คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6335/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การมีคู่สัญญาตกลงกันไว้ว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ มิได้หมายความว่าจะตัดสิทธิคู่กรณีมิให้นำเสนอคดีต่อศาลเสียทีเดียว ดังนั้น การที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ตกลงกันให้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดต่อศาลแล้ว หากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าอีกฝ่ายไม่ปฏิบัติตามสัญญาก็ชอบที่จะให้การโต้แย้งหรือยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลทำการไต่สวนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 10 เมื่อจำเลยมิได้ให้การโต้แย้งหรือยื่นคำร้องขอต่อศาล ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้สละสิทธิเกี่ยวกับข้อสัญญาเรื่องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดระหว่างกันแล้ว โจทก์จึงชอบที่จะยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลได้
เงินประกันผลงานที่จำเลยหักจากค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้โจทก์ในแต่ละงวดเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยในฐานะคู่สัญญาประสงค์จะใช้เป็นหลักประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการก่อสร้าง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างค้างชำระที่โจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายใน 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2537 จำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ทำการก่อสร้างพื้นอาคารของอาคารชุด ซึ่งอยู่ภายในโครงการเปี่ยมรักเรสซิเด้นซ์ โดยจำเลยได้หักเงินประกันผลงานจากค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้โจทก์ไว้จำนวน 491,289 บาท โจทก์ก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้จำเลยแล้วแต่จำเลยไม่คืนเงินประกันดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 491,289 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ก่อสร้างพื้นอาคารไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการทำให้พื้นอาคารและผนังมีรอยร้าว ซึ่งจำเลยได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกให้มาซ่อมบริเวณที่ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวน 3,780,000 บาท จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินค่าประกันผลงานดังกล่าวให้แก่โจทก์ ทั้งฟ้องโจทก์ก็ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 491,289 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการต่อไปมีว่า การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยเป็นการชอบหรือไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ให้การไว้จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ซึ่งปัญหานี้จำเลยฎีกาในทำนองว่า สัญญาว่าจ้างงานเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 13 มีข้อตกลงว่า หากมีข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้างอันเกี่ยวกับสัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงให้นายกสมาคมสถาปนิกสยามแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นชี้ขาดข้อพิพาท การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยไม่ได้ดำเนินการตามข้อสัญญาดังกล่าวก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า แม้คู่สัญญาจะได้ตกลงกันไว้ว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าจะตัดสิทธิคู่กรณีมิให้นำเสนอคดีต่อศาลเสียทีเดียว ดังนั้น การที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ตกลงกันให้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดต่อศาลแล้ว หากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าอีกฝ่ายไม่ปฏิบัติตามสัญญาก็ชอบที่จะให้การโต้แย้งหรือยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันสืบพยานหรือก่อนมีคำพิพากษาในกรณีไม่มีการสืบพยานเพื่อให้ศาลได้ทำการไต่สวนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 10 แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะให้การโต้แย้งหรือยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลไต่สวนถึงเหตุที่โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยมิได้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการว่าชอบหรือไม่แต่อย่างใด ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้สละสิทธิเกี่ยวกับข้อสัญญาเรื่องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดระหว่างกันแล้ว โจทก์จึงชอบที่จะยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาในทำนองว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าจ้างที่จำเลยหักไว้จึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2543 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า แม้เงินประกันผลงานเป็นเงินที่จำเลยหักจากค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้โจทก์ในแต่ละงวดก็ตาม แต่เงินประกันผลงานที่หักไว้ดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยในฐานะคู่สัญญาประสงค์จะใช้เป็นหลักประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการก่อสร้าง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเงินค่าจ้างชำระที่โจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายใน 2 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ซึ่งสิทธิเรียกร้องในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 สำหรับวันที่โจทก์ส่งมอบงานให้จำเลยจนครบถ้วนบริบูรณ์นั้น แม้จะไม่ปรากฏชัดว่าเป็นวันใดแน่ แต่การส่งมอบงานย่อมต้องเกิดขึ้นภายหลังวันทำสัญญา ซึ่งเมื่อนับตั้งแต่วันทำสัญญาคือวันที่ 11 พฤษภาคม 2537 ถึงวันฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…..
อนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลชั้นต้นมีเพียง 491,289 บาท ซึ่งจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 12,282.50 แต่โจทก์เสียเกินมา จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นส่วนที่เสียเกินมา 878 แก่โจทก์”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นเฉพาะส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share