิได้มีกรณีวิวาทกันแสดงว่าการตัดสินใจของจำเลยที่จะยิงผู้ตายมิใช่เป็นการตัดสินใจแบบทันทีทันใด แต่เป็นการตัดสินใจไว้ล่วงหน้าเป็นเวลาช่วงหนึ่งแล้ว การยิงผู้ตายของจำเลยจึงเป็นการยิงโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่าจำเลยมอบตัวต่อสู้คดีแสดงว่าลุแก่โทษแล้ว จึงสมควรลดโทษให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ได้ความจากโจทก์ปากพันตำรวจตรีสัญญาว่าในตอนเช้าของวันหลังวันเกิดเหตุ จำเลยได้เข้ามอบตัวพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยให้การปฏิเสธ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเรียกจำเลยมาแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเป็นว่าฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน รวมทั้งแจ้งข้อหาเกี่ยวกับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนด้วย จำเลยยังให้การปฏิเสธ แสดงว่าจำเลยมิได้หลบหนีทั้งที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ แต่จำเลยได้ให้ความร่วมมือแก่เจ้าพนักงานตำรวจโดยดีอันเป็นการลุแก่โทษอันเป็นเหตุบรรเทาโทษอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ศาลฎีกาเห็นสมควรลดโทษให้แก่จำเลย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกจำเลยตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share