แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยรับ ศ. ผู้เยาว์มาจากในตัวเมืองเพชรบุรีแล้วพาไปที่ห้องพักของจำเลย จากนั้นจำเลยไดร่วมประเวณีกับ ศ. แม้ว่า ศ. ออกจากบ้านเองโดยจำเลยไม่ได้เป็นผู้ชักนำ แต่เมื่อจำเลยพบ ศ. ในบริเวณตลาดอำเภอเมืองเพชรบุรีแล้วพาไปค้างคืนที่ห้องพักของจำเลยโดย ศ. ยินยอมแต่ผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครอง ศ. ไม่ได้ยินยอมอนุญาต ย่อมเป็นการพราก ศ. ไปจากอำนาจปกครองของผู้เสียหาย จำเลยร่วมประเวณีกับ ศ. โดยไม่ได้ประสงค์รับเป็นภริยา พฤติกรรมของจำเลยเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรในทางเพศตามครรลองครองธรรม ถือเป็นการกระทำเพื่อการอนาจาร การกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก เป็นความผิดอาญาฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319, 276, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาว ศ. โดยนาง ว. มารดาผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ในข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก จำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่า นางสาว ศ. เกิดวันที่ 2 กันยายน 2522 เป็นบุตรอยู่ในอำนาจปกครองของนาง ว. มารดาซึ่งเป็นผู้เสียหาย ขณะเกิดเหตุนางสาว ศ. มีอายุ 16 ปีเศษ และรู้จักกับจำเลยมาก่อนเกิดเหตุ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายและนางสาว ศ. เบิกความเป็นพยานว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2539 นางสาว ศ. ออกจากบ้านพักและบอกผู้เสียหายว่าจะเดินทางไปบ้านย่าที่อำเภอเขาย้อย ระหว่างทางแวะรับประทานอาหารที่ร้านในตัวเมืองเพชรบุรี พบกับจำเลย จำเลยรับอาสาจะไปส่ง จึงขึ้นรถไปกับจำเลย แต่จำเลยพานางสาว ศ. ไปที่ห้องพัก นางสาว ศ. รักใคร่ชอบพอกับจำเลยและเคยร่วมประเวณีกันมาก่อน คืนนั้นนางสาว ศ. ค้างคืนที่ห้องพักจำเลยและร่วมประเวณีกับจำเลย วันรุ่งขึ้นผู้เสียหายทราบว่านางสาว ศ. ไม่ได้ไปบ้านย่าจึงตามมาสอบถามจำเลย จำเลยให้นางสาว ศ. หลบอยู่ชั้นบนแล้วจำเลยบอกกับผู้เสียหายที่ชั้นล่างว่าไม่ได้พบกับนางสาว ศ. จากนั้นจำเลยให้นางสาว ศ. หลบไปพักอยู่บ้านกับเพื่อ จนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2539 และพาไปพบกับผู้บังคับบัญชาที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเพชรบุรี ขอให้นางสาว ศ. บอกกับผู้บังคับบัญชาจำเลยว่าทะเลาะกับมารดาและหนีออกจากบ้านมาเองแล้วโทรศัพท์ไปบอกผู้เสียหายให้มารับ นางสาว ศ. เล่าเรื่องทั้งหมดให้ผู้เสียหายฟัง ผู้เสียหายจึงร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย เห็นว่า นางสาว ศ. เป็นหญิงสาว เบิกความว่าได้เสียร่วมประเวณีกับจำเลยเป็นเรื่องที่เสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติยศของตนและครอบครัวหากไม่จริงคงไม่กล่าวเช่นนั้น จำเลยเองก็เบิกความยอมรับว่าเคยคบหากับนางสาว ศ. ฉันคนรัก สิบตำรวจตรีวิโรจน์ พงศ์ไพศาลศรี เพื่อนจำเลยซึ่งพักอยู่ห้องพักเดียวกันเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า เมื่อเย็นวันที่ 7 พฤษภาคม 2539 หลังจากจำเลยกับพยานไปรับนางสาว ศ. มาแล้ว จำเลยกับนางสาว ศ. ขึ้นไปที่ชั้นบนของห้องพักส่วนพยานอยู่ห้องชั้นล่างซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนางสาว ศ. ประกอบกับพนักงานสอบสวนส่งตัวนางสาว ศ. ไปให้แพทย์ตรวจภายใน แพทย์หญิงวราพร ศิวะภรณ์พันธ์ แพทย์ผู้ตรวจเบิกความว่า ตรวจพบว่าเยื่อพรหมจารีของนางสาว ศ. มีรอยฉีกขาดเก่า แสดงว่าผ่านการร่วมประเวณีมาแล้ว พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยรับนางสาว ศ. มาจากในตัวเมืองเพชรบุรีแล้วพาไปที่ห้องพักของจำเลย จากนั้นจำเลยได้ร่วมประเวณีกับนางสาว ศ. จริง จริงอยู่แม้ว่านางสาว ศ. ออกจากบ้านเอง โดยจำเลยไม่ได้เป็นผู้ชักนำ แต่เมื่อจำเลยพบนางสาว ศ. ในบริเวณตลาดอำเภอเมืองเพชรบุรีแล้วพาไปค้างคืนที่ห้องพักของจำเลยโดยนางสาว ศ. ยินยอม แต่ผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจนาจปกครองนางสาว ศ. ไม่ได้ยินยอมอนุญาต ย่อมเป็นการพรากนางสาว ศ. ไปจากอำนาจปกครองของผู้เสียหาย จำเลยร่วมประเวณีกับนางสาว ศ. โดยไม่ได้ประสงค์รับนางสาว ศ. เป็นภริยา พฤติกรรมของจำเลยเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรในทางเพศตามครรลองครองธรรม ถือเป็นการกระทำเพื่อการอนาจาร การกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก เป็นความผิดอาญาฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร พยานหลักฐานจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่เห็นว่าโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดหนักเกินไปสมควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสม ประกอบกับจำเลยและนางสาว ศ. รักใคร่ชอบพอกันและเคยร่วมประเวณีกันมาก่อนเกิดเหตุ และนางสาว ศ. ได้ถอนคำร้องทุกข์ข้อหาข่มขืนกระทำชำเราแล้ว แสดงว่าไม่ติดใจเอาความกับจำเลยอีกต่อไป จำเลยรับราชการตำรวจไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเห็นสมควรให้จำเลยมีโอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ แต่เห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง”
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ให้จำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30