คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งตามรายงานการสืบเสาะและพินิจ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 แถลงรับตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องโทษตามคดีอาญาดังกล่าวอีกคนละ 2 คดี ของศาลชั้นต้นจริง โดยใหรอการลงโทษไว้และภายในเวลาที่ศาลกำหนดไว้ในคดีก่อน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มากระทำความผิดคดีนี้ เช่นนี้แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องและขอให้บวกโทษในคดีดังกล่าวเข้ากับโทษคดีนี้ แต่เป็นกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลเองจากรายงานการสืบเสาะและพินิจ ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ศาลจึงต้องนำโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีก่อนเรื่องนั้นของศาลชั้นต้นมาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295 จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 อายุ 17 ปี 6 เดือน ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุก 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 6 เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 3 เดือน ให้บวกโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1273/2544 ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 29/2545 ของศาลจังหวัดสุรินทร์ เข้ากับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 เดือน และให้บวกโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 394/2544 ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1101/2544 ของศาลจังหวัดสุรินทร์ เข้ากับโทษจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 13 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามจำคุกคนละ 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 2 เดือน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 3 เดือน โดยพิพากษาแก้เฉพาะโทษ ส่วนบทลงโทษคงเดิม เป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยทั้งสามฎีกาขอให้รอการลงโทษ เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 บวกโทษจำคุกคดีนี้เข้ากับโทษจำคุกในคดีก่อนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งตามรายงานการสืบเสาะและพินิจและจำเลยที่ 1 และที่ 2 แถลงรับตามคดีอาญาดังกล่าวอีกคนละ 2 คดี ของศาลชั้นต้นจริงโดยให้รอการลงโทษไว้ และภายในเวลาที่ศาลกำหนดไว้ในคดีก่อน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มากระทำความผิดคดีนี้ เช่นนี้แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องและขอให้บวกโทษในคดีดังกล่าวเข้ากับโทษคดีนี้ แต่เป็นกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลเองจากรายงานการสืบเสาะและพินิจ ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ศาลจึงต้องนำโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีก่อนเรื่องนั้นของศาลชั้นต้นมาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 บวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 คดีนี้เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ละคนในคดีก่อนจึงชอบแล้ว และไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share