แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อความปรากฏแก่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่าภายในเวลาที่รอการลงโทษไว้จำเลยได้กระทำความผิดคดีนี้อีก การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 นำโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ จึงเป็นไปตามบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก และกรณีนี้มิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย เพราะกฎหมายบัญญัติให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังบวกโทษที่รอไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังด้วย และเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67, 97, 102 เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย และริบของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ รู้ผิดชอบแล้ว จึงไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน จำเลยเคยกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษมาแล้ว 2 คดี ศาลได้ให้โอกาสจำเลยโดยรอการลงโทษให้จำเลยจึงไม่อาจเพิ่มโทษได้ ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 792/2543 ของศาลชั้นต้น มาบวกเข้ากับโทษจำคุกคดีนี้ เป็นจำคุก 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 นำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 792/2543 ของศาลชั้นต้น มาบวกเข้ากับโทษจำคุกคดีนี้ ทั้งที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ในทำนองขอให้เพิ่มเติมโทษ อันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก บัญญัติว่า “เมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตามคำแถลงของโจทก์หรือเจ้าพนักงานว่า ภายในเวลาที่ศาลกำหนดตามมาตรา 56 ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาได้กระทำความผิดอันมิใช่ความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดนั้น ให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังกำหนดโทษที่รอการกำหนดโทษไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีหลัง หรือบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลัง แล้วแต่กรณี” ดังนั้น เมื่อความปรากฏแก่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่าภายในเวลา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 792/2543 ของศาลชั้นต้น จำเลยได้กระทำความผิดคดีนี้อีก การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 นำโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีดังกล่าวมาบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ จึงเป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก และกรณีนี้มิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย เพราะกฎหมายบัญญัติให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังบวกโทษที่รอไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังด้วย และเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยอายุ 17 ปี ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ผู้ใดอายุกว่าสิบสี่ปีแต่ยังไม่เกินสิบเจ็ดปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้น ในอันที่ควรวินิจฉัยว่าสมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าไม่สมควรพิพากษาลงโทษ ก็ให้จัดการด้วยวิธีการสำหรับเด็กตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 หรือถ้าศาลเห็นว่าสมควรพิพากษาลงโทษ ก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ รู้สึกผิดชอบแล้วจึงไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ โดยอาศัยข้อเท็จจริงจากรายงานการสืบเสาะและพินิจที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องอันเป็นปรปักษ์ต่อจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ก็มิได้แก้ไขให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และเนื่องจากในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับในส่วนนี้ ส่วนบทกำหนดโทษตามมาตรา 67 เดิม มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มาตรา 67 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะเห็นได้ว่า แม้ตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน และตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม แต่ก็เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่) จำเลยอายุกว่าสิบสี่ปีแต่ยังไม่เกินสิบเจ็ดปี ลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ให้กึ่งหนึ่ง วางโทษจำคุก 6 เดือน ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุก 3 เดือน ให้นำโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 792/2543 ของศาลชั้นต้น มาบวกเข้ากับโทษจำคุกคดีนี้รวมลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6