แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นเล็งยิงผู้เสียหายที่บริเวณหน้าอกในระยะห่างเพียง 1.5 เมตร โดยปกติกระสุนปืนจะกระจายออกเป็นวงทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ กลับปรากฏว่าผู้เสียหายมีบาดแผลถลอก และไม่พบบาดแผลที่บริเวณอื่นของร่างกาย แพทย์ลงความเห็นว่าใช้เวลาในการรักษา 5 ถึง 7 วัน และผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่ากระสุนปืนไม่ทะลุร่างกายและไม่ทะลุเสื้อ แสดงให้เห็นว่า กระสุนปืนไม่มีความรุนแรงพอที่จะทำอันตรายทะลุเสื้อและผิวหนังเข้าสู่ร่างกายของผู้เสียหาย อาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงผู้เสียหายจึงไม่มีความร้ายแรงพอที่จะทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุอาวุธปืนซึ่งเป็นปัจจัยที่ใช้ในการกระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 81 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 288, 371 พระราชบัญญัตอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมูบ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัตอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 11 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ความผิดฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ โจทก์มีนางจำเนียร ฤทธิพลัด ผู้เสียหาย เด็กหญิงสุปราณี ฤทธิพลัด น้องผู้เสียหาย และเด็กชายสัญชัย ปานแก้ว หลานผู้เสียหาย เป็นประจักษ์พยาน ผู้เสียหายเบิกความว่าอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยได้ 1 ปีเศษ มีบุตรด้วยกัน 1 คน ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายกลับมาอยู่ที่บ้านของตน ส่วนบุตรอยู่กับจำเลยที่บ้านจำเลย ในวันเกิดเหตุจำเลยมาตามผู้เสียหายที่บ้านเกิดเหตุ ขณะนั้นผู้เสียหาย เด็กหญิงสุปราณีและเด็กชายสัญชัยซึ่งนั่งดูโทรทัศน์อยู่ด้วยกันเบิกความยืนยันว่า จำเลยเรียกผู้เสียหายออกไปคุยนอกบ้าน ผู้เสียหายเพียงแต่เปิดหน้าต่างพูดกับจำเลยในระยะห่าง 1.5 เมตร จำเลยบอกให้ผู้เสียหายกลับไปดูแลบุตร ผู้เสียหายรับว่าจะไปและบอกให้จำเลยกลับไปก่อน แต่จำเลยยังไม่กลับ ผู้เสียหายเห็นจำเลยมีอาวุธปืนสั้นจึงเดินถอยหลัง 2 ก้าว จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย 1 นัด กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่หน้าอก แล้วจำเลยหลบหนีไป เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวันมองเห็นกันได้ชัดเจน ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสามปากต่างยืนยันในข้อสาระสำคัญตรงกันว่าจำเลยใช้อาวุธปืนสั้นยิงผู้เสียหาย 1 นัด ส่วนที่ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสามเบิกความแตกต่างกันไปบ้างก็เป็นเพียงข้อปลีกย่อยไม่ถึงกับทำให้รูปคดีของโจทก์มีพิรุธ ในวันรุ่งขึ้นผู้เสียหายได้แจ้งความต่อร้อยตำรวจโทราชู หนูนิล พนักงานสอบสวนว่าถูกจำเลยใช้อาวุธปืนยิง เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยมาดำเนินคดีในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้รับสารภาพว่าใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงผู้เสียหายตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.5 และบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.9 ทั้งจำเลยนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพขณะจำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงผู้เสียหายในระยะห่าง 1.5 เมตร ตามภาพถ่ายหมาย จ.2 พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัย ที่จำเลยนำสืบว่าวันเกิดเหตุจำเลยไปหาผู้เสียหายที่บ้านเกิดเหตุ แต่ไม่ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายก็ดี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจขู่บังคับและทำร้ายร่างกายก็ดี ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงผู้เสียหายจริง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นเล็งยิงผู้เสียหายที่บริเวณหน้าอกในระยะห่างเพียง 1.5 เมตร โดยปกติกระสุนปืนจะกระจายออกเป็นวงทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ กลับปรากฏจากผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.4 ว่า ผู้เสียหายมีบาดแผลเป็นรอยซ้ำขนาด 1 คูณ 1 เซนติเมตร ที่เต้านมด้านซ้าย กดเจ็บแต่ไม่มีบาดแผลถลอก และไม่พบบาดแผลที่บริเวณอื่นของร่างกาย แพทย์ลงความเห็นว่าใช้เวลาในการรักษา 5 ถึง 7 วัน และผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่า กระสุนปืนไม่ทะลุร่างกายและไม่ทะลุเสื้อแสดงให้เห็นว่า กระสุนปืนไม่มีความรุนแรงพอที่จะทำอันตรายทะลุเสื้อและผิวหนังเข้าสู่ร่างกายของผู้เสียหาย อาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงผู้เสียหายจึงไม่มีความร้ายแรงพอที่จะทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุอาวุธปืนซึ่งเป็นปัจจัยที่ใช้ในการกระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81 วรรคหนึ่ง เท่านั้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 81 วรรคหนึ่ง จำคุก 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 กระทงละ 4 เดือนแล้ว เป็นโทษจำคุก 3 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8