คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4857/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับความผิดฐานร่วมกันรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรมีลักษณะที่เกี่ยวเนื่องเป็นการกระทำเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 90 เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และการพิจารณาว่ากฎหมายบทใดมีโทษหนักกว่ากันให้ถือตามบทที่มีอัตราโทษขั้นสูงกว่าเป็นเกณฑ์ เมื่อความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีเท่ากัน แต่คดีนี้ราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน 3,030 บาท หากมีการลงโทษปรับสูงสุดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ จะลงโทษปรับได้เป็นเงิน 12,120 บาท แต่ตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 17 วรรคหนึ่ง ลงโทษปรับได้สูงสุดหนึ่งแสนบาท จึงถือว่าโทษปรับตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 17 วรรคหนึ่ง เป็นบทที่มีโทษหนักกว่า
ความผิดฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถางป่า ยึดถือครอบครองทำประโยชน์อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ กับความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้าม โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเวลาในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวให้ชัดแจ้งว่าเป็นการกระทำความผิดฐานใดในวันเวลาใด จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดในคราวเดียวกัน เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (1) พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 14, 31 วรรคสอง (1) มิใช่เป็นการกระทำความผิดคนละคราวอันจะเป็นความผิดหลายกรรม ต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 11, 54, 69, 72 ตรี, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งสี่ คนงาน ผู้รับจ้าง และบริวารของจำเลยทั้งสี่ออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1), 72 ตรี วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (1) พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถางป่า ยึดถือครอบครองทำประโยชน์อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เป็นการกระทำการเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้าม เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันมีไม้ยางยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันแปรรูปไม้ยางภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันมีไม้ยางแปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่รถยนต์โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ปรับคนละ 12,120 บาท ฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 14 ปี และปรับคนละ 12,120 บาท จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 7 ปี และปรับคนละ 6,060 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางทั้งหมด ให้จำเลยทั้งสี่คนงาน ผู้รับจ้างและบริวารของจำเลยทั้งสี่ออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาโดยรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันมีเลื่อยโซ่รถยนต์ของกลางซึ่งเป็นสินค้าที่ห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่รถยนต์ แล้วบุกรุกเข้าไปในป่าสงวนแห่งชาติและร่วมกันใช้เลื่อยโซ่รถยนต์ดังกล่าวซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการแปรรูปไม้ได้จำนวนมากภายในเวลาที่รวดเร็ว ทำการก่นสร้าง แผ้วถางป่าและโค่นล้มไม้พื้นล่าง ไม้ไผ่ ไม้ขนาดเล็ก และไม้ยางอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก.ให้ไม้เปลี่ยนรูปและขนาดไปจากเดิมในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และไม้ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรง การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นับว่าเป็นภัยต่อทรัพยากรป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและมีค่ายิ่งต่อประเทศชาติ จึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 โดยไม่รอการลงโทษให้นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุมีศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับความผิดฐานร่วมกันรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่รถยนต์โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ศาลล่างทั้งสองปรับบทว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการรับไว้โดยประการใดๆ และการมีไว้ในความครอบครอง ซึ่งเลื่อยโซ่รถยนต์ของกลางมีลักษณะที่เกี่ยวเนื่องเป็นการกระทำเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสองฐานความผิดดังกล่าวจึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เมื่อความผิดตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่รถยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือทั้งจำทั้งปรับ และการพิจารณาว่ากฎหมายบทใดมีโทษหนักกว่ากันให้ถือตามบทที่มีอัตราโทษขั้นสูงกว่าเป็นเกณฑ์ เมื่อความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวมีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีเท่ากัน แต่คดีนี้ราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน 3,030 บาท หากมีการลงโทษปรับสูงสุดตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ จะลงโทษปรับได้เป็นเงิน 12,120 บาท แต่ตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 17 วรรคหนึ่ง ลงโทษปรับได้สูงสุดหนึ่งแสนบาท จึงถือว่าโทษปรับตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 17 วรรคหนึ่ง เป็นบทที่มีโทษหนักกว่านอกจากนี้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า ความผิดฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถางป่า ยึดถือครอบครองทำประโยชน์อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ กับความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้าม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเวลาในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวให้ชัดแจ้งว่าเป็นการกระทำความผิดฐานใดในวันเวลาใด จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดในคราวเดียวกัน เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (1) พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 14, 31 วรรคสอง (1) มิใช่เป็นการกระทำความผิดคนละคราวอันจะเป็นความผิดหลายกรรม ต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องและมีอำนาจพิพากษาให้มีผลตลอดไปถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับความผิดฐานร่วมกันรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือน และความผิดฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถางป่า ยึดถือครอบครองทำประโยชน์อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ กับความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้าม ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง บทหนึ่ง มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (1) บทหนึ่ง และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง บทหนึ่ง และ 31 วรรคสอง (1) อีกบทหนึ่ง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ส่วนกำหนดโทษฐานอื่นซึ่งลดโทษให้แล้ว คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 รวมแล้วจำคุกคนละ 6 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share