คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4957/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้คำขอท้ายฟ้องจะระบุอ้าง ป.อ. มาตรา 371 ไว้ด้วย แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดดังกล่าวว่าเป็นการพาอาวุธโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ดังนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรานี้มิได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 371, 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุก (คนละ) 1 ปี ฐาน (ร่วมกัน) พาอาวุธปืนเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก (คนละ) 6 เดือน และฐาน (ร่วมกัน) พาอาวุธมีด ปรับ (คนละ) 90 บาท รวมจำคุก (คนละ) 1 ปี 6 เดือน และปรับ (คนละ) 90 บาท คำรับในชั้นจับกุมและทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก (คนละ) 12 เดือน และปรับ (คนละ) 60 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนของกลางศาลมีคำพิพากษาให้ริบในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1984/2545 ของศาลชั้นต้น จึงไม่สั่งริบในคดีนี้อีก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2545 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา นายมนัสขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 1 นายรัฐพลและจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายตามลำดับ เจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจค้นตัวจำเลยทั้งสองกับพวก พบอาวุธปืนลูกซองสั้นไม่มีเครื่องหมายทะเบียน 1 กระบอก พร้อมกระสุนปืนบรรจุในลำกล้อง 1 นัดที่ตัวนายมนัส และพบอาวุธมีดสปาต้า 1 เล่ม ที่มือข้างซ้ายของจำเลยที่ 2 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกเติม ทองเหม และจ่าสิบตำรวจวันชัย พรหมเกิด เบิกความว่า วันเวลาเกิดเหตุพยานโจทก์ทั้งสองออกตรวจท้องที่ถึงสี่แยกตลาดเกษตร ถนนทุ่งสง – สุราษฎร์ธานี ตำบลปากแพรก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เห็นชาย 4 คน ขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ 1 คัน คนนั่งหลังสุดถือมีดสปาต้ายาว 60 ถึง 70 เซนติเมตร 1 เล่ม จึงได้ขับรถปาดหน้ารถจักรยานยนต์ให้จอดและขอตรวจค้นตัวพบอาวุธปืนลูกซองสั้นไม่มีเครื่องหมายทะเบียน 1 กระบอก พร้อมกระสุนปืนบรรจุในลำกล้อง 1 นัด ที่เอวข้างซ้ายด้านหลงของนายมนัสคนขับรถจักรยานยนต์ พบอาวุธมีดสปาต้ายาว 67 เซนติเมตร ใบมีดกว้าง 3.5 เซนติเมตร 1 เล่ม ที่มือข้างซ้ายของจำเลยที่ 2 ซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คนหลังสุด ร้อยตำรวจเอกเติมสอบถามจำเลยทั้งสองกับพวกแล้วได้ความว่า จำเลยทั้งสองกับพวกพาอาวุธปืนและมีดติดตัวมาเพื่อไปแก้แค้นวัยรุ่นตำบลหลวงเสน อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีเรื่องกัน แต่ถูกจับกุมเสียก่อน ร้อยตำรวจเอกเติมแจ้งข้อหาจำเลยทั้งสองกับพวกว่ามีและพาอาวุธปืนและพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต นายมนัสให้การรับสารภาพข้อหามีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 2 รับว่ามีอาวุธมีด จำเลยที่ 1 และนายรัฐพลให้การปฏิเสธ แต่รับว่ารู้ว่านายมนัสมีอาวุธปืน จำเลยที่ 2 มีอาวุธมีดตามบันทึกการจับกุม เห็นว่า จำเลยทั้งสองกับพวกขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันเดียวกัน นายมนัสคนขับรถจักรยานยนต์พกอาวุธปืนที่เอวข้างซ้ายด้านหลัง จำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งติดกับนายมนัสย่อมต้องรู้ว่านายมนัสพกอาวุธปืน ร้อยตำรวจเอกเติมและจ่าสิบตำรวจวันชัย เบิกความว่าจำเลยทั้งสองกับพวกรับว่าพาอาวุธปืนและมีดติดตัวไปเพื่อแก้แค้นวัยรุ่นตำบลนาหลวงเสน ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกการจับกุมที่ทำขึ้นในขณะนั้น ร้อยตำรวจเอกเติมและจ่าสิบตำรวจวันชัยออกตรวจท้องที่อันเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองกับพวก เชื่อว่าร้อยตำรวจเอกเติมและจ่าสิบตำรวจวันชัยเบิกความไปตามความจริง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นการร่วมกันมีอาวุธปืน และพาอาวุธปืนติดตัวไปเพื่อทำร้ายคู่อริ จึงมีความผิดดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่านายมนัสมีอาวุธปืนนั้นฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า สมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองกับพวกที่พาอาวุธปืนและอาวุธมีดจะไปทำร้ายผู้อื่นมีลักษณะเป็นนักเลงอันธพาล จึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืน และฐานร่วมกันพาอาวุธมีดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 มาด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้แม้คำขอท้ายฟ้องจะระบุอ้างมาตรา 371 ไว้ด้วยก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดดังกล่าวว่าเป็นการพาอาวุธโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ดังนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรานี้มิได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนและร่วมกันพาอาวุธมีดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 คงให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ รวมจำคุกคนละ 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share