คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 947/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสี่ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนตามลำพัง ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิด แม้จะฟ้องรวมกันมาก็ตามแต่ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเป็นราย ๆ ไป ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยที่ 2 กับโจทก์ทั้งสี่แต่ละคนไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 ขับรถคันเกิดเหตุมิใช่ด้วยการจ้างวานใช้สอยจากจำเลยที่ 2 เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาเช่นกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวรวมแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 620,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นเด็กที่นายอำนวย ปัญญาเล็ก ผู้คุมงานก่อสร้างของจำเลยที่ 2 รับเข้ามาฝึกงาน วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกโดยพลการไม่ได้กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด หากโจทก์เสียหายจริงก็ไม่เกินคนละ 15,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 20,000 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 60,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 25 กันยายน 2540) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ทั้งสี่ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนตามลำพัง ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิด แม้จะฟ้องรวมกันมาก็ตามแต่ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเป็นราย ๆ ไป เกี่ยวกับค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสี่ในส่วนค่ารักษาพยาบาล ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 20,000 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 60,000 บาท ส่วนค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเป็นเงินจำนวน 300,000 บาท ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูนายทวี รัตนเวียงผา บุตรผู้ตายของโจทก์ที่ 1 ศาลล่างทั้งสองมิได้กำหนดให้ โดยไม่ปรากฏว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงินจำนวนเท่าใด แต่เมื่อคิดค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตามสัดส่วนที่แต่ละคนควรจะได้รับแล้วพออนุมานได้ว่าค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ 1 ถึงที่ 3 ได้รับไม่เกินคนละ 200,000 บาท และเมื่อรวมค่ารักษาพยาบาลในส่วนของโจทก์ที่ 1 แล้ว ส่วนที่โจทก์ที่ 1 ได้รับก็ไม่เกิน 200,000 บาท เช่นกัน ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา สำหรับจำเลยที่ 2 กับโจทก์ทั้งสี่แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชอบจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 เข้ามาขับรถคันเกิดเหตุมิใช่ด้วยการจ้างวานใช้สอยจากจำเลยที่ 2 เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 2

Share