แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ที่ดินของจำเลยถูกเวนคืนเนื้อที่ 42 ตารางวา และจำเลยไปทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนกับโจทก์ในจำนวนเนื้อที่ 42 ตารางวา โดยได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้งหมดแล้วและจำเลยได้ส่งมอบที่ดินที่ถูกเวนคืนให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว แม้โจทก์ใช้เนื้อที่ดินที่เวนคืนมาไม่หมดคงใช้ประโยชน์เพียง 28 ตารางวาก็มิใช่เป็นกรณีที่เกิดจากการรังวัดคลาดเคลื่อนในจำนวนเนื้อที่ดินที่ซื้อขายกัน กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 42 ตารางวา ย่อมตกเป็นของโจทก์โดยสมบูรณ์ตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ และไม่มีกฎหมายใดให้สิทธิหรือให้อำนาจโจทก์คืนที่ดินที่เวนคืนไปแล้วแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแก่เจ้าของเดิม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 14 ตารางวา ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 581,782.61 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 562,257.64 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งเก้าให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 14 ตารางวา ได้หรือไม่ เห็นว่า หลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ ประกาศใช้บังคับแล้ว โจทก์มีหน้าที่ดำเนินการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอนให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และต้องเสนอรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สำรวจแล้วเสร็จตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินค่าทดแทนและจำนวนเงินค่าทดแทนแล้ว โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 8153 ของจำเลยถูกเวนคืนบางส่วนเป็นเนื้อที่ 42 ตารางวา ได้รับเงินค่าทดแทน 1,617,000 บาท ตามประกาศของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ เอกสารหมาย จ.6 จำเลยกับโจทก์จึงได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนในจำนวนเนื้อที่ 42 ตารางวา ตารางวาละ 38,500 บาท เป็นเงิน 1,617,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งมีเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 4 ให้โจทก์แบ่งจ่ายเงินเป็น 2 งวด งวดที่ 1 จ่ายให้ร้อยละ 35 เป็นเงิน 1,212,750 บาท จะจ่ายให้เมื่อผู้ขายได้นำโฉนดที่ดินหรือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินอย่างอื่นไปยื่นขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้วงวดที่ 2 จ่ายส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 25 เป็นเงิน 404,250 บาท ให้ในวันที่ผู้ขายไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ขายได้รื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆ ออกไปจากที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้งหมดแล้วซึ่งเมื่อจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาข้อ 4 ถูกต้องครบถ้วน และโจทก์ได้ชำระเงินค่าทดแทนที่ดินตามสัญญาซื้อขายจำนวน 42 ตารางวา เป็นเงิน 1,617,000 บาท ให้จำเลยรับไปเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2535 ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.7 กับได้ชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตารางวาละ 1,500 บาท จำนวน 42 ตารางวา เป็นเงิน 63,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยรับไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2536 แล้ว ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.10 และข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า ที่ดินของจำเลยถูกเวนคืนเนื้อที่ 42 ตารางวา โจทก์รับมอบที่ดินที่เวนคืนจำนวน 42 ตารางวา จากจำเลยแล้ว แต่โจทก์ใช้เนื้อที่ดินที่เวนคืนมาไม่หมด คงใช้เพียง 28 ตารางวา จึงเป็นกรณีที่มีการตกลงซื้อขายที่ดินของจำเลยที่ถูกเวนคืนเป็นจำนวนเนื้อที่แน่นอน ซึ่งตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ให้ถือว่าได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวนับแต่วันชำระเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดให้แก่เจ้าของโจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินเนื้อที่ 42 ตารางวา ของจำเลยที่ถูกเวนคืนไปแล้วตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ชำระเงินค่าทดแทนที่ดินในจำนวนเนื้อที่ 42 ตารางวาให้จำเลยรับไปก่อน แต่ที่ดินของจำเลยที่ถูกเวนคืนจริงหลังทำการรังวัดมีเนื้อที่เพียง 28 ตารางวา จำเลยจึงรับเงินค่าทดแทนที่ดินเกินไป 14 ตารางวา ซึ่งตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนเอกสารหมาย จ.5 มีเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 8 ว่า ถ้ามีการคลาดเคลื่อนในจำนวนเนื้อที่ดินที่ซื้อขายผู้ซื้อและผู้ขายตกลงยินยอมให้คิดราคาค่าทดแทนที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ที่ซื้อขายตามความเป็นจริงที่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว นั้น เห็นว่า ตามประกาศของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ เอกสารหมาย จ.6 ที่ดินของจำเลยถูกเวนคืนเนื้อที่ 42 ตารางวา และจำเลยไปทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนกับโจทก์ในจำนวนเนื้อที่ 42 ตารางวา โดยได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนดังกล่าวทั้งหมดแล้วและจำเลยได้ส่งมอบที่ดินที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 42 ตารางวา ซึ่งอยู่ในเขตเวนคืนให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว แม้โจทก์ใช้เนื้อที่ดินที่เวนคืนมาไม่หมดคงใช้ประโยชน์เพียง 28 ตารางวาก็ตาม ก็มิใช่เป็นกรณีที่เกิดจากการรังวัดคลาดเคลื่อนในจำนวนเนื้อที่ดินที่ซื้อขายกัน ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 42 ตารางวา ย่อมตกเป็นของโจทก์โดยสมบูรณ์แล้วตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 และไม่มีกฎหมายใดให้สิทธิหรือให้อำนาจโจทก์คืนที่ดินที่เวนคืนไปแล้วแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแก่เจ้าของเดิม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 14 ตารางวาที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4797/2541 ที่โจทก์อ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน