คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6175/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทต่อจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถส่งมอบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเลิกสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์และเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386, 387 และ 391 วรรคสี่ แต่จำเลยที่ 1 หาได้ใช้สิทธิดังกล่าวไม่ ยังคงครอบครองและใช้รถยนต์คันพิพาทต่อไป สัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจึงยังไม่ระงับ แม้การที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 เป็นต้นไป จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อยังไม่ได้ แต่การที่โจทก์ได้เข้าครอบครองรถยนต์คันพิพาทเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2543 โดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้ง ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันตั้งแต่วันดังกล่าว แม้โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์คันพิพาทออกให้บุคคลภายนอกเช่า โดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อก็ตาม แต่เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียนป้ายแดงไปจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดที่ 5 ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 749,896.20 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่ส่งมอบแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปีให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 260,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 กันยายน 2542 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 211,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ที่ถูกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย)
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ใหม่แผ่นป้ายทะเบียนสีแดงไปจากโจทก์ในราคา 624,971.69 บาท โดยชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญา 77,570.09 บาท ส่วนที่เหลือตกลงผ่อนชำระรวม 60 งวด งวดละเดือน เดือนละ 9,123.36 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 20 กรกฎาคม 2538 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 20 ของเดือนจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม นับตั้งแต่ทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ไม่ได้มอบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 เนื่องจากบริษัทกาญจน์มณีธุรกิจ จำกัด ผู้ขายรถยนต์คันพิพาทไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ได้ฟ้องบริษัทกาญจน์มณีธุรกิจ จำกัด เป็นคดีแพ่ง ศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาให้บริษัทกาญจน์มณีธุรกิจ จำกัด จดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์และให้ชำระค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามสำเนาคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียง 4 งวด จากนั้นก็ไม่ชำระแต่ยังคงครอบครองรถยนต์คันพิพาทตลอดมาจนกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม 2543 โจทก์จึงได้เข้าครอบครองรถยนต์คันพิพาทและได้นำออกขายทอดตลาดในราคา 140,000 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า นับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันฟ้องเป็นระยะเวลา 47 เดือน โจทก์อยู่ในระหว่างการดำเนินการให้ได้มาซึ่งแผ่นป้ายแสดงรายการเสียภาษีรถยนต์เพื่อนำมาส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ความผิดจึงตกอยู่แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์คันพิพาทนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทต่อจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถส่งมอบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเลิกสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์และเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386, 387 และ 391 วรรคสี่ แต่จำเลยที่ 1 หาได้ใช้สิทธิดังกล่าวไม่ ยังคงครอบครองและใช้รถยนต์คันพิพาทต่อไป สัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจึงยังไม่ระงับ แม้การที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 เป็นต้นไป จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อยังไม่ได้ แต่การที่โจทก์ได้เข้าครอบครองรถยนต์คันพิพาทเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2543 โดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้ง ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันตั้งแต่วันดังกล่าว แม้โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์คันพิพาทออกให้บุคคลภายนอกเช่า โดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อก็ตาม แต่เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share