คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5207/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับบาดเจ็บไม่ร้ายแรงมากถึงขนาดไม่สามารถจัดการเองได้ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) ประกอบมาตรา 3 (3) ที่สามีโจทก์จะจัดการแทนโจทก์ได้ ดังนั้น การที่สามีโจทก์ดำเนินคดีแพ่งแก่จำเลยในคดีก่อนจึงไม่ใช่เป็นการจัดการฟ้องคดีแทนโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ส่วนโจทก์จะมีผู้ใดช่วยเหลือรับผิดชอบอย่างใดเป็นเรื่องของโจทก์ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2544 เวลาประมาณ 13.30 นาฬิกา นายสมศักดิ์ ตระกลูพิทักษ์ สามีโจทก์ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ท-6223 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ และโจทก์นั่งด้านหน้าคู่กับสามีไปตามถนนสายเด่นชัย – อุตรดิตถ์ มุ่งหน้าไปทางอำเภอเด่นชัย เมื่อถึงตำบลห้วยไร่ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ พบรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-0290 อ่างทอง จอดอยู่ข้างหน้าในช่องเดินรถและทิศทางเดียวกันรถยนต์ของโจทก์ เพื่อให้ขบวนรถยนต์บรรทุกรถถังปืนใหญ่ของทหารซึ่งแล่นสวนทางผ่านไปก่อน สามีโจทก์จอดรถต่อท้ายรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวห่างพอสมควรและเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินไว้ หลังจากนั้นประมาณ 2 นาที จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 12-3938 กรุงเทพมหานคร ตามหลังมาในทิศทางเดียวกันกับรถยนต์ของโจทก์โดยไม่ชะลอความเร็วของรถและชนท้ายรถยนต์ของโจทก์ ทำให้รถยนต์ของโจทก์กระเด็นไปกระแทกกับรถยนต์โดยสารคันหน้า โจทก์ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัส ต่อมาศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 183,819 บาท ค่าจ้างคนเฝ้าไข้ก่อนฟ้องและในอนาคตเป็นเงิน 1,080,000 บาท ค่าจ้างแม่บ้านทำงานบ้านแทนโจทก์ก่อนฟ้องและในอนาคต เป็นเงิน 360,000 บาท โจทก์ไม่สามารถขับถ่ายปัสสาวะตามปกติได้ ต้องเสียค่าผ้าอ้อมก่อนฟ้องและในอนาคตเป็นเงิน 100,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาก่อนฟ้องและในอนาคตเป็นเงิน 48,000 บาท หลังเกิดเหตุโจทก์ต้องจ้างเหมารถเพื่อให้คนในรถเดินทางต่อไปและเดินทางกลับกรุงเทพมหานครรวมเป็นเงิน 8,500 บาท รถยนต์ของโจทก์เสียหายมาก โจทก์ขายซากรถได้เงิน 40,000 บาท ขาดราคารถเป็นเงิน 210,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 1,990,319 บาท จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,990,319 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุด้วยความเร็วปกติและด้วยความระมัดระวัง ขณะถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางโค้งบนเขา รถยนต์ของโจทก์จอดในช่องเดินรถไม่ชิดขอบถนนหรือไหล่ทาง ไม่เปิดสัญญาณไฟจอดหรือไฟฉุกเฉิน เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถตามหลังมาสุดวิสัยที่จะหักหลบหรือควบคุมรถได้ทัน ทำให้รถยนต์ทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน สามีโจทก์จึงเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อหรือมีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย ผลคำพิพากษาของคดีอาญาดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะมิได้วินิจฉัยคดีในส่วนของโจทก์ ก่อนโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1378/2545 ของศาลชั้นต้น ขอให้ร่วมกันวันผิดค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับบาดเจ็บและรถยนต์ของโจทก์เสียหาย และต่อมาสามีโจทก์ถอนฟ้องคดีดังกล่าวโดยไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองอีก ศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายตามฟ้องได้อีก โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี นับแต่รู้เหตุละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 แต่วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 12-3938 กรุงเทพมหานคร โดยพลการในเรื่องส่วนตัว เหตุรถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของสามีโจทก์ที่ขับรถด้วยความเร็วสูง พุ่งชนท้ายรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-0290 อ่างทอง ซึ่งจอดบริเวณไหล่ทางด้านซ้าย แล้วเสียหลักโดยส่วนท้ายล้ำเส้นกึ่งกลางถนน จำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถยนต์โดยสารตามมาได้หักพวกมาสัยหลบไปทางขวาแล้ว แต่ไม่พ้นทำให้รถยนต์ทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 704,819 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไป จนกว่าชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 678,619 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์เป็นเงิน 3,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารโดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์กระบะของโจทก์ได้รับความเสียหาย และโจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ศาลจังหวัดแพร่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำเลยที่ 1 ในคดีส่วนอาญาไปแล้ว ต่อมานายสมศักดิ์ ตระกูลพิทักษ์ สามีโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นด้วยมูลคดีเดียวกันกับคดีนี้ แล้วได้ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องด้วยเหตุผลว่าไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีดังกล่าวแล้ว เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1378/2545 หมายเลขแดงที่ 02272/2546 ตามสำเนาคำฟ้อง สำเนาคำบอกกล่าวและสำเนารายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเอกสารหมาย ล.9 และ ล.1 เห็นสมควรยกปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ขึ้นวินิจฉัยก่อน เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) ประกอบมาตรา 3 (3) สามีผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องผู้กระทำความผิดทำร้ายผู้เสียหายที่เป็นภริยาเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาแทนผู้เสียหายได้ เมื่อผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ซึ่งหมายความว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงแก่ความตายสิ้นสภาพบุคคลไปหรือมิฉะนั้นผู้เสียหายถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บอย่างร้ายแรงจนไม่อาจจะจัดการเพื่อคุ้มครองรักษาสิทธิของตนเองในขณะนั้นได้โดยสิ้นเชิง เช่น ผู้เสียหายได้รับอันตรายจนสูญสิ้นสติสัมปชัญญะไป สูญสิ้นความทรงจำ พูดจาไม่เข้าใจกัน ร่างกายไม่อาจเคลื่อนไหวได้ หรือจิตฟั่นเฟือน เป็นต้น ดังนั้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บอย่างร้ายแรงดังกล่าว กฎหมายจึงจำเป็นต้องบัญญัติให้บุคคลผู้ผูกพันใกล้ชิดที่มีหน้าที่ตามกฎหมายและศีลธรรมให้มีอำนาจจัดการแทนได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายก่อน ตามคำฟ้องในเอกสารหมาย ล.9 โจทก์ในคดีดังกล่าวได้บรรยายไว้ว่า นางพวงผกา ตระกูลพิทักษ์ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถเดินหรือช่วยเหลือตัวเองได้ต้องนั่งอยู่บนรถเข็นตลอด “เห็นว่า ในขณะที่มีการฟ้องคดีดังกล่าวอาการบาดเจ็บของโจทก์ที่ปรากฏตามคำฟ้องนั้นไม่ร้ายแรงมากถึงขนาดไม่สามารถจัดการเองได้ คงเป็นเพียงข้อจำกัดทำให้โจทก์ไม่สะดวกที่จะจัดการฟ้องคดีด้วยตนเองเท่านั้น และยังไม่เข้าอยู่ในหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) ที่สามีโจทก์จะจัดการแทนโจทก์ได้ ดังนั้น การที่สามีโจทก์ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองตามเอกสารหมาย ล.9 และ ล.1 จึงไม่ใช่เป็นการจัดการฟ้องคดีแทนโจทก์และไม่เกี่ยวกับโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพียงใด ที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์เบิกความว่า โจทก์ยืนได้แสดงว่าอาการบาดเจ็บของโจทก์ดีขึ้นแล้วจึงมีค่าใช้จ่ายในการรักษาดูแลและค่าจ้างบุคคลดูแลและทำงานแทนโจทก์น้อยลงนั้น เห็นว่า โจทก์มาเบิกความภายหลังเกิดเหตุรถยนต์ชนกันมานานถึง 3 ปี และอาการบาดเจ็บของโจทก์ดีขึ้นกว่าเดิมเพียงยืนได้ อันเป็นอาการที่ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ยังต้องใช้เวลารักษาพยาบาลอีกนาน และไม่ทราบว่าจะหายเมื่อใด ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้มานั้นจึงเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่านายสมศักดิ์สามีโจทก์เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ส่วนที่โจทก์จะมีผู้ใดช่วยเหลือรับผิดชอบอย่างใดก็เป็นเรื่องของโจทก์ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์แต่อย่างใด”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share