คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1272/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยตกลงยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นหลังจากผิดนัดชำระหนี้ ข้อสัญญาเรื่องดอกเบี้ยเช่นนี้ จึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายในรูปดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้ล่วงหน้า อันถือเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็มีอำนาจที่จะให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายในต่างประเทศ โดยขอให้โจทก์แจ้งผู้ขายผ่านธนาคารตัวแทนต่างประเทศว่า เมื่อผู้ขายส่งสินค้าลงเรือแล้วให้ผู้ขายเก็บเงินค่าสินค้าจากตัวแทนตามกำหนดระยะเวลาในเลตเตอร์ออฟเครดิต และจำเลยที่ 1 ตกลงจะชดใช้เงินค่าสินค้าพร้อมดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่โจทก์ดำเนินการแทนไป หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงยินยอมเสียดอกเบี้ยอัตราสูงสุดที่กำหนดโดยโจทก์ (ขณะทำคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตอัตราร้อยละ 18 ต่อปี) นับแต่วันที่สินค้ามาถึงประเทศไทยจนถึงวันชำระเสร็จ โจทก์ตกลงเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้ตามคำขอของจำเลยที่ 1 รวม 9 ฉบับ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในต้นเงิน 550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย เมื่อสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อมาถึงประเทศไทย โจทก์แจ้งจำเลยที่ 1 ทราบ พร้อมออกตั๋วแลกเงินสั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่โจทก์ภายใน 360 วัน นับแต่วันที่ลงในตั๋วแลกเงินซึ่งตรงกับที่กำหนดในใบตราส่งสินค้า ต่อมาจำเลยที่ 1 ลงนามรับรองการจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินทั้ง 9 ฉบับ และรับเอกสารจากโจทก์ไปออกสินค้าก่อน เมื่อครบกำหนดชำระเงินแก่ผู้เสียหาย โจทก์จึงจ่ายเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายแทนจำเลยที่ 1 และเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินที่จำเลยที่ 1 รับรอง แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์เป็นต้นเงินตามตั๋วแลกเงินในเลตเตอร์ออฟเครดิตแต่ละฉบับตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันครบกำหนด พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราสูงสุดนับแต่วันครบกำหนดตามตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับ ถึงวันฟ้องเป็นต้นเงิน 195,537,959.64 บาท ดอกเบี้ย 122,379,401.86 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย 317,917,361.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 317,917,361.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 195,537,959.64 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้ทำสัญญากับโจทก์จริง โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ชอบเพราะในเลตเตอร์ออฟเครดิตไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ชัดแจ้ง โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันผิดนัด หากโจทก์จะคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี โจทก์ต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสามทราบก่อนเพราะตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 บัญญัติว่าให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้นเป็นผู้กำหนด ดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามชำระจึงเป็นโมฆะ ฟ้องเคลือบคลุม และทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 วางเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 คุ้มมูลหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์แล้ว โจทก์ไม่อาจบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้อีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 317,917,361.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 195,537,959.64 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 มีนาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามประการเดียวว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราต่างๆ ตามฟ้องได้เพียงใด โดยจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า คำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ข้อ 7 ทั้งเก้าฉบับตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.11 ระบุว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่กำหนดโดยโจทก์ มิได้ระบุอัตราดอกเบี้ยอย่างแจ้งชัด การที่โจทก์กำหนดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดขึ้นฝ่ายเดียว โดยมิได้แจ้งให้จำเลยทั้งสามทราบ ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องนำสืบเมื่อโจทก์มิได้นำสืบถึงประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามฟ้อง โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น เห็นว่า โจทก์ได้นำสืบถึงประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ.2535 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2535 ที่ให้ธนาคารพาณิชย์อาจคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ไม่เกินอัตราที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดแล้วตามเอกสารหมาย จ.18 (แผ่นที่ 1) โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินไปจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีได้ ส่วนการประกาศเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องจ่ายให้แก่ลูกค้าและดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่เรียกจากลูกค้านั้น ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 เอกสารหมาย จ.18 (แผ่นที่ 2) ข้อ 4 กำหนดว่า ให้ธนาคารพาณิชย์จัดส่งประกาศเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ธนาคารพาณิชย์ออกประกาศและให้ธนาคารพาณิชย์ปิดประกาศดังกล่าวในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของตนเองทุกแห่ง โดยมิได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องแจ้งถึงอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้าทราบเป็นรายบุคคล ดังนั้น การที่โจทก์มิได้แจ้งอัตราดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสามทราบจึงไม่มีผลทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตของจำเลยที่ 1 ทั้งเก้าฉบับเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.11 มีข้อตกลงข้อ 7 ความว่า “ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 1) ยินยอมชำระเงินเมื่อมีการยื่นตั๋วแลกเงินของผู้รับประโยชน์ในแต่ละจำนวนตามตั๋วแลกเงินภายใต้เอกสารเครดิตนี้ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับตามอัตราดอกเบี้ยของธนาคารท่าน (โจทก์) นับจากวันที่ออกตั๋วแลกเงินถึงวันชำระเงิน รวมตลอดทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินนั้น ถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้ายินยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่กำหนดโดยธนาคารท่าน นับจากวันที่สินค้ามาถึงกรุงเทพมหานครโดยทางเรือหรือทางเครื่องบินถึงวันที่ชำระเงินตามจำนวนดังกล่าวนั้น” ซึ่งมีความหมายว่า จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะชำระเงินตามตั๋วแลกเงินที่ออกไว้ภายใต้คำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตภายในเวลาที่กำหนดไว้ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในตั๋วแลกเงิน แต่ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ในอัตราสูงสุดที่โจทก์กำหนดไว้ และโจทก์ได้นำสืบโดยอ้างส่งประกาศเรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดของโจทก์ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 รวม 13 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.18 แผ่นที่ 5 ถึงที่ 17 ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดสูงสุดตรงกันกับช่วงเวลาที่โจทก์คิดคำนวณมาตามการ์ดบัญชีแสดงภาระหนี้ตามตั๋วแลกเงินของจำเลยที่ 1 ทั้งสิบสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.17 คำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตทั้งเก้าฉบับตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.11 จึงระบุอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดอย่างแจ้งชัดแล้ว อย่างไรก็ตามโจทก์ในฐานะผู้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ต้องถือปฏิบัติเกี่ยวกับดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 เอกสารหมาย จ.18 แผ่นที่ 2 ถึงที่ 4 โดยประกาศดังกล่าวข้อ 3 (4) ให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี บวกส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนด เว้นแต่ในกรณีลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไข ธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยและส่วนลดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขปรากฏว่าคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตของจำเลยที่ 1 ทั้งเก้าฉบับนั้น จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระเงินตามตั๋วแลกเงินที่ออกภายใต้คำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ หากไม่ชำระก็เป็นการผิดนัดชำระหนี้และต้องชำระดอกเบี้ย ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 ตกลงยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดตามประกาศของโจทก์ในกรณีเช่นนี้จึงเป็นภาระชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นหลังจากผิดนัดชำระหนี้ ข้อสัญญาเรื่องดอกเบี้ยเช่นนี้จึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายในรูปดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้ล่วงหน้าอันถือเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 หากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็มีอำนาจที่จะให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยประเภทต่างๆ ตามประกาศของโจทก์เรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่มีผลใช้บังคับในช่วงเวลาต่างๆ ตามเอกสารหมาย จ.18 แล้ว ปรากฏว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดซึ่งคิดตามอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกด้วยส่วนต่างสูงสุดตามประกาศของโจทก์นั้นสูงกว่าทั้งอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดีและลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี แสดงว่าโจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดไว้สูง โดยคำนึงถึงลักษณะของลูกค้าเช่นนี้ว่ามีความเสี่ยงที่โจทก์อาจได้รับชำระหนี้ไม่ครบถ้วนมากกว่าลูกค้าชั้นดี แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าการผิดนัดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ทำใจทก์เสียหายมากหรือมีเหตุผลอย่างไรที่ควรเรียกดอกเบี้ยผิดนัดให้สูงมากถึงอัตราสูงสุดที่โจทก์ประกาศไว้สำหรับลูกค้าผิดนัดตามพฤติการณ์เช่นนี้ เห็นว่า การกำหนดเบี้ยปรับในรูปดอกเบี้ยโดยใช้อัตราดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุดในคดีนี้เป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน การคิดดอกเบี้ยตามตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย จ.19 ในระหว่างขอเลื่อนกำหนดชำระเงิน โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10.25 ต่อปี เมื่อครบกำหนดชำระเงินตามที่ขอเลื่อนแล้ว โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุดเช่นเดียวกับตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย จ.20 ถึง จ.30 ที่คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุดนับแต่วันครบกำหนดชำระเงินตามตั๋วแลกเงิน เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ทางได้เสียของโจทก์แล้ว เห็นสมควรกำหนดให้เบี้ยปรับลดลงเหลือเพียงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดบวกด้วย 1 ส่วน 10 (ร้อยละ 10) ของส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดสูงสุดตามประกาศของโจทก์ นับแต่วันครบกำหนดชำระตามตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับในอัตราที่ปรับเปลี่ยนไปตามประกาศของโจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ก็ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ตามคำขอท้ายฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ตามตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย จ.19 ถึง จ.30 ตามจำนวนเงินที่ได้จากการเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทตามการ์ดบัญชีแสดงภาระหนี้เอกสารหมาย จ.17 แผ่นที่ 1 ถึงที่ 12 ตามลำดับ สำหรับดอกเบี้ยตามตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย จ.19 นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2539 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2540 ให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.25 ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2540 และดอกเบี้ยตามตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย จ.20 ถึง จ.30 นับแต่วันครบกำหนดชำระเงินแต่ละฉบับ ให้คิดตามประกาศเรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดของโจทก์ ในอัตราสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดบวกด้วย 1 ส่วน 10 ของผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดสูงสุด ตามที่กำหนดไว้ในประกาศดังกล่าวของโจทก์ที่มีผลใช้บังคับในแต่ละช่วงเวลาทั้งที่ประกาศไว้แล้วก่อนวันฟ้องและที่ประกาศหลังวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยหลังวันฟ้องทุกอัตราต้องไม่เกินร้อยละ 14 ต่อปี และจำนวนดอกเบี้ยทั้งหมดคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 122,379,401.86 บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share