คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 334/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้โจทก์ชำระภาษี โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/21 (5) ประกอบมาตรา 30, 88/5 การที่โจทก์อุทธรณ์การประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้วแสดงว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาเห็นด้วยกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ซึ่งโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลได้อีกตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) การที่โจทก์มิได้ฟ้องว่าการประเมินไม่ชอบจึงฟังเป็นยุติว่าการประเมินชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่ได้ แม้คำขอท้ายฟ้องโจทก์จะขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยไม่ได้ฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นจำเลยด้วย แต่ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 5 บัญญัติว่า ภาษีอากรซึ่งบัญญัติไว้ในลักษณะนี้ให้อยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมสรรพากรซึ่งมูลกรณีเรื่องภาษีอากรในคดีนี้อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ และเมื่อศาลเห็นว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจไม่ให้บังคับตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เสียได้ไม่ว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะถูกฟ้องเป็นจำเลยหรือไม่ การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ย่อมรวมถึงการเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินด้วยในตัว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินด้วยจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบจึงฟังเป็นยุติว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายแล้ว และคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มีเพียงคำขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยโจทก์มิได้ฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นจำเลยด้วย จึงไม่อาจบังคับแก่จำเลยได้ การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องและให้เพิกถอนการประเมินจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้โจทก์ชำระภาษี โจทก์จะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/21 (5) ประกอบมาตรา 30 และ88/5 เมื่อโจทก์อุทธรณ์การประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมแสดงว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นด้วยกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ซึ่งโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลได้อีกตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (2) การที่โจทก์มิได้ฟ้องว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบจึงฟังเป็นยุติว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่ได้ส่วนคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยมิได้ฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นจำเลยด้วยนั้น ในเรื่องนี้ประมวลรัษฎากร มาตรา 5 บัญญัติว่า ภาษีอากรซึ่งบัญญัติไว้ในลักษณะนี้ให้อยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมสรรพากร เมื่อปรากฏว่ามูลกรณีเรื่องภาษีอากรในคดีนี้อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้และเมื่อศาลเห็นว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่จำเลยยกขึ้นอ้างเพื่อเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจไม่ให้บังคับตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เสียได้ไม่ว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะถูกฟ้องเป็นจำเลย หรือไม่ และการที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ย่อมรวมถึงการเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินด้วยในตัว ดังนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินด้วยจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความรวม 4,000 บาท

Share