แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ส. เป็นกรรมการซึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทจำเลยแล้วมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยได้ แม้ ส. ไม่ได้ประทับตราของจำเลยในหนังสือที่ ส. มีไปถึงโจทก์ แต่หนังสือดังกล่าวมีชื่อจำเลยที่ด้านบนของกระดาษ ถือว่า ส. เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยจึงเป็นการกระทำของจำเลย ข้อความในหนังสือที่ว่าขอความกรุณาจากท่านช่วยลดราคาลงให้อีกบ้างตามควร พร้อมทั้งขอผ่อนผันการชำระค่าอุปกรณ์เป็นรายเดือนต่อไป จึงเป็นการกระทำการใดๆ ของจำเลยอันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับตามสิทธิเรียกร้อง จึงเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2541 จำเลยได้สั่งซื้ออะไหล่ลิฟท์ บันไดเลื่อนยี่ห้อฮิตาชิจากโจทก์หลายรายการรวมเป็นเงิน 1,264,269 บาท ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระราคาให้แก่โจทก์เมื่อรับมอบอะไหล่ตามที่สั่งซื้อแล้ว ซึ่งโจทก์ได้ดำเนินการส่งมอบอะไหล่ลิฟท์ บันไดเลื่อนตามที่จำเลยสั่งซื้อทั้งหมดให้แก่จำเลยเรียบร้อยแล้ว หลังจากจำเลยได้รับสินค้าจากโจทก์แล้ว จำเลยขอคืนสินค้าบางส่วนและโจทก์ได้ลดยอดหนี้ให้จำเลยรวม 782,940.40 บาท คงเหลือหนี้ค่าอะไหล่ลิฟท์ บันไดเลื่อนที่จำเลยค้างชำระโจทก์เป็นเงิน 481,355.60 บาท ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2542 จำเลยได้ทำหนังสือรับสารสภาพหนี้ให้ไว้กับโจทก์ เมื่อครบกำหนดแล้วโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระราคาค่าอะไหล่ที่จำเลยค้างโจทก์อยู่แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 481,355.60 บาท นับตั้งแต่วันที่รับสภาพหนี้จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 1 ปี 10 เดือน คิดเป็นดอกเบี้ย 132,372.79 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสิ้น 613,728.39 บาท ขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 613,728.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 481,355.60 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์เป็นพ่อค้าได้ใช้สิทธิเรียกร้องค่าส่งมอบของหรือสินค้าจากจำเลย ซึ่งโจทก์ต้องใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวภายในเวลา 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) หนังสือที่โจทก์อ้างว่าเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยทำไว้ให้กับโจทก์นั้น หนังสือดังกล่าวเป็นเพียงหนังสือโต้แย้งการประพฤติผิดสัญญาของโจทก์ ไม่มีรายละเอียดการเป็นหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่ามีอยู่จริงหรือไม่เพียงใด อีกทั้งกรรมการผู้ไม่มีอำนาจของจำเลยทำขึ้นแต่ฝ่ายเดียวโดยจำเลยมิได้ประทับตราจึงไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย จำเลยไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 481,355.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2542 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 132,372.39 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยสั่งซื้ออะไหล่ลิฟท์หลายรายการจากโจทก์รวมเป็นเงิน 1,264,269 บาท โดยโจทก์ส่งมอบสินค้าให้จำเลยแล้วตามใบส่งสินค้าและใบกำกับภาษีเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาจำเลยขอลดราคาอะไหล่ตามหนังสือหมาย จ.5 และขอคืนอะไหล่บางส่วน โจทก์จึงลดราคาอะไหล่แล้วคงค้างชำระ 481,355.60 บาท แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า หนังสือหมาย จ.5 เป็นหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลย และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ ทั้งโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายธนิต ภู่ทอง ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความมีใจความว่า โจทก์ติดตั้งอะไหล่ที่จำเลยรับมอบโดยไม่ได้ส่งคืนแล้ว จำเลยมีนายสนอง เพ็ชรวิจิตร กรรมการของจำเลยเบิกความมีใจความว่า โจทก์ไม่ได้ติดตั้งบันไดเลื่อน 2 ชุดใช้การได้ นายสนองมีหนังสือหมาย จ.5 ถึงโจทก์เป็นเรื่องส่วนตัวของนายสนอง โดยไม่ได้ประทับตราของจำเลย เห็นว่า นายสนองเป็นกรรมการซึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยแล้วมีอำนาจกระทำการแทนจำเลย แม้นายสนองไม่ได้ประทับตราของจำเลย แต่หนังสือหมาย จ.5 มีชื่อของจำเลยที่ด้านบนกระดาษประกอบพฤติการณ์ของนายสนองจึงถือว่านายสนองเป็นตัวแทนเชิดของจำเลย จึงเป็นการกระทำของจำเลยตามหนังสือหมาย จ.5 มีข้อความตอนหนึ่งว่า “…ขอความกรุณาจากท่านช่วยลดราคาลงให้อีกบ้างตามควร พร้อมทั้งขอผ่อนผันการชำระค่าอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นรายเดือนต่อไป” จึงเป็นการกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่า ยอมรับตามสิทธิเรียกร้อง จึงเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลง เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ระบุในหนังสือหมาย จ.5 ถึงวันฟ้องไม่เกิน 2 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ส่วนหนังสือเรื่องบันไดเลื่อนยังใช้การไม่ได้นั้น จำเลยไม่ได้ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ดังนั้น จึงฟังได้ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ