คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8237/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า การทำงานกะดึกระหว่างเวลา 23.30 นาฬิกา ถึง 8.30 นาฬิกา ไม่ได้กำหนดเวลาพักไว้แน่นอนแต่ในช่วงเวลานี้ห้องอาหารของผู้ร้องจะเปิด 2 ช่วงคือ ระหว่างเวลา 23.30 นาฬิกา ถึง 01.30 นาฬิกา และเวลา 6 นาฬิกา ถึง 8 นาฬิกา พนักงานจะเข้าไปรับประทานอาหารช่วงใดก็ได้โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปและพักผ่อนในห้องดังกล่าว ถ้าพนักงานผู้ใดไม่เข้าไปรับประทานอาหารจะพักผ่อนที่ห้องทำงานก็ได้ ซึ่งถือว่าผู้ร้องได้กำหนดเวลาพักไว้ให้แก่ลูกจ้างของผู้ร้องรวมทั้งผู้คัดค้านแล้ว ผู้คัดค้านไม่อาจอ้างได้ว่าผู้ร้องมิได้จัดเวลาพักหรืออ้างว่าผู้ร้องมอบหมายให้ผู้คัดค้านจัดเวลาพักเองและไม่อาจกำหนดเวลาพักเองในช่วงเวลาอื่นใดได้ ดังนี้ กรณีผู้คัดค้านนอนหลับในห้องควบคุมในระหว่างเวลา 3 นาฬิกา ถึง 3.50 นาฬิกา ของวันที่ 13 มีนาคม 2547 ซึ่งมิใช่กำหนดเวลาพักที่ผู้ร้องจัดให้ จึงถือว่าการนอนหลับระหว่างเวลาทำงานดังกล่าวเป็นการละเลยต่อหน้าที่ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง ข้อ 4.1 วินัยและโทษทางวินัย เป็นความผิดโทษสถานหนักตามข้อ 6 ระบุว่าละเลยต่อหน้าที่ไว้ ผู้ร้องสามารถลงโทษโดยการตักเตือนเป็นหนังสือและพักงาน 1 สัปดาห์ โดยไม่จ่ายค่าจ้างตามโทษที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้อง จึงขออนุญาตลงโทษนายบุญเศียร อุทยารักษ์ ด้วยการออกหนังสือเตือนและพักงาน 1 สัปดาห์ โดยไม่ได้รับค่าจ้าง
นายบุญเศียร อุทยารักษ์ ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษนายบุญเศียร อุทยารักษ์ ผู้คัดค้าน ด้วยการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรและพักงาน 1 สัปดาห์โดยไม่ได้รับค่าจ้างได้ตามคำร้อง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างผู้ร้องในตำแหน่งหัวหน้ากะช่างเทคนิคและเป็นกรรมการลูกจ้างผู้ร้องกำหนดเวลาทำงานของลูกจ้างไว้เป็น 3 กะ คือ กะเช้าระหว่างเวลา 8.30 นาฬิกา ถึง 17.30 นาฬิกา มีเวลาพัก 12 นาฬิกา ถึง 13 นาฬิกา กะบ่ายระหว่างเวลา 14.30 นาฬิกา ถึง 23.30 นาฬิกา มีเวลาพัก 18 นาฬิกา ถึง 19 นาฬิกา ส่วนกะดึกระหว่างเวลา 23.30 นาฬิกา ถึง 8.30 นาฬิกา ไม่ได้กำหนดเวลาพักไว้แน่นอนแต่ในช่วงเวลาทำงานกะนี้ห้องอาหารของผู้ร้องจะเปิด 2 ช่วง คือระหว่างเวลา 23.30 นาฬิกา ถึง 01.30 นาฬิกา และเวลา 6 นาฬิกา ถึง 8 นาฬิกา พนักงานจะเข้าไปรับประทานอาหารช่วงใดก็ได้โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปรับประทานอาหารและพักผ่อนในห้องดังกล่าว ถ้าพนักงานผู้ใดไม่เข้าไปรับประทานอาหารจะพักผ่อนที่ห้องทำงานก็ได้ ซึ่งถือได้ว่าผู้ร้องได้กำหนดเวลาพักไว้ให้แก่ลูกจ้างของผู้ร้องรวมทั้งผู้คัดค้านแล้ว ผู้คัดค้านไม่อาจอ้างได้ว่าผู้ร้องมิได้จัดเวลาพักหรืออ้างว่าผู้ร้องมอบหมายให้ผู้คัดค้านจัดเวลาพักเองและไม่อาจกำหนดเวลาพักในช่วงเวลาอื่นใดได้ ผู้คัดค้านได้นอนหลับโดยมีเครื่องปูนนอนหลับที่พื้นในห้องควบคุมในระหว่างเวลา 3 นาฬิกา ถึง 3.50 นาฬิกา ของวันที่ 13 มีนาคม 2547 ตามภายถ่ายท้ายคำร้อง เดิมผู้ร้องมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารท้ายคำคัดค้าน ซึ่งมิได้ระบุความผิดทางวินัยเรื่อง หลับในขณะปฏิบัติหน้าที่ไว้ แต่ระบุความผิดทางวินัยไว้ในประเภท ข. ข้อ 18 ว่า ละเลยต่อหน้าที่ความรับผิดชอบหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ต่อมาผู้ร้องได้ประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับใหม่ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2541 เป็นต้นมาตามเอกสารท้ายคำคัดค้าน โดยผู้คัดค้านลงลายมือชื่อรับทราบเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2541 ข้อบังคับฉบับใหม่หมวด 4.1 วินัยและโทษทางวินัย ในรายละเอียดความผิดโทษสถานนักข้อ 6 ระบุไว้ว่า ละเลยต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ ขัดคำสั่ง ฯลฯ ส่วนในเรื่องความผิดร้ายแรง ข้อ 22 ระบุว่า หลับในขณะปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ผู้คัดค้านทำงานกะดึกจะต้องอยู่ในห้องควบคุมเฝ้าระวังดูแลการทำงานของเครื่องจักร ออกไปจดรายงานเกี่ยวกับแรงดันไฟฟ้าตามที่ผู้ร้องกำหนดรับแจ้งเหตุฉุกเฉินแล้วไปแก้ไขวันที่ 13 มีนาคม 2547 เวลาประมาณ 03.50 นาฬิกา นายณรงค์ศักดิ์ ผู้จัดการรอบดึกไปพบผู้คัดค้านนอนหลับอยู่ในห้องเครื่อง แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การนอนหลับของผู้คัดค้านเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องในเรื่องรายละเอียดความผิดโทษสถานหนักข้อ 6 ละเลยต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ของโรงแรมและเป็นความผิดโทษสถานร้ายแรง ข้อ 22 หลับในขณะปฏิบัติหน้าที่จึงอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรและพักงาน 1 สัปดาห์ โดยไม่ได้รับค่าจ้างได้ตามคำร้อง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์สรุปได้ว่า เมื่อการทำงานในกะดึกไม่ได้กำหนดเวลาพักไว้เหมือนกะเช้าและกะบ่ายย่อมเป็นกรณีที่ผู้ร้องมอบหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งมีตำแหน่งสูงสุดของแผนกช่างในกะดึกเป็นผู้กำหนดเวลาพักให้แก่ตัวผู้คัดค้านเอง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 1 ชั่งโมงนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า การทำงานกะดึกระหว่างเวลา 23.30 นาฬิกา ถึง 8.30 นาฬิกา ไม่ได้กำหนดเวลาพักไว้แน่นอน แต่ในช่วงเวลานี้ห้องอาหารของผู้ร้องจะเปิด 2 ช่วงคือ ระหว่างเวลา 23.30 นาฬิกา ถึง 01.30 นาฬิกา และเวลา 6 นาฬิกา ถึง 8 นาฬิกา พนักงานจะเข้าไปรับประทานอาหารช่วงใดก็ได้โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปและพักผ่อนในห้องดังกล่าว ถ้าพนักงานผู้ใดไม่เข้าไปรับประทานอาหารจะพักผ่อนที่ห้องทำงานก็ได้ ซึ่งถือได้ว่าผู้ร้องได้กำหนดเวลาพักไว้ให้แก่ลูกจ้างของผู้ร้องรวมทั้งผู้คัดค้านแล้วผู้คัดค้านไม่อาจอ้างได้ว่าผู้ร้องมิได้จัดเวลาพักหรืออ้างว่าผู้ร้องมอบหมายให้ผู้คัดค้านจัดเวลาพักเองและไม่อาจกำหนดเวลาพักเองในช่วงเวลาอื่นใดได้ ดังนี้ กรณีผู้คัดค้านนอนหลับในห้องควบคุมในระหว่างเวลา 3 นาฬิกา ถึง 3.50 นาฬิกา ของวันที่ 13 มีนาคม 2547 ซึ่งมิใช่กำหนดเวลาพักที่ผู้ร้องจัดให้ จึงถือว่าการนอนหลับระหว่างเวลาทำงานดังกล่าวเป็นการละเลยต่อหน้าที่ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง ข้อ 4.1 วินัยและโทษทางวินัย เป็นความผิดโทษสถานหนักตาม ข้อ 6 ระบุว่า ละเลยต่อหน้าที่ไว้ ผู้ร้องสามารถลงโทษโดยการตักเตือนเป็นหนังสือและพักงาน 1 สัปดาห์ โดยไม่จ่ายค่าจ้างตามโทษที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องได้ ที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษนายบุญเศียร อุทยารักษ์ ผู้คัดค้านมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น เมื่อการกระทำของผู้ร้องเป็นความผิดตามข้อบังคับฉบับเดิมแล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัอค้านที่ว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 22 ที่ผู้ร้องแก้ไขเพิ่มเติมนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน

Share