คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 684/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
จำเลยฎีกาว่า จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 แต่พนักงานสอบสวนยื่นคำขอผัดฟ้องเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2541 เกินกำหนดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แต่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2541 ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี พนักงานสอบสวนขอผัดฟ้องภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ดังนี้ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาในวันใด เป็นการโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หาใช่ข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกาไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 32, 43, 157, 160
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางศิริพร รุ่งเรืองหรือแซ่ลิ้ม มารดาผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157, 160 (ที่ถูก มาตรา 43 (4) (8), 157, 160 วรรคสาม) เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ให้จำคุก 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โทษชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยยื่นฎีกาโดยอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ได้ผัดฟ้องภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อนี้มา ได้ตรวจดูฎีกาของจำเลยในข้อนี้แล้ว จำเลยฎีกาว่า จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 แต่พนักงานสอบสวนยื่นคำขอผัดฟ้องเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2541 เกินกำหนดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แต่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2541 ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.2 พนักงานสอบสวนขอผัดฟ้องภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ดังนี้ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาในวันใด เป็นการโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หาใช่ข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อคดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยนี้ไว้ จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share