คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยปลอมหนังสือเดินทางของประเทศอังกฤษและใช้หนังสือเดินทางปลอมอ้างแสดงเป็นหลักฐานต่อธนาคาร ก. ในการเปิดบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ชื่อเจ้าของบัญชี นายแนท เวสต์แบงค์ (NAT WESTBANK) เพื่อหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าหากโอนเงินเข้าฝากในบัญชีที่เปิดไว้นี้ จะได้รับดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปี เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีที่จำเลยเปิดไว้ดังกล่าว การกระทำของจำเลยก็เพื่อเจตนาเพียงประการเดียวก็คือเพื่อฉ้อโกงเงินจากผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้อันเป็นการแก้ไขมาก แต่ยังลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวถือหนังสือเดินทางของประเทศอังกฤษ (สหราชอาณาจักร) ได้ปลอมเอกสารหนังสือเดินทางของประเทศอังกฤษฉบับที่ออกให้แก่จำเลยดังกล่าว โดยจำเลยได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายเลขหนังสือเดินทางชื่อและชื่อสกุลของจำเลยผู้ถือ ในหน้าที่ติดรูปถ่าย หมายเลขหนังสือเดินทางและรายละเอียดบุคคล ชื่อ นามสกุล สัญชาติ วันเดือนปีเกิด เพศ สถานที่เกิด วันออกหนังสือเดินทาง ตลอดจนวันหมดอายุ โดยจำเลยลงลายมือชื่อใหม่ว่า “แนท เวสต์แบงค์” (NAT WESTBANK) จำเลยกระทำการดังกล่าวเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่พบเห็นหลงเชื่อว่าจำเลยชื่อ “แนท เวสต์แบงค์” (NAT WESTBANK) และหนังสือเดินทางของประเทศอังกฤษที่ปลอมขึ้นเป็นเอกสารที่แท้จริงที่ประเทศอังกฤษทำขึ้น และออกให้แก่นายแนท เวสต์แบงค์ (NAT WESTBANK) โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าพนักงานตำรวจ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้อื่น และประชาชน จำเลยได้ใช้เอกสารปลอมที่จำเลยได้ทำปลอมขึ้น อ้างแสดงเป็นหลักฐานต่อนางประไพ เมฆชัย พนักงานธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาห้วยขวาง ในการเปิดบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางประไพ เมฆชัย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าพนักงานตำรวจ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้อื่น และประชาชน ต่อมาจำเลยนี้โดยทุจริตได้ลงโฆษณาข้อความในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสท์ และทางอินเตอร์เน็ต หลอกลวงประชาชนชาวต่างประเทศซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยชักชวนให้ประชาชนฝากเงินกับธนาคารเนชั่นแนล เวสต์มินสเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศอังกฤษ ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ธนาคารเนชั่นแนล เวสต์มินสเตอร์ จำกัด (มหาชน) (National Westminster Bank PLC) หรือเรียกชื่อย่อว่า แนท เวสต์แบงค์ (NAT WESTBANK) รับฝากเงินโดยมีข้อเสนอพิเศษให้ดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปี ความจริงแล้วธนาคารเนชั่นแนล เวสต์มินสเตอร์ จำกัด (มหาชน) มิได้ดำเนินธุรกิจให้ประชาชนฝากเงินในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด และจำเลยมิได้เป็นตัวแทนเกี่ยวข้องกับธนาคารดังกล่าวเช่นกัน จำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าวเพื่อวางแผนลวงให้ประชาชนเข้าใจว่า จำเลยชื่อ นายแนท เวสต์แบงค์ (NAT WESTBANK) ซึ่งพ้องรูปและเสียงกับชื่อย่อภาษาอังกฤษของธนาคารเนชั่นแนล เวสต์มินสเตอร์ จำกัด (มหาชน) แล้วจำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาห้วยขวาง เลขที่ 176-4-21067-8 ให้ใช้ชื่อบัญชีแนท เวสต์แบงค์ และจำเลยยังเช่าเปิดตู้ไปรษณีย์เลขที่ 91 กรุงเทพฯ 10321 ไว้เพื่อการหลอกลวงดังกล่าวด้วย และโดยการหลอกลวงดังกล่าวแล้ว เป็นเหตุให้ประชาชนและนายริชชาร์ด แอนโทนี่ เวนาเบล ผู้เสียหายสัญชาติอังกฤษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนที่ถูกหลอกลวง หลงเชื่อว่าเป็นความจริง ซื้อเช็คธนาคาร (แคชเชียร์เช็ค) ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารามาธิบดี สั่งจ่ายเงินจำนวน 2,000,000 บาท แล้วโอนเงินเข้าบัญชีแนท เวสต์แบงค์ เลขที่ 176-4-21067-8 ที่จำเลยเปิดไว้ให้จำเลยรับไปแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 264, 268, 91 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 2,000,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268 และ 343 วรรคแรก ความผิดตามมาตรา 264, 268 ลงโทษตามมาตรา 268 จำคุก 1 ปี ตามมาตรา 343 วรรคแรก จำคุก 4 ปี ลงโทษทุกกรรม ตามมาตรา 91 รวมจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 2,000,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก และมาตรา 343 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 342 (1) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 342 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ปรับ 8,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 4 ปี แต่ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ 3 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังโดยกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 เดือนต่อหนึ่งครั้ง ตลอดระยะเวลาที่คุมความประพฤติไว้นั้น กับให้จำเลยจัดทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรรวม 15 ชั่วโมง และให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้อีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ยอมชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้เป็นให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้อันเป็นการแก้ไขมาก แต่ศาลอุทธรณ์ยังลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท ย่อมห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ดังนี้ ที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยปลอมหนังสือเดินทางของประเทศอังกฤษ (สหราชอาณาจักร) และใช้หนังสือเดินทางปลอมดังกล่าว กับความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ไม่ใช่ความผิดกรรมเดียว เห็นว่า เจตนาของจำเลยในการปลอมหนังสือเดินทางของประเทศอังกฤษ (สหราชอาณาจักร) ก็เพื่ออ้างแสดงเป็นหลักฐานต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาห้วยขวาง ในการเปิดบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์เลขที่ 176-4-21067-8 ชื่อเจ้าของบัญชีนายแนท เวสต์แบงค์ (NAT WESTBANK) เพื่อหลอกลวงให้ผู้อื่นที่หลงเชื่อว่าหากโอนเงินเข้าฝากในบัญชีที่เปิดไว้ โดยใช้หนังสือเดินทางปลอมดังกล่าวแล้วก็จะได้รับข้อเสนอพิเศษให้ดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงโอนเงินจำนวน 2,000,000 บาท เข้าบัญชีสะสมทรัพย์ที่จำเลยเปิดไว้ให้จำเลยรับไป การกระทำของจำเลยต่าง ๆ ดังวินิจฉัยมาก็เพื่อเจตนาเพียงประการเดียวก็คือเพื่อฉ้อโกงเงินจากผู้เสียหายนั่นเอง จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share