คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 250/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดิน มีจำเลยที่ 1 พ. และ ก. ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินรวมกัน และเจ้าของรวมคนอื่นๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 ตราบใดที่ยังไม่มีการแบ่งแยกที่ดินกันเป็นส่วนสัด การที่ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์คนหนึ่งคนใดเข้าครอบครองส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินก็ต้องถือว่าครอบครองที่ดินส่วนนั้นๆ ในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งเท่านั้น หาก่อให้เริ่มเกิดสิทธิที่จะอ้างว่าตนครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเสียแต่คนเดียวไม่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้สืบสิทธิจาก พ. ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท หาทำให้จำเลยทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์ทางปรปักษ์ไม่ เว้นเสียแต่จะได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยัง ก. เจ้าของรวมว่า ไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์แทน ก. อีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อจำเลยทั้งห้ามมิได้บอกกล่าว จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงฐานะยึดถือแทน ก. ผู้มีสิทธิครอบครองได้และไม่อาจถือได้ว่ามีการแย่งการครอบครอง
อุทธรณ์โจทก์ทั้งสองมิได้ขอให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ในศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในศาลชั้นต้นด้วย เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจกำหนดให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่ฝ่ายที่ชนะคดี ไม่ว่าคู่ความฝ่ายนั้นจะมีคำขอหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 และมาตรา 167 จึงไม่เกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 489 เนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา มีชื่อนางเม้า ดาวเรือง และนายแก่น ดาวเรือง เป็นเจ้าของรวม ต่อมานางเม้าถึงแก่กรรม ที่ดินส่วนของนางเม้าเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ได้แก่ นายแก่น นางพุก ทิพวัลย์ และจำเลยที่ 1 เนื้อที่คนละ 2 ไร่ 96 ตารางวา (ที่ถูก ตารางวา) รวมแล้วเป็นส่วนของนายแก่นเนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 89 ตารางวา (ที่ถูก ตารางวา) ครั้นนายแก่นและนางพุกถึงแก่กรรมที่ดินส่วนของนายแก่นเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ได้แก่ โจทก์ทั้งสอง และส่วนของนางพุกเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกับโจทก์ทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 489 ให้แก่โจทก์ทั้งสองเนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 89 ตารางวา ให้จำเลยทั้งห้าส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งห้าให้การฟ้องแย้งและแก้ไขฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่ดินส่วนของนายแก่นเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 5 ตารางวา และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 85 ตารางวา ให้โจทก์ทั้งสองจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าของที่ดินตามส่วนที่ได้กรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่ 489 หากโจทก์ทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ทั้งสอง ห้ามโจทก์ทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดิน
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 489 ส่วนของนายแก่น ดาวเรือง เนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 5 ตารางวา และจำเลยที่ 2 (ที่ถูกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5) เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 85 ตารางวา ให้โจทก์ทั้งสองจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าของที่ดินตามส่วนที่ได้กรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าว หากโจทก์ทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ทั้งสอง ห้ามโจทก์ทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดิน ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม นายเสริม ชัยทรัพย์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 489 ให้โจทก์ทั้งสองเนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา วิธีการแบ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท ให้ยกฟ้องแย้ง และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ในส่วนแย้งแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีนี้จำเลยทั้งห้าฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองแบ่งที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งห้าโดยเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จำนวน 2 ไร่ 3 งาน 5 ตารางวา และเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จำนวน 3 ไร่ 3 งาน 85 ตารางวา คิดเป็นเงินรวม 13,833.32 บาท เห็นว่า แม้จำเลยทั้งห้าฟ้องแย้งรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แยกกันเพราะเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ใช้สิทธิเฉพาะของตน เมื่อที่ดินพิพาทที่จำเลยทั้งห้าตีราคาเป็นทุนทรัพย์รวมกันมานั้นมีราคา 313,833.32 บาท ที่ดินแต่ละส่วนที่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฟ้องแย้งขอแบ่งจึงมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แต่ละส่วนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามคู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาในส่วนฟ้องแย้งขึ้นมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยทั้งห้าฎีกาประการแรกว่า ที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.7 ระบุเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินว่า อำแดงเม้ามารดานายแก่นบุตร น่าหมายถึงนางเม้ามารดาของจำเลยที่ 1 คนเดียว ไม่น่ามีนายแก่น ดาวเรือง เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมด้วย ดังนั้น การที่นางเม้ามารดาจำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และนางพุกมารดาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต และย่อมกระทำได้ไม่มีกฎหมายห้ามนั้น เห็นว่า แม้จำเลยทั้งห้าได้ให้การในความตอนต้นว่าที่ดินพิพาททั้งแปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของนางเม้าแต่ผู้เดียว แต่จำเลยทั้งห้าก็ให้การในอีกตอนหนึ่งว่า จำเลยทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในส่วนของนายแก่นด้วยการครอบครองปรปักษ์ ดังนั้น ฎีกาของจำเลยทั้งห้าในส่วนนี้ จึงขัดแย้งกับคำให้การของจำเลยทั้งห้า ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งห้าถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทส่วนของนายแก่นจนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้วนั้น เห็นว่า ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งมีจำเลยที่ 1 นางพุกและนายแก่นถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1358 ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินรวมกัน และเจ้าของรวมคนอื่นๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ ตามมาตรา 1360 ตราบใดที่ยังไม่มีการแบ่งแยกที่ดินกันเป็นส่วนสัด การที่ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์คนหนึ่งคนใดเข้าครอบครองส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินก็ต้องถือว่าครอบครองที่ดินส่วนนั้นๆ ในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งเท่านั้น หาก่อให้เริ่มเกิดสิทธิที่จะอ้างว่าตนครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเสียแต่คนเดียวไม่ เพราะว่าก่อนที่จีการแบ่งแยกก็ยังไม่อาจทราบได้ว่าที่ดินส่วนนั้นจะเป็นของเจ้าของรวมคนใดแน่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้สืบสิทธิจากนางพุกได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท หาทำให้จำเลยทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์ทางปรปักษ์ไม่ เว้นเสียแต่จะได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังนายแก่นเจ้าของรวมว่า ไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์แทนนายแก่นอีกต่อไป คดีนี้ไม่มีข้อเท็จจริงให้ถือได้ว่า จำเลยทั้งห้าได้บอกกล่าวไปยังนายแก่นว่าจำเลยทั้งห้าเจตนาจะไม่ยึดถือทรัพย์สินแทนนายแก่นอีกต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงฐานะยึดถือแทนนายแก่นผู้มีสิทธิครอบครองได้และไม่อาจถือได้ว่ามีการแย่งการครอบครอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ที่จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองไม่ฟ้องภายในอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 คดีเป็นอันขาดอายุความนั้น เห็นว่า ประเด็นเรื่องอายุความมรดกนั้นจำเลยทั้งห้ามิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยทั้งห้าฎีกาข้อสุดท้ายว่า คดีนี้ท้ายอุทธรณ์โจทก์ทั้งสองมิได้ขอให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความโจทก์ทั้งสองในศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในศาลชั้นต้นด้วย เป็นการพิพากษาเกินคำขอ เห็นว่า เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจกำหนดให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่ฝ่ายที่ชนะคดี ไม่ว่าคู่ความฝ่ายนั้นจะมีคำขอหรือไม่มีก็ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 และมาตรา 167 จึงหาได้เกินคำขอไม่ ฎีกาจำเลยทั้งห้าทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งห้า คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนนี้ทั้งหมดแก่จำเลยทั้งห้า ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นชั้นฎีกาทั้งหมดให้เป็นพับ

Share