คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5142/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้สอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดในทางแพ่งจนทราบว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้รับผิดในทางแพ่งและรายงานข้อเท็จจริงให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้น และในวันที่ 8 มกราคม 2544 ธ. ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 8 รักษาราชการแทนรองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวง ได้ลงนามในหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ ซึ่งมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ก่อให้เกิดเหตุละเมิดคิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 31,373.75 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ กรณีจึงถือได้ว่า ธ. ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 8 รักษาราชการแทนรองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวงซึ่งในขณะนั้นอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนและเป็นผู้แสดงเจตนาอันเป็นความประสงค์ของโจทก์ ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยทั้งสองตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2544 ดังนั้น เมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยทั้งสองในวันที่ 6 มกราคม 2546 อันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี คดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 31,373.75 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างการพิจารณาจำเลยที่ 2 แถลงสละประเด็นอื่นและติดใจต่อสู้ประเด็นอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 31,373.75 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 และมาตรา 248 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 86-4583 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างไปตามถนนสามโคก-ปทุมธานี ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์เสียหลักพุ่งเข้าชนแผ่นราวกันอันตรายและราวสะพานคอนกรีตที่อยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์เสียหาย ต่อมาเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้สอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดในทางแพ่งจนทราบว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้รับผิดในทางแพ่งและรายงานข้อเท็จจริงให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้น ต่อมาวันที่ 8 มกราคม 2544 นายธีระ ตันสมพงษ์ ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 8 รักษาราชการแทนรองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวงได้ลงนามในหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้สอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดในทางแพ่งจนทราบว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้รับผิดในทางแพ่งและรายงานข้อเท็จจริงให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้น และในวันที่ 8 มกราคม 2544 นายธีระ ตันสมพงษ์ ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 8 รักษาราชการแทนรองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวงได้ลงนามในหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ก่อให้เกิดเหตุละเมิดคิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 31,373.75 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ กรณีจึงถือได้ว่านายธีระ ตันสมพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 8 รักษาราชการแทนรองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวง ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนและเป็นผู้แสดงเจตนาอันเป็นความประสงค์ของโจทก์ ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยทั้งสองตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2544 ดังนั้น เมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยทั้งสองในวันที่ 6 มกราคม 2546 อันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี คดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share